“เจนิน” เมืองที่กลายเป็นศูนย์กลางแห่งการต่อต้านไซออนิสต์ของปาเลสไตน์

สมาชิกกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ยืนอยู่ท่ามกลางฝูงชนที่งานศพในเจนิน เขตเวสต์แบงก์ [Rima Mustafa/Al Jazeera]

ชาวปาเลสไตน์กล่าวว่า เมืองเจนินเป็นศูนย์กลางของกลุ่มต่อต้านปาเลสไตน์มาโดยตลอด ถึงแม้ว่าอิสราเอลจะพยายามกำจัดพวกเขาออกไปก็ตาม

9 เมษายน 2022  เป็นวันครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์ที่อิสราเอลโจมตี “ค่ายผู้ลี้ภัยเจนิน” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 9 เมษายน 2002 

หลายเดือนก่อนถึงวันครบรอบฯ อิสราเอลเพิ่มปฏิบัติการและการจับกุมในและรอบๆ เมืองเจนิน (Jenin) ในเขตเวสต์แบงก์

และในวันครบรอบฯ กองกำลังอิสราเอลได้เปิดฉากการโจมตีครั้งใหญ่ต่อค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งตั้งอยู่ในใจกลางเมืองเจนิน ขณะที่นักสู้ชาวปาเลสไตน์ก็ตอบโต้ การจู่โจมได้สิ้นสุดลงในสองชั่วโมงของการต่อสู้บนท้องถนนอย่างหนัก ซึ่งทำให้นักสู้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตหนึ่งรายและอีก 13 คนได้รับบาดเจ็บ

การยกระดับโจมตีดังกล่าวของอิสราเอลดังกล่าวทำให้หวนนึกถึงการเผชิญหน้ากันอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เมื่อการซุ่มโจมตีค่ายผู้ลี้ภัยเจนินของอิสราเอลได้ทำให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตอย่างน้อย 52 คน รวมทั้งผู้หญิงและเด็ก ตามการสอบสวนขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน “ฮิวแมนไรท์วอทช์” (HRW) นอกจากนี้ ยังมีทหารอิสราเอลเสียชีวิต 23 นาย และบาดเจ็บอีกหลายคน

วันนั้นเมื่อ 20 ปีที่แล้วเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับเจนิน ทำให้ทั้ง “เมืองนี้และค่ายผู้ลี้ภัย” กลายเป็นสัญลักษณ์ของชาวปาเลสไตน์ในการต่อต้านไซออนิสต์และการยึดครอง

“มีสถานที่สองแห่งในปาเลสไตน์ที่อิสราเอลไม่เคยสามารถพิชิตได้อย่างเบ็ดเสร็จ นั่นคือ เจนินและฉนวนกาซา” ไดอาน่า บุตตู นักวิเคราะห์การเมืองและทนายความชาวปาเลสไตน์ กล่าวกับอัลจาซีรา

“นั่นเป็นสาเหตุที่อิสราเอลพยายามโค่นล้มชาวเจนินและฉนวนกาซา… ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ไม่เคยได้ผล” เธอกล่าวเสริม

วันที่ 2 เมษายน กองกำลังความมั่นคงอิสราเอลสังหารชายชาวปาเลสไตน์สามคนในการยิงกันก่อนรุ่งสางในเจนิน เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าโจมตีกองกำลังอิสราเอล [Rima Mustafa/Al Jazeera]

หลายเดือนที่อิสราเอลยกระดับโจมตี

แม้ว่าการจู่โจมของอิสราเอลต่อเจนินจะมีขึ้นเป็นระยะๆ ตั้งแต่ปี 2002 แต่หลายเดือนมานี้แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงและการบุกจู่โจมของอิสราเอลในเจนิน

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปฏิบัติการค้นหาที่ดำเนินการโดยกองกำลังอิสราเอลและเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์ (PA) กำหนดเป้าหมายยังชาย 25 คนในเจนิน และบ้านจำนวนมากถูกบุกค้นและมีผู้ถูกจับกุมหลายสิบคน

ในวันที่ 2 เมษายน หนึ่งสัปดาห์ก่อนวันครบรอบ  กองกำลังความมั่นคงของอิสราเอลสังหารชายชาวปาเลสไตน์สามคนด้วยการยิงที่เมืองเจนินก่อนรุ่งสาง ทางการอิสราเอลกล่าวว่าชายเหล่านี้ ซึ่งต่อมาถูกระบุว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มติดอาวุธของอิสลามิกญิฮาด “มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจกรรมก่อการร้ายต่อกองกำลังความมั่นคง”

กองทัพอิสราเอล (IDF) กล่าวว่า กองกำลังพบอาวุธในพื้นที่และจับกุมชาวปาเลสไตน์หลายคนที่ต้องสงสัยว่ามีกิจกรรม “ก่อการร้าย”

การจู่โจมดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับเหตุยิงหลายครั้งในอิสราเอล ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม  ทำให้ชาวอิสราเอลเสียชีวิต 14 คนจากการโจมตีสี่ครั้งโดยฝีมือชาวปาเลสไตน์ ที่ 2 คนมาจากเจนิน

เมื่อวันที่ 7 เมษายน ราอัด ฮาเซม วัย 28 ปี จากค่ายผู้ลี้ภัยเจนิน ได้เปิดฉากยิงในบาร์แห่งหนึ่งในเทลอาวีฟที่มีผู้คนพลุกพล่าน ส่งผลให้ชาวอิสราเอลเสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บอีก 10 คน ฮาเซมถูกยิงเสียชีวิตหลังจากเหตุการณ์ไม่นาน บ้านของครอบครัวเขาถูกบุกค้นและพังยับเยิน และพ่อของเขากำลังหลบหนีขณะที่กองกำลังอิสราเอลก็ยังดำเนินการค้นหาเขาต่อไป

เพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้นในวันที่ 29 มีนาคม ดิยาอ์ ฮามาร์ชาห์ (Diaa Hamarsheh) จากหมู่บ้านยาบัด (Ya’bad) ห่างจากเจนินไม่กี่กิโลเมตร ได้ยิงและคร่าชีวิตผู้คนไป 5 รายในเมืองเบบรัก (Bnei Brak) ทางตะวันออกของเทลอาวีฟ

อิสราเอลได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเจนิน เพิกถอนใบอนุญาตการเดินทางสำหรับผู้อยู่อาศัยที่ทำงานนอกเมือง และปิดถนนที่เชื่อมเจนินกับส่วนอื่น ๆ ของเวสต์แบงก์ [ริมา มุสตาฟา/อัลจาซีรา]

นับแต่นั้นมา นายกรัฐมนตรีนาฟตาลี เบนเน็ตต์ ของอิสราเอล ได้อนุมัติให้ “กองกำลังความมั่นคงทั้งหมดมีเสรีภาพอย่างเต็มที่” ระหว่างปฏิบัติการ โดยมีเป้าหมายเพื่อหยุดการโจมตีในอนาคต

สำหรับชาวอิสราเอล เมืองเจนินแห่งนี้ถือเป็นศูนย์กลางของ “กิจกรรมการก่อการร้าย” มากกว่าการต่อต้าน

อิสราเอลยังได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเจนิน เพิกถอนใบอนุญาตการเดินทางสำหรับผู้อยู่อาศัยที่ทำงานนอกเมือง ปิดถนนที่เชื่อมเจนินกับส่วนอื่น ๆ ของเขตเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครอง และเพิ่มการจู่โจม จับกุม และกำหนดเป้าหมายการสังหารในและรอบ ๆ เมือง

ภายใต้มาตรการดังกล่าว อิสราเอลปิดจุดตรวจและป้องกันการเดินทางระหว่างเจนิน ส่งผลให้พ่อค้าและคนงานจำนวนมากในเมืองถูกตัดขาดจากแหล่งรายได้

แม้จะมีภาพที่น่าสยดสยองจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ชาวเจนินบอกกับอัลจาซีราว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้เมืองเจนินได้ “ฟื้นจิตวิญญาณแห่งการต่อต้าน” และฟื้นความทรงจำของการเกิดขึ้นของเจนินในฐานะศูนย์กลางของการต่อต้านของปาเลสไตน์ต่อการยึดครองของไซออนิสต์

