วาระการพิจารณาพรรคการเมืองที่กลุ่มเอกภาพจะเข้าไปสังกัด ในที่ประชุมได้เสนอชื่อพรรคการเมืองจำนวน 4 พรรค ได้แก่ พรรคก้าวหน้า พรรคประชาธิปัตย์ พรรคกิจประชาคม และ พรรคชาติไทยเพื่อให้ในที่ประชุมลงคะแนนเลือกพรรคที่จะให้กลุ่มเอกภาพเข้าไปสังกัด แต่ก่อนที่จะให้ลงคะแนนเลือก ประธานในที่ประชุมเปิดโอกาสให้สมาชิกได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง ยกเหตุผลอ้างอิงข้อดีและเสียของแต่ละพรรคให้ในที่ประชุมทราบ เมื่อในที่ประชุมอภิปรายจนเป็นที่พอใจของสมาชิกแล้ว ประธานได้สั่งปิดการอภิปราย แล้วขอมติในที่ประชุม
ผลการลงมติแต่ละพรรคได้ลำดับคะแนนดังนี้
พรรคก้าวหน้า ได้ลำดับที่หนึ่ง ด้วยคะแนน 25 เสียง
พรรคกิจประชาคม ได่้ลำดับที่สอง ด้วยคะแนน 24 เสียง
พรรคชาติไทย ได้ลำดับที่สาม ด้วยคะแนน 15 เสียง
พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลำดับที่สี่ ด้วยคเแนน 14 เสียง
ในที่ประชุมตกลงให้ส่งตัวแทนของแต่ละจังหวัดไปติดต่อกับพรรคก้าวหน้าเป็นอันดับแรก หากพรรคก้าวหน้าไม่รับตกลงในเงื่อนไขที่กลุ่มเอกภาพเสนอ ให้ไปติดต่อพรรคกิจประชาคม หากพรรคกิจประชาคมไม่รับข้อตกลงในเงื่อนไข ให้ไปติดต่อพรรคชาติไทย และหากพรรคชาติไทยไม่รับข้อตกลงในเงื่อนไข ให้ไปติดต่อพรรคประชาธิปัตย์ โดยให้ไปติดต่อพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนตามลำดับ
สำหรับตัวแทนกลุ่มเอกภาพที่จะส่งไปติดต่อเจรจากับพรรคการเมืองตามลำดับที่ได้คะแนนนั้น ในที่ประชุมมีมติให้บุคคลต่อไปนี้เป็นตัวแทนของกลุ่มเอกภาพ
จังหวัดปัตตานี นายเด่น โต๊ะมีนา
จังหวัดนราธิวาส นายเสนีย์ มะดากะกุล กับ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์
จังหวัดยะลา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา
จังหวัดสตูล นายจิรายุส เนาวเกตุ
โดยตัวแทนตามรายนามดังกล่าวกำหนดนัดพบกันที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพมหานคร ในวันพฤหัสที่ 8 พฤษภาคม 2529
สำหรับข้อเสนอของกลุ่มเอกภาพที่มีต่อพรรคการเมืองที่จะเข้าไปสังกัดมีดังนี้
ชื่อของกลุ่ม “กลุ่มเอกภาพ”
วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกลุ่ม
1. เพื่อความเป็นเอกภาพของพี่น้องมุสลิมในประเทศไทย
2. เพื่อพิทักษ์สิทธิและผลประโยชน์ของพี่น้องมุสลิมทั่วประเทศ
3. เพื่อพัฒนาสังคมมุสลิมในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษาและสังคม
4. เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกทางด้านการเมืองในแนวทางที่ถูกต้อง
5. เพื่อเผยแพร่ “ระบอบอิสลาม” ให้พี่น้องร่วมชาติได้เข้าใจอย่างถูกต้อง
6. เพื่อร่วมกันพัฒนาระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ขอบเขตการดำเนินงานของกลุ่มเอกภาพ โดยกำหนดขอบเขตในการดำเนินงานเพื่อบรรลุถึงวัตถุประสงค์เป็นขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1. ดำเนินงานเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ขั้นตอนที่ 2. ดำเนินงานในจังหวัดภาคใต้ตอนบน
ขั้นตอนที่ 3. ดำเนินงานในภาคกลาง
ขั้นตอนที่ 4. ดำเนินงานในภาคเหนือและภาคอีลาน
นโยบายของกลุ่มเอกภาพ
