5 สถานที่สำคัญของอิสราเอล ที่สร้างขึ้นบนซากชุมชนปาเลสไตน์

ชาวปาเลสไตน์ถูกบังคับให้ออกจากบ้านในช่วงนัคบา (Creative Commons)

หลังปฏิญญาบัลโฟร์ในปี ค.ศ. 1917 และการถูกปกครองใต้ “อาณัติ” ของอังกฤษเป็นเวลาหลายทศวรรษ ชาวปาเลสไตน์ถูกขับไล่ออกจากดินแดนของตนอย่างช้าๆ ในขั้นต้นโดยการซื้อที่ดินโดยกลุ่มไซออนิสต์ และต่อมาหลังอังกฤษถอนตัวจากปาเลสไตน์กลุ่มไซออนิสต์ก็ใช้กำลังทหารคุกคาม

ชาวปาเลสไตน์ราว 700,000 คนถูกไล่ออกจากบ้านของตนในช่วงนัคบา (Nakba) ที่มีความหมายว่า “ภัยพิบัติ” เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องที่เริ่มต้นด้วยการมาถึงของผู้ตั้งถิ่นฐานไซออนิสต์

พวกเขาถูกอิสราเอลห้ามและขัดขวางไม่ให้กลับบ้านเกิด ทุกวันนี้พวกเขาและลูกหลานมีจำนวนนับล้านและยังคงถูกเนรเทศพลัดถิ่น โดยส่วนใหญ่อยู่ในรัฐอาหรับใกล้เคียง

การขับไล่นี้ตามมาด้วยกระบวนการลบล้างทำลายร่องรอยเดิมของชาวปาเลสไตน์ และแทนที่ด้วยกลุ่มชาวยิวในพื้นที่ซึ่งอิสราเอลเข้ายึดครอง

ด้วยเหตุนี้ สถานที่สำคัญและเมืองต่างๆ ของอิสราเอลในปัจจุบันจึงถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ที่ชาวปาเลสไตน์เคยอาศัยอยู่ และต่อไปนี้คือสถานที่สำคัญ 5 แห่งของอิสราเอล ที่สร้างขึ้นบนซากของชุมชนปาเลสไตน์

1.มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ

หมู่บ้านเชคมูวันนี (Sheikh Muwanni) ของชาวปาเลสไตน์ซึ่งตั้งชื่อตามผู้ทรงศีลซึ่งมีหลุมฝังศพอยู่ภายในนั้น

ประชากรของหมู่บ้านเป็นสมาชิกของชนเผ่าอะบูกิช (Abu Kish) ชาวบ้านที่นี่เป็นที่รู้จักในหน้าประวัติศาสตร์ปาเลสไตน์เรื่องส้ม กล้วย และแตงโมที่ปลูกในสวนของพวกเขา

ส่วนหนึ่งมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่หมู่บ้านเชคมูวันนี (Sheikh Muwanni) ของชาวปาเลสไตน์

หลังจากพื้นที่ถูกจัดสรรให้ชาวยิวควบคุมในยุคอังกฤษและต่อมาภายหลังตามแผนแบ่งแยกดินแดนของยูเอ็น ที่สุดชาวบ้านในหมู่บ้านนี้จำใจละทิ้งบ้านเรือนของตนในเดือนมีนาคม 1948 ภายใต้การคุกคามจากกองกำลังติดอาวุธไซออนิสต์

หลังจากการมาถึงของนักรบติดอาวุธไซออนิสต์ ประชากรจำนวนมากจาก 2,000 คนในหมู่บ้านนี้ก็ได้หลบหนีไปยังเมืองกัลกิลิยา (Qalqiliya) และตุลการิม (Tulkarem) ทางฝั่งเวสต์แบงก์

พื้นที่ส่วนหนึ่งมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ของหมู่บ้านในปี 1956

2. สนามบินเบนกูเรียน

ทุกๆ ปีมีผู้โดยสารหลายล้านบินเข้ามาในอิสราเอลผ่านสนามบินเบนกูเรียน ซึ่งตั้งชื่อตาม เดวิด เบนกูเรียน นายกรัฐมนตรีคนแรกของอิสราเอล

สนามบินเบนกูเรียน

แต่ก่อนที่จะมีสนามบิน พื้นที่แห่งนี้ครั้งหนึ่งเคยมีชื่อว่า ลิดดา (Lydda) เป็นที่ตั้งของชุมชนผสมระหว่างชาวปาเลสไตน์มุสลิมและชาวคริสต์ รวมไปถึงชุมชนชาวยิวที่มีขนาดเล็กกว่า

