ศอ.บต. ร่วมกับบัณฑิตอาสา และ ทุกภาคส่วน จับมือลงพื้นที่ เคาะประตูบ้าน กระตุ้นการฉีดวัคซีนโควิด-19

ศอ.บต. ร่วมกับบัณฑิตอาสา และ ทุกภาคส่วน จับมือลงพื้นที่ เคาะประตูบ้าน กระตุ้นการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ในขณะที่ชาวบ้านปลักบ่อเข้ารับการฉีดวัคซีนน้อย เนื่องจากยังกังวลเรื่องผลข้างเคียง

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ที่ บ้านปลักบ่อ ต.สะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ทีมข่าวส่วนงานประชาสัมพันธ์ ศอ.บต. ร่วมกับบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ปกครองร่วมจัดกิจกรรม การประชาสัมพันธ์เชิงรุกเคาะประตูบ้านสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการรับวัคซีนโควิด – 19 ให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นนโยบายการดำเนินงานของ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ตามการดำเนินงานของ ศบค.ส่วนหน้า นอกจากนี้ยังมีทีมวิทยุ ศอ.บต. สัญจร ลงพื้นที่จัดรายการวิทยุเพื่อรายงานบรรยากาศสดๆ โดยออกอากาศทางสถานีวิทยุ 13 สถานี ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย

นายนันท์ธนวรรธ สมประสงค์ ปลัดอำเภอสะบ้าย้อย กล่าวว่า พื้นที่ อ.สะบ้าย้อย ปัจจุบันทั้งอำเภอ ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 อยู่ที่ ร้อยละ 67.07 ที่ผ่านมาได้ร่วมกับทางโรงพยาบาลสะบ้าย้อยและสาธารณสุขอำเภอสะบ้าย้อย ลงพื้นที่เข้าไปให้บริการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงที่สุด รวมทั้งจัดมหกรรมฉีดวัคซีน ลุ้นโชคลุ้นรางวัล โดยรางวัลที่มอบสร้อยคอทองคำ 1 สลึง สำหรับผู้ที่รับวัคซีนเข็มแรก ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นที่น่าพอใจ พี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ด้าน นางสาวรอบีย๊ะ สลีมิง บัณฑิตอาสา ม.2 ต.ทุ่งพอ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา กล่าวว่า บัณฑิตอาสา ร่วมกับ อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่เคาะประตูบ้านเชิญชวนให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง บางคนที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องก็รีบไปฉีดทันที บางบ้านก็ยังไม่เปิดใจไปฉีด ในเรื่องของวัคซีนมีให้บริการครบตามจำนวนประชากร ไม่มีขาด โดยจะให้บริการที่โรงพยาบาลสะบ้าย้อยเป็นหลัก รวมทั้งเวียนให้บริการตามโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่ยังไม่ฉีดให้มาฉีดกันเยอะๆเพื่อสร้าง ภูมิคุ้มกันหมู่ในพื้นที่

ในขณะที่ประชาชนพื้นที่บ้านปลักบ่อส่วนใหญ่ยังมีผู้ฉีดวัคซีนน้อย โดยผู้ที่ยังไม่ฉีดยังมีความกังวล 2 ประเด็น คือ เรื่องของความเชื่อว่าการรับวัคซีนเข้าไปเป็นสิ่งแปลกปลอม รวมทั้งกังวลเรื่องผลข้างเคียงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม การประชาสัมพันธ์เชิงรุกด้านการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการรับวัคซีนโควิด – 19 ให้กับประชาชนในพื้นที่ ได้ดำเนินการไปแล้วในพื้นที่ อ.รามัน และ อ.เมือง ของ จ.ยะลา อ.มายอ จ.ปัตตานี โดยทุกพื้นที่ที่ดำเนินการเป็นพื้นที่ที่ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนน้อยกว่า 50% ศอ.บต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจึงได้ลงพื้นที่เชิงรุกเพื่อสร้างการรับรู้ในเรื่องความสำคัญของการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด