กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งดันผู้ประกอบการไทยบุกตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) กลุ่มประเทศที่มีอัตราการเติบโตของ GDP สูงขึ้นร้อยละ 3-5 ซึ่งสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว
ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมจากทั่วโลก เนื่องจากสินค้าดีมีคุณภาพ แต่ผู้ประกอบการไทยยังคงยึดติดกับประเทศคู่ค้าเดิม ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหญ่ อาทิ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ ขณะที่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) อย่าง อินเดีย อิหร่าน แอฟริกาใต้ ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย โดยพิจารณาจากอัตราการเติบโตของ GDP ในช่วง 5 ปีนี้ (2556-2560) สูงขึ้นร้อยละ 3-5 และได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกไม่มากนัก เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศมีความเข้มแข็งทางการรวมกลุ่มในภูมิภาคเดียวกันและมีกำลังซื้อสูง หากได้คู่ค้าจากหนึ่งประเทศในกลุ่มนี้ก็มีโอกาสขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆในกลุ่มเดียวกันได้ ประกอบกับประเทศเหล่านี้ยังขาดแคลนวัตถุดิบ และขาดแรงงานที่มีทักษะฝีมือ ขณะที่ความต้องการสินค้ายังมีอยู่มากส่งผลให้ต้องการนำเข้าสินค้าสูง
“กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เห็นโอกาสในการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคอุตสาหกรรม SMEs ไทย โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาคการผลิตตื่นตัวและหันมาสนใจผลิตสินค้าตอบโจทย์ตลาดเกิดใหม่ ซึ่งมี 3กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสในกลุ่มตลาดดังกล่าวได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบ ซึ่ง 3 อุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นซูเปอร์คลัสเตอร์ (Super Cluster) ตาม ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ด้านการค้าการลงทุน เพื่อให้ภาคการผลิตของไทยสามารถแข่งขันได้ โดยยกเว้นภาษีสูงสุด15 ปี ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลและให้การ ส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยโดยเฉพาะภาค SMEs ในกลุ่มซูเปอร์คลัสเตอร์ดังกล่าว ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Cluster) กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป โครงการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ โดยจะเน้นการพัฒนาครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิต การเชื่อมโยงกับผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูป สถาบันวิจัย และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อสร้างกลุ่มคลัสเตอร์ให้แข็งแรงขึ้น ตลอดจนการส่งเสริมในด้านการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต การตลาด เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อการลดต้นทุนการผลิต การสร้างโอกาสในการขยายตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ไทยได้อย่างมีศักยภาพและยั่งยืน” ดร.สมชาย กล่าว
ดร.สมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับตลาดเกิดใหม่ที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการไทย ได้แก่แอฟริกาใต้ ซึ่งมีจำนวนประชากรกว่า 50 ล้านคน และเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของโลกไม่มากนัก อีกทั้งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 23 ของไทยในระดับโลกยิ่งไปกว่านั้นแอฟริกาใต้ยังเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มบริคส์ (BRICS) (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้) ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และยังเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคแอฟริกาซึ่งมีประชากรรวมกว่า พันล้านคนนอกจากนี้ยังมีภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียใต้ที่มีความน่าสนใจ ไม่น้อยในแง่ของการเข้าไปเปิดตลาด อาทิ อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออี อิหร่าน อียิปต์ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นหนึ่งในสมาชิกโอเปก ที่มีรายได้หลักมาจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ขณะที่ศักยภาพในการผลิตเพื่อการบริโภคยังไม่เพียงพอ จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะขยายตลาดเพื่อป้อนเข้าสู่ประเทศเหล่านี้มากขึ้น
