รอง เลขาธิการ ศอ.บต. ร่วมเสวนา วันนี้..และอนาคตชายแดนใต้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ เมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

29 กันยายน 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ รองเลขาธิการ ศอ.บต. ร่วมเสวนาในหัวข้อ วันนี้..และอนาคตชายแดนใต้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ เมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยเสวนาผ่านระบบออนไลน์ ZOOM ร่วมกับนายจำนัล เหมือนดำ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตงนายณัฐนนท์ พงษ์ธัญญะวิริยะ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน นายภูวสิษฏ์ สุขใจ บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส ซึ่งมีนายสมชาย สามารถ บรรณาธิการ ศูนย์ข่าวภาคใต้เครือเนชั่น ร่วมเสวนา

รองศาสตราจารย์ ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ ได้กล่าวขณะร่วมเสวนาว่า การพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายภาคใต้ให้เกิดเป็นรูปธรรม ต้องสร้างความเข้าใจกับสื่อมวลชนในพื้นที่ทั้งภาครัฐ สื่อเอกชน และสื่อท้องถิ่น ให้ไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงแนวทางในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน โดยนำเอกลักษณ์และวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของพื้นที่มานำเสนอให้เกิดความน่าสนใจ ซึ่งเชื่อว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีสิ่งดีๆให้กับพี่น้องประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ได้รับรู้

โดยรองเลขาธิการ ศอ.บต. ได้กล่าวถึงเมืองต้นแบบที่ 4 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ด้วยว่ากรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาหลักๆ ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่ได้ประกาศในปี 2558 และพื้นที่โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่มีมติตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2559 ที่ผ่านมา ความก้าวหน้าของการบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ 3 เมืองหลัก ได้แก่ การพัฒนาเกษตรฐานรากสู่ภาคเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมทั้ง 3 จังหวัด มีพื้นที่ที่ใช้ในการแปรรูป อยู่ที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี สามารถร่วมในการลงทุน และพัฒนาระหว่างไทยกับมาเลเซียได้ในอนาคต ภาคการท่องเที่ยวครอบคลุม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมไปถึงสงขลาและสตูล โดยกำหนดเมืองเบตงเป็นเมืองต้นแบบนำร่องมีการพัฒนาการท่องเที่ยว และสุดท้ายได้ชี้แจงถึงความก้าวหน้าเมืองการค้าชายแดนระหว่างประเทศที่อำเภอสุไหงโก-ลก เป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างไทยและมาเลเซีย ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมของไทย ได้มองภาพใหญ่ของการพัฒนาชายแดนใต้ที่เชื่อมโยงกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาความร่วมมือร่วมกันอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามสำหรับการเสวนาครั้งนี้ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งให้ประชาชนในและนอกพื้นที่ต่างเข้าใจและรับทราบทิศทางการพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาในวันนี้และอนาคต