นโยบายด้านเศรษฐกิจ
พรรคต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะที่เป็นเศรษฐกิจหลักของประชาชนอย่างจริงจัง เช่น
ข้อ 1. พรรคต้องส่งเสริมพยุงราคาผลิตผลด้านการเกษตรที่เป็นสินค้าหลัก เพื่อยกฐานะความเป็นอยู่ให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพในบ้านเกิดได้ ไม่ต้องดิ้นรนไปหางานทำต่างท้องที่หรือต่างประเทศ
ข้อ 2. พรรคต้องเร่งรัดและเพิ่มงบประมาณด้านการชลประทานให้ทั่วถึง โดยเฉพาะชลประทานในบางจังหวัดที่ยังไม่แล้วเสร็จ
ข้อ 3. พรรคต้องส่งเสริมอาชีพการประมง โดยเฉพาะเรือประมงขนาดเล็กให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิผลจริงจัง ในการนี้พรรคจะต้องให้กรมเจ้าท่าจัดเตรียมเรือขุดสันดอนปากน้ำทุกแห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ชาวประมงสามารถออกเรือประมงไปประกอบอาชีพได้ทุกฤดูกาล
ข้อ 4. พรรคต้องสนับสนุนการจัดตั้งสหกรณ์ตามระบอบอิสลาม (ไม่มีดอกเบี้ย) ที่กลุ่มกำลังดำเนินการอยู่ในจังหวัดปัตตานีเป็นแห่งแรกและจะขยายไปสู่ทุกจังหวัด เพื่อเป็นฐานในการจัดตั้งธนาคารอิสลามในอนาคต
ข้อ 5. พรรคจะต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงจัง เพื่อขจัดปัญหาคนว่างงาน
นโยบายด้านการศึกษา การศาสนาและสังคม
ข้อ 1. พรรคจะต้องประกาศนโยบายที่เด่นชัดเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการศาสนาของชาวไทยมุสลิมให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 25 อย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อให้สอดคล้งงกับหลักรัฐประศาสโนบายซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าวางไว้สำหรับปฏิบัติราชการในมณฑลปัตตานี พุทธศักราช 2466 และหลักการปกครองของกระทรวงมหาดไทย ที่ใช้ในการปฐมนิเทศข้าราชการที่จะออกไปปฏิบัติราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเคร่งครัด
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
มาตรา 4 ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิดหรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน
มาตรา 5 บทบัญญัติแห่งกฎหมายใด มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับไม่ได้
มาตรา 25 บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตนเมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศิลธรรมอันดีของประชาชน
ในการใช้เสรีภาพดังกล่าวในวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆอันเป็นการรอนสิทธิ์ หรือประโยชน์อันควรมีควรได้เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือแตกต่างจากบุคคลอื่น
หลักรัฐประศาสโนบาย
ข้อ 1 ระเบียบการหรือวิธีปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทางให้พลเมืองรู้สึกเห็นว่า เป็นการเบียดเบียนกดขี่ศาสนาอิสลาม ต้องยกเลิกหรือแก้ไขเสียทันที การใดที่จัดขึ้นต้องอย่าให้ขัดกับลัทธินิยมของอิสลามหรือยิ่งทำให้เห็นเป็นการสนับสนุนศาสนามะหะหมัดได้ดียิ่ง (ก)
ฯลฯ
การอธิบายประกอบหัวข้อ
