อาหรับนิวส์/เดลี่ซาบะห์ – ประธานาธิบดีไอแซก เฮอร์ซอก ของอิสราเอลเดินทางถึงตุรกีเมื่อวันพุธ (9 มี.ค.) เพื่อพูดคุยกับประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิป เออร์โดกัน และนับเป็นผู้นำคนแรกจากอิสราเอลที่เยือนตุรกีในรอบ 14 ปี
เฮอร์ซ็อกเดินทางถึงทำเนียบประธานาธิบดีตุรกีในเมืองหลวงอังการาซึ่งมีหิมะโปรยปราย โดยมีทหารกองธงตุรกีคุ้มกัน
เขาได้รับการต้อนรับจากเออร์โดกันและทหารกองเกียรติยศ ในขณะที่วงดนตรีได้บรรเลงเพลงชาติอิสราเอลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2008
“การเยือนของประธานาธิบดีเฮอร์ซ็อกจะเป็นจุดเปลี่ยนในความสัมพันธ์ตุรกี-อิสราเอล” แอร์โดอันกล่าวในการแถลงข่าวหลังการประชุมระหว่างผู้นำทั้งสอง พร้อมเสริมว่าตุรกีพร้อมที่จะร่วมมือด้านพลังงานกับอิสราเอล
ขณะที่เฮอร์ซอกได้รับรองถึงศักยภาพของความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและอิสราเอล “อิสราเอลและตุรกีสามารถและควรมีความร่วมมือ อันจะส่งผลดีต่อภูมิภาคนี้ทั้งหมดที่เราเรียกว่าบ้าน” เขากล่าว
ตุรกีและอิสราเอลเคยเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกัน แต่ความสัมพันธ์ก็ระหองระแหงภายใต้การนำของเออร์โดกัน ซึ่งเป็นนักวิจารณ์อย่างเปิดเผยเกี่ยวกับนโยบายของอิสราเอลที่มีต่อชาวปาเลสไตน์ อิสราเอลยังไม่พอใจที่เออร์โดกัน โอบอุ้มขบวนการฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่ปกครองฉนวนกาซา โดยอิสราเอลถือว่าฮามาสเป็นกลุ่มก่อการร้าย
สองประเทศเรียกตัวอัครราชทูตของตนกลับในปี 2010 หลังกองกำลังอิสราเอลโจมตีกองเรือบรรทุกความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาซึ่งและตกอยู่ในการปิดล้อมของอิสราเอล เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้นักเคลื่อนไหวชาวตุรกีเสียชีวิตเก้าคน
ความสัมพันธ์พังทลายอีกครั้งในปี 2018 เมื่อตุรกีไม่พอใจที่สหรัฐฯ ย้ายสถานทูตในอิสราเอลของตนไปยังกรุงเยรูซาเล็ม และมีการเรียกเอกอัครราชทูตกลับประเทศอีกครั้ง กระตุ้นให้อิสราเอลตอบโต้ด้วยวิธีเดียวกัน ทั้งสองประเทศไม่ได้มีการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตเข้าไปประจำการอีกนับแต่นั้น
ย่างก้าวสู่การสร้างสายสัมพันธ์ของอิสราเอลยังตุรกีเกิดขึ้นเมื่อถูกรุมเร้าด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจ และได้พยายามยุติการถูกนานาชาติโดดเดี่ยวโดยการพยายามปรับความสัมพันธ์กับหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางให้เป็นปกติ
“เราจะไม่เห็นด้วยในทุกเรื่อง และความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและตุรกีเป็นที่รู้กันดีว่ามีขึ้นๆ ลงๆ และไม่ง่ายนักในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” เฮอร์ซ็อกกล่าวก่อนออกเดินทาง “แต่เราจะพยายามเริ่มต้นความสัมพันธ์ของเราใหม่ และสร้างความสัมพันธ์ในลักษณะที่ไตร่ตรองและระมัดระวัง และด้วยความเคารพซึ่งกันและกันระหว่างรัฐของเรา”
ในอิสตันบูล มีกลุ่มคนประมาณ 150 คนออกมาประท้วงการมาเยือนของเฮอร์ซ็อก ร้องตะโกนต่อต้านอิสราเอล และชูป้ายเรียกประธานาธิบดีอิสราเอลว่าเป็น “ฆาตกร”
ผู้เข้าร่วมประท้วงนี้รวมถึงสมาชิกของกลุ่มบรรเทาทุกข์อิสลามตุรกี ซึ่งเคยจัดกองเรือเข้าไปฉนวนกาซา เพื่อทำลายการปิดล้อมของอิสราเอลในปี 2010
ย่างก้าวที่นำไปสู่การคืนดี เริ่มจากเออร์โดกันโทรหาเฮอร์ซอกหลังจากที่ประมุขแห่งรัฐอิสราเอลเข้ารับตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว ทั้งสองได้สนทนาทางโทรศัพท์หลายครั้งตั้งแต่นั้นมา เออร์โดกันยังได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล นาฟตาลี เบนเน็ต หลังจากตุรกีปล่อยตัวคู่สามีภรรยาชาวอิสราเอลที่ถูกจับกุมในอิสตันบูลในข้อหาสอดแนม
ตุรกีกล่าวว่าจุดยืนของอังการาที่มีต่อชาวปาเลสไตน์จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะมีความพยายามในการปรับสัมพันธ์ให้เป็นปกติเป็นกับอิสราเอลก็ตาม
เฮอร์ซอกมีกำหนดจะพบกับสมาชิกของชุมชนชาวยิวของตุรกีในอิสตันบูลในวันพฤหัสบดี (10 มี.ค.) นี้