“เจนินสามารถดำรงอยู่ในบริบทของการต่อต้านเท่านั้น โดยมีประวัติความอุตสาหะ การปฏิเสธที่จะยกธงขาว และยืนกรานที่จะสู้กลับ” อักรัม รายูบ (Akram Rajoub) ผู้ว่าการเจนินและสมาชิกขบวนการฟาตาห์กล่าว

แม่ชาวปาเลสไตน์และผู้อยู่อาศัยในค่าย ซึ่งไม่ประสงค์เปิดเผยตัวด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย เห็นด้วยว่า “เจนินเป็นรากเหง้าการต่อต้านไซออนิสต์ของชาวปาเลสไตน์และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป”

ชาวปาเลสไตน์ระหว่างขบวนแห่ศพในเจนิน [Rima Mustafa/Al Jazeera]

‘หวนคืนสู่รากเหง้า’

ค่ายผู้ลี้ภัยเจนินก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่พักพิงของชาวปาเลสไตน์ระหว่างเหตุการณ์นักบาในปี 1948 เมื่อชาวปาเลสไตน์มากกว่า 750,000 คนถูกบังคับให้ออกจากบ้านเพื่อก่อตั้งรัฐเถื่อนอิสราเอล ค่ายผู้ลี้ภัยเจนินยังคงเป็นส่วนที่มีชีวิตชีวาที่สุดของเมือง แม้จะเผชิญการจู่โจมของอิสราเอลในช่วง อินทิฟาด้า ปี 2002

ทางเข้าพื้นที่ครึ่งตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นบ้านของผู้ลี้ภัยประมาณ 14,000 คน และนักสู้ชาวปาเลสไตน์หลายสิบคนที่เป็นสมาชิกของขบวนการอิสลามิกญิฮาดและฟาตาห์ ประดับด้วยกุญแจที่เป็นสัญลักษณ์ของสิทธิในการกลับคืนสู่ปาเลสไตน์ ธงของกลุ่มนักสู้ชาวปาเลสไตน์ต่างๆ ประดับที่ประตูค่าย โปสเตอร์ของนักโทษชาวปาเลสไตน์และ “ผู้สละชีพ” ถูกวาดฉาบไว้ทั่วกำแพงค่าย

“พวกเขาคือฮีโร่ของเรา” คาเดอร์ อัดนาน (Khader Adnan) ผู้นำกลุ่มเคลื่อนไหวอิสลามิกญิฮาดบอกกับอัลจาซีรา ขณะที่เขาชี้ไปที่ใบหน้าบนโปสเตอร์ “สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งเตือนใจถึงสิ่งที่เยาวชนของเราต้องการเป็น นั่นคือ นักสู้ต่อต้านไซออนิสต์”

เมื่อความตึงเครียดปะทุขึ้นในกรุงเยรูซาเลมในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วจากการที่อิสราเอลบุกโจมตีมัสยิดอัล-อักซอในช่วงเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม และความพยายามที่จะขับไล่ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้านของพวกเขาในย่านเชคจาราห์ (Sheikh Jarrah) เขตเยรูซาเล็มตะวันออกที่ถูกยึดครอง อุรหภูมิร้อนฉ่าก็เกิดขึ้นทันทีในเจนิน

ชายสวมหน้ากากของฟาตาห์และอิสลามิกญิฮาดเดินขบวนในค่ายเพื่อแสดงการสนับสนุนและความพร้อมในการต่อสู้

ไม่กี่เดือนต่อมา ชาวเจนินหกคนได้หลบหนีจากเรือนจำกิลโบอาของอิสราเอลที่มีความปลอดภัยสูงสุดในเดือนกันยายน

ระหว่างที่ชายเหล่านี้กำลังหลบหนี นักสู้ในค่ายพยายามช่วยเหลือนักโทษที่หลบหนีโดยการยิงที่ด่านตรวจของอิสราเอล และเปิดฉากการประท้วงเพื่อแก้แค้นหากชายเหล่านั้นได้รับบาดเจ็บ

เมื่อสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ของเจนินในฐานะศูนย์กลางของกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ อัดนานกล่าวว่า “เจนินเป็นศูนย์กลางของการเคลื่อนไหวและกลุ่มต่อต้านอื่นๆ ของเราเสมอมา”

“เยาวชนของเราหลายคนเชื่อในการต่อสู้จนลมหายใจสุดท้าย” เขากล่าวเสริม พร้อมเอ่ยชื่อนักต่อสู้ที่มีชื่อเสียงหลายคนที่อยู่ในกลุ่มติดอาวุธของขบวนการ นั่นคือ กองพันอัลกุดส์ (al-Quds Brigades)

“การปราบปรามอย่างต่อเนื่องของอิสราเอลได้สร้างอัตลักษณ์ของเจนิน และสิ่งที่เราเห็นในวันนี้ คือ เจนินหวนคืนสู่รากเหง้าของการต่อต้าน” เขากล่าวกับอัลจาซีรา

ชาวปาเลสไตน์จากเจนิน 6 คนหลบหนีจากเรือนจำกิลโบอาของอิสราเอลที่มีความปลอดภัยสูงสุดในเดือนกันยายน [Rima Mustafa/Al Jazeera]

เมืองที่อิสราเอลมิอาจควบคุม

บุตตู (Buttu) นักวิเคราะห์ชาวปาเลสไตน์ บอกว่า อิสราเอลและรัฐบาลปาเลสไตน์ หรือ PA ((ปัจจุบันปกครองโดยพรรคฟัตตะห์มีอำนาจในเขตเวสแบงก์)  พยายามควบคุมเจนิน แต่ก็ล้มเหลวมาตลอด

สิ่งนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่เปรียบเจนินเสมือนกับ “ฉนวนกาซา” ซึ่งเป็นที่ที่อิสราเอลมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของตนอย่างต่อเนื่อง บุตตูกล่าวว่าทั้งสองเป็นสถานที่เดียวที่อิสราเอลถอนการตั้งถิ่นฐานเพราะ “คำนวณไว้แล้วว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเกินกว่าจะรักษาสถานะไว้ได้ ไม่ใช่ด้านการเงิน แต่ในแง่ของชีวิต”

ก่อนที่ PA จะเข้าสู่อำนาจหลังจากข้อตกลงออสโลในปี 1993 อิสราเอลมักตั้งเป้าเจนินให้เป็นสถานที่ภายใต้การควบคุม “แต่มันไม่เคยสำเร็จ” บุตตูกล่าว “เมื่อ PA เข้ามา ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพวกเขาในแง่ของการเอาชนะการต่อต้านอยู่ในเจนิน”

เป็นเวลาหลายปีแล้วที่อิสราเอลและ PA ได้ประสานความพยายามในการนำเจนินมาอยู่ภายใต้การควบคุมของพวกเขา ในความพยายามครั้งล่าสุดก่อนเกิดเหตุความรุนแรงครั้งล่าสุด PA ได้เริ่มปฏิบัติการจับกุมในค่ายเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว แม้จะอ้างว่าเป็นปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยเพื่อกำจัดพวกอันธพาล แต่ผู้อยู่อาศัยก็กล่าวว่า ปฏิบัติการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อบดขยี้กลุ่มต่อต้าน

สำหรับอัดนาน ในฐานะผู้นำอิสลามิกญิฮาด เหตุผลนั้นเรียบง่าย “พวกอิสราเอลกลัวว่าจิตวิญญาณแห่งการต่อต้านของเราอาจขยายไปถึงส่วนอื่นๆ ของปาเลสไตน์ นั่นเป็นเหตุผลที่พวกเขาคอยไล่ล่าเรา”

“แต่การจับกุม การจู่โจม และการคว่ำบาตรซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหล่านี้ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น สามัคคีมากขึ้น และมุ่งมั่นที่จะดำเนินต่อไป” เขากล่าว

เจนินเป็นศูนย์กลางของกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์และกลุ่มต่อต้านมานานหลายปี [Rima Mustafa/Al Jazeera]

โต๊ะข่าวต่างประเทศเดอะพับลิกโพสต์ แปล/เรียบเรียงจากอัลจาซีรา