ในวันที่ 15 พฤษภาคม ของทุกปี ชาวปาเลสไตน์ทั่วโลกจะรำลึกถึงวันนักบา “วันนักบา” (Nakba Day) ปีนี้เป็นวันครบรอบ 74 ปี ที่พวกเขาต้องประสบกับการยึดครองและการสูญเสียบ้านเกิด เมื่อรัฐเถื่อนของอิสราเอลเกิดขึ้น
คำว่า “นักบา” (Nakba) เป็นภาษาอาหรับ หมายถึง ”หายนะ” หรือ “ภัยพิบัติ” ซึ่งหมายถึงการกวาดล้างทางชาติพันธุ์อย่างเป็นระบบต่อชาวปาเลสไตน์โดยกองกำลังกึ่งทหารของไซออนิสต์ ระหว่างปี 1947-1949 อันเป็นการทำลายล้างสังคมปาเลสไตน์เกือบทั้งหมด
โดยหลังจากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษในการสร้างรัฐยิวทับดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งทันทีที่อาณัติของอังกฤษสิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 1948 กองกำลังไซออนิสต์จึงประกาศสถาปนารัฐอิสราเอล
กลุ่มติดอาวุธกึ่งทหารของชาวยิวไซออนิสต์ ซึ่งสมาชิกบางส่วนได้กลายเป็นผู้นำคนสำคัญของอิสราเอลในเวลาต่อมา รวมถึงยิตซัค ราบิน เอเรียล ชารอน และโมเช ดายัน ได้จัดทำแผนเพื่อควบคุมดินแดนปาเลสไตน์
กองกำลังทหารไซออนิสต์ขับไล่ชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 750,000 คนออกจากบ้านและที่ดินของพวกเขา และยึดครองพื้นที่ปาเลสไตน์ 78 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก 22 เปอร์เซ็นต์ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนที่ตอนนี้ก็คือ “เวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครอง” และ “ฉนวนกาซาที่ถูกปิดล้อม”
ระหว่างปี 1947 ถึง 1949 กองกำลังทหารไซออนิสต์โจมตีเมืองใหญ่ของปาเลสไตน์และทำลายหมู่บ้าน 530 แห่ง ชาวปาเลสไตน์ประมาณ 15,000 คนถูกสังหารในการสังหารหมู่อย่างต่อเนื่องมากกว่า 70 ครั้ง
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 1948 กองกำลังไซออนิสต์ได้กระทำการสังหารหมู่ที่อื้อฉาวที่สุดในหมู่บ้านเดียร์ ยัสซิน ในเขตชานเมืองด้านตะวันตกของกรุงเยรูซาเล็ม ชายหญิงและเด็กมากกว่า 110 คนถูกสังหารโดยกองกำลังติดอาวุธก่อนตั้งรัฐอิสราเอลที่ถูกรู้จักในชื่อ เออร์กัน (Irgun) และกลุ่มไซออนิสต์ติดอาวุธแก๊งสเติร์น (Stern Gang)
แท้จริงแล้วตั้งแต่ปี 1948 อิสราเอลแทบไม่เคยต้องรับโทษต่อการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และศักดิ์ศรีและสิทธิของชาวปาเลสไตน์ นานาชาติเมินเฉยยอมให้อิสราเอลละเมิดอย่างโจ่งแจ้งและซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ชาวปาเลสไตน์ส่วนใหญ่ที่หนีหรือถูกขับไล่ออกจากบ้านไม่เคยได้กลับไปยังปาเลสไตน์อีก ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่กลายเป็นรัฐอิสราเอล ลูกหลานของพวกเขาหลายล้านคนอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยหลายสิบแห่งในฉนวนกาซา เวสต์แบงก์ และประเทศใกล้เคียง
วันนี้สิทธิในการกลับบ้านเกิด (right of return) ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ การขับไล่ชาวปาเลสไตน์ในปี 1948 ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นปัญหาที่ยังคงเกิดขึ้นต่อไปแม้ชีวิตของผู้ลี้ภัยดั้งเดิมจะเดินเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้วก็ตาม
“การกลับมาของเราเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” และ “เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงนิรันดร์ของปาเลสไตน์” หนึ่งในป้ายที่ถูกถือโดยผู้ประท้วงในฉนวนกาซาระหว่างการจัดชุมนุมในฉนวนกาซารำลึก 74 ปีวันนักบา