“พลเอก ประวิตร” นำประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะนัดแรก ปี 64 พร้อมมอบหมาย ‘ดีป้า’ เร่งหากลไกขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม
5 พฤศจิกายน 2564, กรุงเทพมหานคร – “พลเอก ประวิตร” นำประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะนัดแรก ประจำปี 2564 เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย การพิจารณามอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทยแก่ 15 เมือง ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนกว่า 16 ล้านคน เกิดโอกาสการลงทุนภาคเอกชนต่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่กว่า 40,000 ล้านบาท อีกทั้งเห็นชอบ (ร่าง) แผนงานบูรณาการเมืองอัจฉริยะประเทศไทย พ.ศ. 2566-2670 พร้อมมอบหมาย ดีป้า เร่งดำเนินงานร่วมกับสำนักงบประมาณ และสภาพัฒน์ ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้เกิดการดำเนินงานตามแผนงานในปีงบ ประมาณ พ.ศ. 2566 และหากลไกขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม วอนทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศ เพราะเป็นวาระแห่งชาติ
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ครั้งที่ 1/2564 โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และผู้แทนจากสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงบประมาณ สำนัก งานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ฯลฯ เข้าร่วมประชุมกันโดยพร้อมเพรียง ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล และผ่านระบบออนไลน์
โดยที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะที่มี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นประธาน ประกอบด้วยการพิจารณามอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทยแก่ 15 ผู้พัฒนาเมืองที่ได้รับประกาศรับรองเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะ ได้แก่ 1) สามย่านสมาร์ทซิตี้ 2) ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ 3) เมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ 4) แม่เมาะเมืองอัจฉริยะ 5) ภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ 6) เมืองอัจฉริยะย่านพระราม 4 7) โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่โดยรอบคลองผดุงกรุงเกษม 8) เมืองอัจฉริยะมักกะสันเพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน 9) การพัฒนาเมืองเก่าอย่างชาญฉลาด 10) เทศบาลนครเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมืองอัจฉริยะ ความเป็นเลิศที่ยั่งยืนสู่ชุมชน 11) เมืองศรีตรัง 12) ยะลาเมืองอัจฉริยะเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน 13) ฉะเชิงเทรา เมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว น่าลงทุน 14) แสนสุขสมาร์ทซิตี้ และ 15) โครงการนครสวรรค์สมาร์ทซิตี้ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนสำหรับกิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะและกิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะจากบีโอไอ โดย 15 เมืองอัจฉริยะประเทศไทยจะช่วยให้เกิดโอกาสการลงทุนเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่จากภาคเอกชน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 40,000 ล้านบาท และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนไทยได้มากกว่า 16 ล้านคน
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานพื้นที่นำร่อง ประกอบด้วย พื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธินกระทรวงคมนาคม กรุงเทพฯ โดย สนข. พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี โดย สนพ. จังหวัดภูเก็ต และ Thailand Digital Valley จังหวัดชลบุรี โดย ดีป้า การประกาศเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ 50 พื้นที่ทั่วประเทศ และการจัดกิจกรรมสานต่อความร่วมมือระดับภูมิภาคผ่านเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network: ASCN) ผลการจัดงาน Thailand Smart City Week 2020 การจัดหลักสูตร The Fundamentals of Smart City รวมถึงการคัดเลือก 30 ตัวแทนคนรุ่นใหม่จากทั่วประเทศเป็นนักส่งเสริมดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ (The Smart City Ambassadors)
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนงานบูรณาการเมืองอัจฉริยะประเทศไทย พ.ศ. 2566-2670 ที่ ดีป้า เสนอเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนด้านงบประมาณสำหรับองค์กรปกครอง ทั้งระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงแผนงานโครงการและบูรณาการด้านงบประมาณสำหรับโครงการเมืองอัจฉริยะ ลดความซ้ำซ้อน และทำให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ พลเอก ประวิตร ได้มอบหมายให้ ดีป้า นำแผนงานบูรณาการเมืองอัจฉริยะประเทศไทยทำงานร่วมกับสำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในแผนยุทธศาสตร์ชาติโดยเร่งด่วน เพื่อให้เกิดการดำเนินงานตามแผนงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พร้อมหากลไกขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม เร่งพัฒนากำลังคนอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการพัฒนาเมืองด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถดำเนินการได้สำเร็จตามเป้าหมาย และนำไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ในที่สุด
“ขอสั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคัดเลือกโครงการที่โดดเด่นจาก 15 เมืองอัจฉริยะประเทศไทย เพื่อนำเสนอบนเวทีอาเซียนให้รับทราบ อีกทั้งจะเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่น ๆ ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดของตนเองสู่เมืองอัจฉริยะน่าอยู่ต่อไป สุดท้ายขอให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมขับเคลื่อนและบริหารการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย ซึ่งจะอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ทุกกระทรวงต้องช่วยกันผลักดัน เพราะเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะ กระทรวงมหาดไทย ต้องร่วมมือกับ กระทรวงดิจิทัลฯ ในการพัฒนากำลังคนและโครงสร้างพื้นที่ให้มีความพร้อมรับการพัฒนาประเทศตามแนวทางขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ” พลเอก ประวิตร กล่าว