ม.วลัยลักษณ์เตรียมก่อสร้างอาคารแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมภาคใต้

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เตรียมก่อสร้างอาคารแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมภาคใต้ “อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์”เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้มีชีวิตชั้นนำของภาคใต้ตอนบน มุ่งเน้นการศึกษาวิจัยและถ่ายทอดภูมิปัญญาผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณ เพื่อพัฒนาโบราณสถานตุมปัง โบราณสถานเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14 หรือ 1,300-1,400 ปีมาแล้ว ซึ่งสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตั้งแต่ปี 2544 ที่ผ่านมา โดยขณะนี้กำลังเตรียมก่อสร้างอาคารแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมภาคใต้ “อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่มีชีวิตชั้นนำของภาคใต้ตอนบน มุ่งเน้นงานศึกษาวิจัย ถ่ายทอดภูมิปัญญา สืบสานประเพณีอันดีงามของไทย และยกระดับโบราณสถานในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยให้เป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้โบราณสถานที่มีชีวิต โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เผยแพร่ผ่านสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนการส่งเสริมให้มีกระบวน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างอาคารแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมภาคใต้ ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์แล้ว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา  คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 โดยมีพื้นที่อาคารและพื้นที่ใช้สอยรวม 7,850 ตร.ม. มีถนนเชื่อมต่อเข้ามาบริเวณด้านหน้าซุ้มประตูและเป็นเส้นทางตรงเข้ามาถึงโบราณสถานตุมปัง และการก่อสร้างทางเดินเท้าโดยรอบโบราณสถาน เพื่อให้ผู้สนใจเรียนรู้สามารถเดินเข้ามาชมโบราณสถานตุมปังได้โดยรอบ

ตัวอาคารโครงสร้างส่วนใหญ่ทำจากอิฐ และตัวอาคารมีลักษณะทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งมีลักษณะเดียวกับโบราณสถานตุมปัง หลังคาออกแบบโดยการผสมผสานรูปทรงสมัยใหม่กับหลังคาทรงปั้นหยา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมพื้นบ้านภาคใต้ และการออกแบบแนวกำแพง ที่มีแนวคิดมาจากกำแพงเมืองนครศรีธรรมราช

“ภายในอาคารจะมีการจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์โบราณสถานตุมปัง รวบรวมโบราณวัตถุ ของใช้และสิ่งมีค่าทางวัฒนธรรมอื่นๆ รวมทั้งการจัดแสดงนิทรรศการทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี แสดงวิถีชีวิตภาคใต้ การแสดงพื้นบ้าน เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่มีชีวิตชั้นนำของภาคใต้ตอนบน และเมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จ เชื่อว่าโบราณสถานตุมปังที่ปล่อยทิ้งไว้นาน จะได้เป็นสถานที่สวยงามและเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกที่หนึ่งให้กับคนไทย” ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว