สำนักการแพทย์ กทม. กำชับและเน้นย้ำแนวทางการปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโควิด 19 ที่เข้าระบบการรักษาแบบแยกกักรักษาที่บ้าน (Home Isolation : HI) ต้องแยกตัวเองจากผู้อื่นขณะอยู่ที่บ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มป่วย หรือตรวจพบเชื้อ หากครบ 10 วัน แล้วยังมีอาการ ควรแยกตัวจนกว่าอาการจะหายไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตผู้ป่วยโควิด 19 ที่เข้ารับการรักษาแบบกักตัวเอง (Home Isolation : HI) จำนวนไม่น้อยยังคงออกมาใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้านและเดินทางไปขอ รับการตรวจในโรงพยาบาล (รพ.) หรือสถานพยาบาลต่าง ๆ ด้วยรถประจำทาง หรือรถโดยสารสาธารณะ เสี่ยงแพร่กระจายเชื้อว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ ได้กำชับและเน้นย้ำแนวทางการปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโควิด 19 ที่เข้าระบบการรักษาแบบแยกกักรักษาที่บ้าน (Home Isolation : HI) ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดให้ผู้ป่วยโควิด 19 ที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาใน รพ.ต้องแยกตัวเองจากผู้อื่นขณะอยู่ที่บ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มป่วย หรือตรวจพบเชื้อ หากครบ 10 วัน แล้วยังมีอาการ ควรแยกตัวจนกว่าอาการจะหายไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง เพื่อลดการแพร่เชื้อโควิด 19 ให้ผู้อื่น โดยมีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้
(1) ไม่ให้บุคคลอื่นมาเยี่ยมที่บ้านและงดการออกจากบ้านระหว่างแยกกักตัว
(2) อยู่ในห้องส่วนตัวตลอดเวลา
(3) หากจำเป็นต้องเข้าใกล้ผู้อื่น ต้องสวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างอย่างน้อย 1 เมตร
(4) หากไอจามขณะที่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ต้องเอามือปิดปากและไม่ต้องถอดหน้ากากอนามัยออก หากไอจามขณะที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ให้ใช้ต้นแขนด้านในปิดปากและจมูก
(5) ถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ
(6) กรณีที่เป็นมารดาให้นมบุตร ยังสามารถให้นมบุตรได้ แต่ควรสวมหน้ากากอนามัยและล้างมืออย่างเคร่งครัดทุกครั้งก่อนสัมผัส หรือให้นมบุตร
(7) ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย ให้ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำ
(8) ทำความสะอาดห้องน้ำและพื้นผิวที่อาจปนเปื้อน เสมหะ น้ำมูก อุจจาระ ปัสสาวะ หรือสารคัดหลั่ง ด้วยน้ำและน้ำยาฟอกผ้าขาว 5% (เช่น ไฮเตอร์ คลอรอกซ์) โดยใช้น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วน ต่อน้ำ 9 ส่วน
(9) แยกสิ่งของส่วนตัวไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น
(10) ไม่ร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่น
(11) ซักเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ฯลฯ ด้วยน้ำและสบู่ หรือผงซักฟอกตามปกติ และ
(12) การทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว และขยะที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง ให้ใส่ถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิท ก่อนทิ้งขยะที่ฝาปิดมิดชิดและทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์ หรือน้ำ และสบู่ทันที
ซึ่งผู้ป่วยจะต้องสังเกตอาการตัวเองด้วยการวัดอุณหภูมิและออกซิเจนในเลือดทุกวัน หากมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง หายใจเร็วกว่า 25 ครั้ง/นาที ในผู้ใหญ่ ออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% โรคประจำตัวมีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิดตามดุลยพินิจของแพทย์ มีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนม หรือรับประทานอาหารน้อยลงในเด็กเล็ก จะต้องแจ้งแพทย์ผู้ดูแลทันที เพื่อส่งต่อผู้ป่วยเข้ารักษาใน รพ.ต่อไป
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1646 สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง