
ท่ามกลางความยากจน ความอดอยาก ชาวอัฟกานิสถานบอกว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกจนต้องขายไตเพื่อแลกกับเงิน
นูรุดดินไม่มีงานทำ มีภาระหนี้สิน และต้องดิ้นรนหาเลี้ยงลูก เขารู้สึกว่าตนไม่มีทางเลือกใดแล้วนอกจากต้องขายไต เขาเป็นหนึ่งในจำนวนที่เพิ่มขึ้นของชาวอัฟกันซึ่งจำใจเสียสละอวัยวะเพื่อช่วยครอบครัวของพวกเขา
การกระทำทำนองนี้แพร่หลายในเมืองเฮรัตทางตะวันตกใกล้กับชายแดนอิหร่าน จนชุมชนนี้ถูกเรียกขานอย่างเยือกเย็นว่า “หมู่บ้านไตเดียว”
“ผมต้องทำเพื่อลูกๆ” นูรุดดินบอกกับเอเอฟพี “ผมไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว”
อัฟกานิสถานจมดิ่งสู่วิกฤตทางการเงินภายหลังการยึดครองของตอลิบานเมื่อ 6 เดือนก่อน ซึ่งทำให้สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมเลวร้ายลงหลังจากสงคราม 20 ปีและการยึดครองของสหรัฐฯ
องค์การสหประชาชาติระบุว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร 38 ล้านคนในประเทศนี้ต้องทนทุกข์จากความหิวโหยอย่างรุนแรง โดยชาวอัฟกันเกือบ 9 ล้านคนเสี่ยงต่อการอดอยากอาหาร
เงินช่วยเหลือต่างประเทศที่เคยค้ำจุนอัฟกานิสถานหดหายไปจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เศรษฐกิจของประเทศนี้ใกล้จะล่มสลายหลังจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศตัดเงินทุน และสหรัฐฯ แช่งแข็งทรัพย์สินของอัฟกานิสถาน เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ตัดสินใจดองทรัพย์สินมูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์ของอัฟกัน โดยนำเงินครึ่งหนึ่งไปชดใช้ให้กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเหตุโจมตี 9/11
องค์กรด้านช่วยเหลือและผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องให้ยกเลิกการคว่ำบาตรต่อกลุ่มตอลิบาน โดยกล่าวว่ามาตรการดังกล่าวทำให้วิกฤตด้านมนุษยธรรมเลวร้ายลง
ผลกระทบได้ส่งผลต่อพลเมืองชาวอัฟกันโดยตรง โดยเฉพาะคนเช่น นูรุดดิน วัย 32 ปี ซึ่งลาออกจากงานในโรงงานเมื่อเงินเดือนของเขาถูกลดเหลือประมาณ 1,000 บาท (30 ดอลลาร์) ไม่นานหลังจากที่กลุ่มตอลิบานกลับมา
นูรุดดินคาดหวังว่าเขาจะหางานที่ดีกว่านี้ แต่ด้วยจำนวนผู้ว่างงานนับแสนคนทั่วประเทศ จึงไม่มีสิ่งอื่นใดให้เขาสามารถทำได้
ด้วยความสิ้นหวัง เขาจึงขายไตเพื่อเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
“ตอนนี้ผมเสียใจ” เขาบอกผู้สี่อข่าว “ผมไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป ผมเจ็บและไม่สามารถยกของหนักได้”
ตอนนี้ครอบครัวของเขาต้องอาศัยเงินจากลูกชายวัย 12 ขวบของเขา ซึ่งมีรายได้จากการขัดรองเท้าประมาณ 25 บาท (70 เซ็นต์) ต่อวัน