ลิดดา ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ลอด ถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐอาหรับ-ปาเลสไตน์ ตามแผนแบ่งแยกดินแดนของสหประชาชาติ แต่ถูกกองกำลังไซออนิสต์ยึดครองก่อนการประกาศสถานะรัฐของอิสราเอล

ชาวปาเลสไตน์หลายหมื่นคน ซึ่งอาศัยอยู่ในลิดดา อพยพยไปยังชายแดนจอร์แดนในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ Lydda Death March

ภายในปี 1973 รันเวย์เล็กๆ ที่พื้นที่ดังกล่าวได้พัฒนาเป็นสนามบินนานาชาติ

3. ศูนย์สุขภาพจิต Kfar Shaul

ศูนย์สุขภาพจิต Kfar Shaul เป็นโรงพยาบาลจิตเวชของอิสราเอล ก่อตั้งขึ้นในปี 1951 บนพื้นที่ของหมู่บ้านเดียร์ยัซซิน (Deir Yassin) ต่อมาภายหลังสุสานของหมู่บ้านนี้ก็ถูกทำลายเพื่อสร้างถนนสายใหม่

ศูนย์สุขภาพจิต Kfar Shaul เป็นโรงพยาบาลจิตเวชของอิสราเอล

หมู่บ้านเดียร์ยัซซินตั้งอยู่ใกล้กรุงเยรูซาเล็ม เป็นที่เลื่องลือในการสังหารหมู่ชาวปาเลสไตน์ประมาณ 100 คนโดยชาวอิสราเอล ในเดือนเมษายน 1948

4. พิพิธภัณฑ์เอทเซล

พิพิธภัณฑ์ในเทลอาวีฟที่อุทิศให้กับองค์กรกึ่งทหารของไซออนิสต์ที่ช่วยขับไล่ชาวปาเลสไตน์หลายหมื่นคนออกจากบ้านของพวกเขา สร้างขึ้นบนหมู่บ้านชาวอาหรับในอดีต

พิพิธภัณฑ์เอทเซล

เอทเซล (Etzel) เป็นอีกชื่อหนึ่งของเออร์กัน (Irgun) ซึ่งเป็นหนึ่งในกองกำลังติดอาวุธไซออนนิสต์ก่อนตั้งรัฐอิสราเอลที่แข็งกร้าวที่สุด มีชื่อเสียงในการดำเนินการวางระเบิดโรงแรมคิงเดวิด (King David) ในปี 1946 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไป 91 ราย รวมถึงเจ้าหน้าที่อังกฤษ ชาวปาเลสไตน์ และชาวยิว

อาคารพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่บนพื้นที่ของหมู่บ้านอาหรับมันชิยา (Manshiya) ซึ่งถูกทำลายโดยกองกำลังติดอาวุธ เออร์กันระหว่างการรุกรอบพื้นที่จัฟฟาในเดือนเมษายน 1948

5.อุทยานแห่งชาตินาฮาล อเล็กซานเดอร์

ด้วยประชากรมากกว่าหนึ่งพันคน วาดีอัลฮาวาริด (Wadi al-Hawarith) เป็นสถานที่ตั้งแคมป์ของชาวเบดูอินที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองนาตาเนียของอิสราเอลในปัจจุบัน

อุทยานแห่งชาตินาฮาล อเล็กซานเดอร์ ที่ดินที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของผู้อยู่อาศัยดั้งเดิม

ชาวปาเลสไตน์ถูกบังคับให้ออกตามคำแนะนำของกองกำลังอาหรับอังกฤษและกองกำลังอาหรับ (Arab irregular forces) หลังจากการซุ่มโจมตีโดยกองกำลังติดอาวุธไซออนิสต์ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1948 ทำให้ชายอาหรับหลายคนเสียชีวิต

ชาวเบดูอินก่อนหน้านี้เชื่อว่าพวกเขาจะไม่ถูกทำร้ายโดยกองกำลังไซออนิสต์

ที่ดินที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของผู้อยู่อาศัยดั้งเดิม ถูกซื้อโดยกองทุนแห่งชาติของชาวยิว (Jewish National Fund ) ภายใต้กฎหมายเจ้าของที่ดินที่ไปอยู่ที่อื่น (absentee law) และต่อมาได้รวมเข้ากับอุทยานแห่งชาตินาฮาล อเล็กซานเดอร์

 

Source: https://www.middleeasteye.net