“ที่ผ่านมาจากเหตุการณ์ที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทั้งในด้านสภาวะค่าเงินที่แข็งและอ่อนตัว ส่งผลให้ GDP ของไทยเติบโตเพียงร้อยละ 2-3 และส่งผลต่อการส่งออกที่ขยายตัวลดลงโดยในช่วงไตรมาสที่ 1-3 (เดือนมกราคม-กันยายน) ที่ผ่านมามีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 161,563 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.98 (ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร) ทั้งนี้ ในมูลค่าการส่งออกดังกล่าวประเทศไทยมีการส่งออกไปยังประเทศมหาอำนาจทาง เศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดหลักรวมกว่า 48,182 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 29.8 ของการส่งออกของไทยทั้งหมด ในขณะที่ส่งออกไปประเทศตลาดเกิดใหม่เพียงร้อยละ 19 หรือประมาณ 30,623 ล้านเหรียญสหรัฐฯ” ดร.สมชาย กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนายธงชัย อุพันวัน กรรมการผู้จัดการ บริษัทไฟว์สตาร์ ออโต้พาร์ท จำกัด (โชว์จุ่งกรุ๊ป) ผู้ผลิต จำหน่าย และบริการเกี่ยวกับช่วงล่างลูกหมากรถยนต์ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ตองสาม” (333) และ ซีเจ จีเนี่ยนพาร์ท (CJ) กล่าวว่า กลุ่มลูกค้าหลักของไฟว์สตาร์มีทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นสัดส่วนร้อยละ 80และ 20 ตามลำดับ โดยต่างประเทศจะเน้นภูมิภาคเอเชียใต้ แอฟริกา และตะวันออกกลาง โดยเฉพาะประเทศอียิปต์ที่มีสัดส่วนส่งออกสูงสุดถึงร้อยละ 70 เนื่องจากตลาดอียิปต์นิยมเปลี่ยนอะไหล่เอง เพราะรถส่วนมากที่ใช้เป็นรถเก่าไม่นิยมนำเข้ารถทั้งคัน และจากการสอบถามลูกค้าอียิปต์มีความมั่นใจสินค้าไทยที่คุณภาพมาตรฐานสูงโดยวางแผนจะผลักดันยอดการส่งออกให้มากขึ้นเป็นร้อยละ 50 ภายใน 5 ปี รวมถึงจะมุ่งไปที่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่(Emerging markets) ร้อยละ 30 เนื่องจากหลังจากที่เริ่มไปทำตลาดได้ระยะหนึ่งก็มองเห็นช่องว่างในการเข้าไป ทำการตลาดในกลุ่มประเทศดังกล่าวที่ยังมีคู่แข่งน้อย ขณะที่ความต้องการของผลิตภัณฑ์ยังคงมีมากได้โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์อะไหล่ ทดแทนในอุตสาหกรรมยานยนต์ สาเหตุจากภูมิประเทศของกลุ่มประเทศเหล่านี้ส่วนมากสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่าง ถนนยังไม่พัฒนาเท่าที่ควรทำให้ส่งผลต่ออายุการใช้งานของรถยนต์ จึงเป็นโอกาสดีที่จะขยายตลาดเพื่อครองส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มประเทศดังกล่าว ให้มากขึ้น
นายธงชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท ได้แก่ ลูกหมากคันชัก ปีกนก กล้องยา คันส่ง ลูกสูบดิสเบรค และอื่นๆอีกกว่า 3,000 รายการซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้ทั่วประเทศ เนื่องจากบริษัทมีการทดสอบชิ้นส่วนอะไหล่ทุกชิ้นอย่างเข้มงวดทั้งก่อนและหลังการผลิต และมีการติดตามผลการใช้งานจริง อย่างไรก็ตามไฟว์สตาร์ไม่เคยหยุดที่จะพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยมีโอกาสเข้าร่วมโครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Cluster) ชิ้นส่วนยานยนต์กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ก็ได้พบกับผู้ประกอบการรายอื่นๆที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งในแง่ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพสูง เพื่อรองรับความต้องการของทางตลาดชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเติบโตอย่างยั่งยืน คือการที่เรารวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ ทำให้ได้พันธมิตรทางธุรกิจ ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนได้ฐานลูกค้ามากขึ้นและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครอบคลุม