กัณวีร์ สืบแสง : มนุษยธรรมท่ามกลางสงคราม

อาจเป็นสิ่งน่าขันสำหรับหลายคนเวลาเราพูดเรื่องมนุษยธรรมในช่วงการมีสงครามระหว่างฝ่ายที่ทะเลาะกัน !!

ลองคิดตามนะครับทุกท่าน เมื่อคนสองคนผิดหมางใจจนกระทั่งต้องใช้กำลังเข้าปะทะห้ำหั่นให้รู้แพ้รู้ชนะ ทุกท่านคิดว่าทั้งสองฝ่ายจะมานั่งเฝ้าระวังมั้ยว่าการใช้กำลังของพวกเค้าจะกระทบต่อระบบหายใจที่เปราะบางของอีกฝ่าย ?? หากเปรียบเป็นกีฬาชกมวยสากลสมัครเล่น ทั้งแฮดการ์ด ทั้งกระจับ และฟันยางต้องมีการใส่ป้องกันอวัยวะที่เปราะบางไว้ แต่ถึงอย่างไรโดนชกตรงไหนแบบจังๆ ก็ทั้งจุกและเจ็บ แถมมีผลข้างเคียงอยู่เสมอ !!

การอุปมาอุปมัยกับกีฬา คือ อยากให้ทุกท่านได้มองตามว่าในการแข่งขันกีฬานั้น ทุกส่วนที่เปราะบางต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง ทั้งทางกฏ กติกา มารยาท รวมทั้ง เครื่องป้องกัน เพื่อให้ส่วนที่เปราะบางของทางร่างกายไม่ถูกผลกระทบและความเสียหายใดๆ ในระหว่างและหลังการแข่งขันได้ กระนั้นก็ตาม นักกีฬาหลายรายทั้งบาดเจ็บและล้มตายจากผลข้างเคียงของความรุนแรงที่เกิดขึ้นให้เราเห็นอยู่เป็นประจำ

พอมาดูสงคราม โดยเฉพาะใช้ช่วงศตวรรษที่ 20 – 21 จะเห็นว่าทุกสงคราม ทั้งภายในและระหว่างประเทศ เรามีกฏแห่งการปะทะของฝ่ายติดอาวุธ (ที่ส่วนมากมักถูกละเลย) กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ที่จะถูกปรับใช้เมื่อเกิดเหตุสงคราม กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ถูกปรับใช้ตลอดเวลา และรวมถึงกลไกในเวทีระหว่างประเทศ อาทิ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และ การรวมตัวของประเทศกลุ่มพันธมิตรในภูมิภาคต่างๆ เพื่อต่อรองเขิงการป้องปราม ป้องกัน และต่อสู้ เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ให้สงครามเกิดขึ้นถ้าไม่จำเป็น หรือหากเกิดก็ให้มีผลกระทบน้อยที่สุด

แต่อย่างไรก็ตาม ทุกสงครามต้องมีการสูญเสีย โดยเฉพาะ “ผู้บริสุทธิ์” คือประชาชนที่ไม่ได้จับอาวุธมาต่อสู้ และโดยเฉพาะในประเทศที่ถูกรุกราน จะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เครื่องป้องกันที่ผมกล่าวมาทั้งหมดข้างบน ไม่สามารถปกป้องคุ้มกันผู้บริสุทธิ์ได้ สิ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้จะทำได้ คือการหนีภัย ทั้งจากผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อม นี่คือสิ่งที่แตกต่างจากการกีฬา คือ ในภัยสงครามกลุ่มคนเปราะบางยังสามารถหนีตายได้ !!

ผมขอพูดเรื่องสถานการณ์สงครามในประเทศยูเครน ที่รัฐบาลรัสเซียได้ส่งกองทัพเข้าปฏิบัติการทางทหารต่อประเทศยูเครนอย่างเปิดเผยและต่อเนื่องเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธุ์ 2565 ที่ผ่านมา แต่ผมขอพูดในแง่มุมทางมนุษยธรรมและการทูตไทยนะครับ โดยเฉพาะในเรื่องผลของสงคราม คือ ผู้ผลัดถิ่นภายในประเทศ และผู้ลี้ภัย

เป็นเรื่องคลาสสิคมากนะครับ ในเรื่องสงคราม ผู้ผลัดถิ่นภายในประเทศ และผู้ลี้ภัย ปัญหาที่เกิดขึ้นในยูเครนคือสงครามระหว่างประเทศที่ทำให้เกิดผู้ผลัดถิ่นภายในประเทศยูเครนหลายแสนคน และผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านหลักๆ ทั้ง 5 ประเทศ น่าจะเกินหนึ่งล้านคนแล้ว ณ เวลาเขียนบทความนี้

ผมอยากชี้ให้เห็นนะครับว่ามันเกิดอะไรขึ้น เริ่มจากเกิดเหตุคนทะลักออกนอกประเทศ อันแรก ประเทศเพื่อนบ้านเปิดทางสะดวกทางด้านพิธีตรวจคนเข้าเมืองให้ชาวยูเครนและต่างชาติที่อยู่ยูเครนอย่างถูกต้อง ในเรื่องเอกสาร และวิธีการพิจารณาต่างๆ ในการเข้าประเทศ บางประเทศ โดยเฉพาะประเทศเล็กๆ อย่างโมลโดว่า คือรับก่อนแล้วตรวจทีหลัง มากกว่านั้น ยังมีข่าวแว่วๆ มาอีกว่าขนาดรัสเซียกับยูเครนยังพยายามหาโซนปลอดสงคราม !!

ตอนนี้เราเห็นชัดนะครับ ว่าเครื่องป้องกันสิ่งเปราะบางในสงครามที่รัสเซียส่งทหารเข้ายูเครนนั้น คืออยู่ในประเทศเพื่อนบ้านเสียส่วนใหญ่ !!

เครื่องป้องกันในประเทศเพื่อนบ้านนี้ มีระบบการป้องกันที่สำคัญคือปกป้องชีวิตผู้ลี้ภัย รวมทั้ง การให้ความคุ้มครองรหว่างประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต่อเด็ก ผู้หญิง คนชรา ผู้พิการ ฯลฯ เห็นได้ว่าประเทศต่างๆ รอบๆ ยูเครน ได้ปรับใช้การทูตด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมือด้านความมั่นคงในช่วงสงครามนี้ ทำไมไม่เห็นมีใครบอกว่าปล่อยพวกผู้ลี้ภัยเข้ามาทำไม เดี๋ยวคนพวกนี้ก็เข้ามาแย่งงานหมดหรอก และอะไรอีกหลายๆ อย่างในเชิงลบต่อผู้ลี้ภัยจากยูเครนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน !!

หลายคนถามว่าแล้วประเทศเพื่อนบ้านจะได้อะไรจากการเปิดประเทศอ้าแขนรับผู้ลี้ภัยดังกล่าว ผมตอบได้ทันทีครับ ช่วยคนที่หนีตายให้มีชีวิตรอดไงครับ !! ไม่มีใครอยากเป็นผู้ลี้ภัยจนตายครับ ผู้ลี้ภัยทุกคนจะทำทุกวิถีทางเพื่อลบคำว่าผู้ลี้ภัยออกให้เร็วที่สุดครับ หากเป็นใครใครก็ต้องทำ !!

หลายคนถามว่าจุดยืนไทยในเรื่องปัญหาระหว่างรัสเซีย – ยูเครนควรเป็นอย่างไร สำหรับผมผมยังย้ำจุดยืนเดิมที่เคยเขียนไว้เกี่ยวกับการทูตไทยในศตวรรษที่ 21 ในบทความก่อนหน้านี้ว่า

“ไทยต้องพิจารณาหลักการทูตที่ใช้หลักการด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนนำ โดยต้องเปลี่ยนจากการทูตแบบการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบอนุรักษ์นิยมที่เน้นในระดับทวิภาคี บนพื้นฐานของความคิดด้านความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งรัฐเป็นที่ตั้งให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ มิเช่นนั้นไทยจะตกขบวนการเป็นผู้นำในเชิงยุทธศาสตร์บนเวทีระหว่างประเทศ และจะมีประเทศต่างๆ มารวมตัวกันถามไทยอีกว่าจุดยืนไทยคืออะไรในทุกๆ เรื่อง”