นูรุดดินเป็นหนึ่งในแปดคนที่ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีได้พูดด้วยซึ่งขายไตเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวของพวกเขาหรือจ่ายหนี้ ด้วยราคาเพียง 1,500 ดอลลาร์ หรือประมาณ 49,500 บาท

อย่างไรก็ตาม ในอัฟกานิสถาน ยังไม่มีกฎหมายควบคุมการขายอวัยวะ
“ไม่มีกฎหมาย … ในการควบคุมวิธีการบริจาคหรือขายอวัยวะ แต่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้บริจาค” โมฮัมหมัด วากิล มาติน อดีตศัลยแพทย์ชั้นนำของโรงพยาบาลในเมืองมาซาเอชาริฟ กล่าว
โมฮัมหมัด บัสรี อุสมานี ศัลยแพทย์ของโรงพยาบาลหนึ่งในสองแห่งที่ทำการปลูกถ่ายอวัยะส่วนใหญ่ของเมืองเฮรัต ยืนยันว่า “ความยินยอม” เป็นกุญแจสำคัญ
“เราขอความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรและบันทึกวิดีโอจากพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้บริจาค” เขากล่าว และบอกว่าได้ทำการผ่าตัดหลายร้อยครั้งในเมืองเฮรัตในช่วงห้าปีที่ผ่านมา
“เราไม่เคยตรวจสอบว่าผู้ป่วยหรือผู้บริจาคมาจากไหน หรืออย่างไร มันไม่ใช่งานของเรา”
ตอลิบานไม่ตอบสนองต่อคำร้องขอความเห็นของเอเอฟพีในเรื่องนี้ แต่อุสมานีกล่าวว่าผู้ปกครองคนใหม่ของประเทศมีแผนที่จะระงับการค้าอวัยวะและกำลังจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อควบคุม
นายหน้าจะเป็นผู้ดำเนินการประสานงานจับคู่ชาวอัฟกันที่ต้องการได้เงินกับคนไข้ที่มั่งคั่ง ซึ่งเดินทางมายังเฮรัตจากทั่วประเทศ และบางครั้งก็มาจากอินเดียและปากีสถานด้วย
สำหรับ “อะซีตา” ครอบครัวของเธออยู่ในภาวะอดอยากจนลูกสองในสามคนของเธอเพิ่งได้รับการรักษาภาวะทุพโภชนาการ
เธอรู้สึกว่าไม่มีทางเลือกนอกจากต้องขายอวัยวะ และได้พบกับนายหน้าที่จับคู่เธอกับผู้รับจากจังหวัดนิมรอซ ทางตอนใต้อย่างเปิดเผย
“ฉันขายไตในราคา 250,000 อัฟกานีส [ประมาณ 2,700 ดอลลาร์]” เธอกล่าวจากห้องเล็กๆ ที่เปียกชื้น
“ฉันต้องทำ สามีฉันไม่ได้ทำงาน เรามีหนี้สิน” เธอกล่าวเสริม
ตอนนี้สามีของเธอซึ่งเป็นลูกจ้างรายวันกำลังวางแผนที่จะทำเช่นเดียวกัน
“ผู้คนยากจนลง” เขากล่าว “หลายคนขายไตเพราะสิ้นหวัง”
ชากิลาซึ่งเคยเป็นแม่ลูกสองเมื่ออายุ 19 ปี เข้ารับการผ่าตัดไม่นานก่อนที่กลุ่มตอลิบานจะยึดอำนาจ เธอไม่ผ่านนายหน้าโดยการค้นหาผู้ป่วยรายหนึ่งที่โรงพยาบาลเฮรัต
“เราไม่มีทางเลือกเพราะความหิว” ชากิลา
เธอขายไตในราคา 1,500 ดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่นำไปชำระหนี้ของครอบครัว
ขณะเดียวกัน คุณแม่ลูกสาม “อะซีซะห์” กำลังรอโอกาสอยู่หลังจากพบเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่พยายามจะจับคู่เธอกับผู้บริจาค
“ลูกๆ ของฉันเดินเตร่อยู่ตามท้องถนนเพื่อขอทาน” เธอบอกกับเอเอฟพี พร้อมน้ำตาที่รินไหล
“ถ้าฉันไม่ขายไต ฉันจะถูกบังคับให้ขายลูกสาววัย 1 ขวบของฉัน” เธอกล่าว
Source: AFP via Al-jazeera