(ก) การที่จะรู้ว่าเป็นปรปักษ์ต่อศาสนาหรือลัทธินิยมเพียงไร จำเป็นแก่ผู้รับราชการในท้องที่เช่นนี้จะต้องศึกษาหาความรู้ด้วยความเอาใจใส่ให้มาก ฯลฯ
หลักการปกครองของกระทรวงมหาดไทย
ข้อ 4. โดยที่ชาวไทยอิสลามเป็นผู้ถือข้อบังคับของศาสนาเป็นกฎหมายสำหรับปฏิบัติโดยเคร่งครัดและถือเป็นขนบธรรมเนียมไปในตัว ฉะนั้นในการบริหารงานของเจ้าหน้าที่ควรจะได้ปฏิบัติการโดยอนุโลมให้เข้ากับขนบธรรมเนียมประเพณีและลัทธิศาสนาของชาวมุสลิม กล่าวคือ
……..ฯลฯ………
ง. ข้าราชการทุกคนไม่ควรจะไปตั้งข้อรังเกียจหรือบีบบังคับในเรื่องการแต่งกายของชาวไทยมุสลิม ควรจะได้อนุโลมให้เขาแต่งกายได้ตามประเพณีนิยม เพราะการแต่งกายเป็นข้อบังคับและขนบธรรมเนียมที่บัญญัติไว้ในลัทธิศาสนาอิสลามด้วย
ข้อ 2. เพื่ออนุวรรตตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หลักรัฐประศาสโนบาย และหลักการปกครองของกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวในข้อ 1 พรรคจะต้องแก้ไขระเบียบ ข้อบังคับ กฎกระทรวง และกฎหมายทุกฉบับที่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งถือได้ว่าขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เช่น
2.1 ระเบียบว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา และข้าราชการ ทุกกระทรวงทบวงกรม โดยอนุโลมให้แต่งกายตามหลักศาสนา(ไม่ใช่ประเพณี)
ชาวไทยมุสลิมที่แต่งกายตามหลักการของอิสลามหรือแต่งกายตามประเพณีนิยม ผู้ชายไม่ต้องถอดผ้าโพกศรีษะหรือหมวกขาว(กะปีเย๊าะ) ผู้หญิงไม่ต้องถอดผ้าคลุมศรีษะ เมื่อเข้าไปเบิกความในศาล
2.2 แก้ไข พ.ร.บ.บัตรประชาชน ให้ระบุศาสนาในบัตรประชาชน เพื่อป้องกันคนไทยมุสลิมที่มีชื่อในบัตรประชาชนไม่ตรงตามพระคัมภีร์อัลกุรอานตายในต่างท้องที่ จะได้เป็นหลักประกันว่าศพของเขาจะต้องได้รับการปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลาม
2.3 แก้ไข พ.ร.บ. ชื่อบุคคล ให้เขียนหรือสะกดชื่อคนไทยมุสลิมทั่วประเทศ ให้ตรงกับพระคัมภีร์อัลกุรอาน เพื่อขจัดปัญหาคนๆเดียวสะกดชื่อหลายอย่างกลายเป็นบุคคลคนละคนกัน จะต้องวิ่งหาผู้ปกครองท้่องที่ออกหนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลเดียวกัน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากในทางปฏิบัติ
2.4 ชื่อหมู่บ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้คงชื่อเดิมเหมือนทุ่งกุลาร้องไห้
2.5 พรรคควรพิจารณาวันศุกร์เป็นวันหยุดราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะชนส่วนใหญ่ในพื้นที่นับถือศาสนาอิสลาม แม้แต่ในยุโรปบางประเทศ วันหยุดราชการในวันสำคัญๆไม่เหมือนกันทุกประเทศ
2.6 จัดตั้งสถานศึกษา “ อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย “ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. 2488 หรือจะย้ายอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทยจากกรุงเทพฯไปจัดตั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวโดยครบถ้วน
อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยของจังหวัดนราธิวาส, ปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ และปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์