AFP/emirates247 – กลุ่มชาวอินเดียที่รวมถึงนักธุรกิจคนหนึ่งและนักแสดงหญิงบอลลีวูดคนหนึ่งกำลังพยายามที่จะดำเนินการทางกฎหมายเพื่อบังคับให้อังกฤษส่งเพชรโคอินัวค์จากเพชรยอดมงกุฏคืนให้แก่อินเดีย
หนังสือพิมพ์ของอังกฤษรายงานว่า กลุ่มนี้ได้แนะนำให้นักกฎหมายทนายความพยายามเริ่มต้นกระบวนการในศาลสูงของอังกฤษ ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่นายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมที ของอินเดียไปเยือนอังกฤษสัปดาห์นี้
โมทีเดินทางไปอังกฤษเมื่อวันพฤหัสบดี และจะรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ในระหว่างการเดินทางของเขาด้วย รวมทั้งมีการพูดคุยกันกับนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษด้วย
ซาติช จาคู จากบริษัทกฎหมาย Rubric Lois King กล่าวว่า พวกเขาจะอ้างหลักกฎหมายทั่วไปเกี่ยวกับ “การละเมิดสินค้า” โดยให้เหตุผลว่าอังกฤษได้ขโมยเพชรเม็ดนี้ไป ซึ่งเป็นหนึ่งในเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลก และกล่าวเสริมว่า พวกเขากำลังพยายามที่จะนำคดีนี้เข้าสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรุงเฮกด้วย
บริษัท Rubric Lois King ไม่ให้ตอบแสดงความคิดเห็นใดเมื่อ AFP ติดต่อไป
อัญมณีชิ้นนี้เป็น “หนึ่งในศิลปะวัตถุจำนวนมากที่ถูกนำไปจากอินเดียภายใต้สภาวการณ์ที่คลุมเครือ” เดวิด เดอ ซูซา จากกลุ่ม Tito ของอินเดีย กล่าวในหนังสือพิมพ์ The Independent เขาเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนบางส่วนแก่การดำเนินการนี้
ภูมิกา ซิงห์ นักแสดงบอลลีวูดกล่าวว่า อัญมณีชิ้นนี้เป็น “ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเรา และควรจะถูกส่งคืนมาโดยไม่ต้องสงสัย”
“ภูเขาแห่งแสงสว่าง”
เพชรเม็ดนี้ถูกมอบเป็นของขวัญให้แก่สมเด็จพระราชินีวิคตอเรียในปี 1850 หลังสงครามอังกฤษ-ซิกข์ ที่ทำให้อังกฤษได้อำนาจควบคุมรัฐปัญจาบของอาณาจักรซิกข์ ซึ่งปัจจุบันถูกแยกอยู่ระหว่างปากีสถานกับอินเดีย
หนังสือพิมพ์รายงานว่า อัญมณีล้ำค่าชิ้นนี้มีมูลค่า 100 ล้านปอนด์ (150 ล้านดอลล่าร์, 140 ล้านยูโร) ในประวัติศาสตร์มันเคยอยู่ในมือของโมกุลและอัฟกัน
เพชร 105 กะรัตนี้ถูกประดับไว้ในมงกุฏที่ทำขึ้นเพื่อสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระมเหสีของกษัตริย์จอร์ที่ 6 พระราชชนกของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่2 สำหรับพิธีบรมราชาภิเษกของทั้งสองพระองค์ในปี 1937
ชื่อของมันแปลว่า “ภูเขาแห่งแสงสว่าง” ตามประเพณีดั้งเดิม เพชรนี้จะถูกสวมโดยพระราชินีเท่านั้น และกล่าวกันว่ามันจะนำโชคร้ายมาให้แก่ใครก็ตามที่สวมมัน
สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ทรงถือว่าเพชรยอดมงกุฏเหล่านี้เป็นประมุขแห่งอธิปไตยของรัฐ มากกว่าที่จะอยู่ในฐานะส่วนตัว
ซึ่งนี่หมายความว่า ถ้ามีการเจรจาเกิดขึ้นเกี่ยวกับเพชรนี้ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่สองก็จะดำเนินการไปตามคำแนะนำของรัฐบาลเท่านั้น
คาเมรอนคัดค้านการคืนเพชรนี้
“ถ้าคุณตอบตกลงให้กับชิ้นหนึ่ง คุณก็จะพบว่าพิพิธภัณฑ์อังกฤษจะต้องว่างเปล่าทันที” เขาบอกกับสถานทีโทรทัศน์ NDTV เมื่อปี 2010 “มันจะต้องอยู่ที่เดิม”
และในการเยือนอินเดียเมื่อปี 2013 เขากล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่เชื่อในเรื่อง ‘การส่งคืน’ อย่างแน่นอน”
ในปี 1979 นายกรัฐมนตรี จิม คอลลานจ์ ได้ปฏิเสธคำร้องขอที่จะให้คืนมัน โดยกล่าวถึงข้อตกลงในสนธิสัญญาสันติภาพอังกฤษ-ซิกข์ และสรุปว่า “ข้าพเจ้าไม่สามารถให้คำแนะนำแก่สมเด็จพระราชินีได้ว่ามันควรจะถูกส่งมอบคืน”
แอนดริว โรเบิร์ต นักประวัติศาสตร์ บอกกับหนังสืพิมพ์ The Mail on Sunday ว่า การดำเนินคดีนี้เป็นเรื่อง “น่าหัวเราะ” โดยกล่าวว่า อังกฤษมีสิทธิเก็บอัญมณีชิ้นนี้ ตามสนธิสัญญาผูกมัดทางกฎหมาย