เตหะรานซัมมิต ตุรกี รัสเซีย อิหร่าน เดินหน้าร่วมมือ ต่อต้านการก่อการร้ายในซีเรีย

ตุรกี รัสเซีย และอิหร่าน ให้คำมั่นว่าจะยังคงร่วมมือกันเพื่อกำจัดผู้ก่อการร้ายในซีเรีย แถลงการณ์ไตรภาคีที่ออกมาหลังจากประธานาธิบดีของพวกเขาพบกันในกรุงเตหะรานเมื่อวันที่ 19 ก.ค.

ประธานาธิบดีตุรกี เรเยพ ตอยยิบ แอร์โดกัน ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน และประธานาธิบดีอิหร่าน อิบราฮีม ราอีซี ได้รวมตัวกันที่กรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่านเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งที่ 7 ภายใต้กรอบความร่วมมือกระบวนการเจรจาสันติภาพอัสตานา (Astana Process) เพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนาล่าสุดในซีเรีย การต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย โดยเฉพาะ PKK สาขาซีเรีย YPG และไอซิส ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงในภูมิภาค สถานการณ์ด้านมนุษยธรรม และการกลับประเทศโดยสมัครใจของชาวซีเรียผู้ลี้ภัย

แถลงการณ์ระบุว่า ทั้งสามประเทศ “ยืนยันถึงความมุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมืออย่างต่อเนื่องเพื่อกำจัดบุคคล กลุ่ม กิจการ และหน่วยงานของผู้ก่อการร้ายในท้ายที่สุด”

ปธน.ทั้งสามแสดงจุดยืน “คัดค้านต่อการยึดและโอนรายได้จากน้ำมันที่ควรจะเป็นของซีเรียอย่างผิดกฎหมาย”

พวกเขายัง “ปฏิเสธความพยายามทั้งหมดในการสร้างฉากทัศน์ใหม่บนดินแดนซีเรียภายใต้ข้ออ้างในการต่อสู้กับการก่อการร้าย รวมถึงการริเริ่มการปกครองตนเองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และแสดงความมุ่งมั่นที่จะยืนหยัดต่อต้านวาระการแบ่งแยกดินแดน” ในซีเรีย

แอร์โดกัน ปูติน และราอีซีกล่าวว่า ความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคนี้จักสัมฤทธิผลได้ก็ด้วยอาศัยการรักษาอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของซีเรียเท่านั้น

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า บรรดาผู้นำได้ทบทวนรายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่ในอิดลิบ และเน้นว่าจำเป็นต้องรักษาความสงบบนด้วยข้อตกลงทั้งหมดเกี่ยวกับอิดลิบที่ดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยตกลงที่จะพยายามเพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจว่าสถานการณ์จะกลับสู่สภาพปกติอย่างยั่งยืน ในและรอบๆ พื้นที่ลดระดับความรุนแรงในอิดลิบ รวมถึงสถานการณ์ด้านมนุษยธรรม

บรรดาผู้นำกล่าวว่า “ความขัดแย้งในซีเรียไม่สามารถแก้ด้วยการใช้กำลังทางทหาร” แต่ “สามารถแก้ไขได้ผ่านกระบวนการทางการเมืองที่นำโดยซีเรียและชาวซีเรีย ซึ่งอำนวยความสะดวกโดยสหประชาชาติ ตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 2254”

ประธานาธิบดีทั้งสามตกลงที่จะจัดการประชุมสุดยอดไตรภาคีครั้งต่อไปในรัสเซียตามคำเชิญของปูติน

กระบวนการสันติภาพของอัสตานาเริ่มต้นในเดือนมกราคม 2017 ตามความคิดริเริ่มของตุรกี รัสเซีย และอิหร่าน เพื่อจัดตั้งเขตหยุดยิงในซีเรีย ความคิดริเริ่มของอัสตานายังคงถูกใช้เป็นเวทีสนทนาประเด็นทางการเมืองและมนุษยธรรม

แถลงการณ์ไตรภาคีดังกล่าวได้รับการเปิดเผยหลังจากแอร์โดอันเรียกร้องให้รัสเซียและอิหร่านสนับสนุนความพยายามของตุรกีในการต่อสู้กับ “การก่อการร้าย” ในซีเรีย

องค์กรก่อการร้าย PKK มุ่งเป้าไปที่บูรณภาพแห่งดินแดนของซีเรีย แอร์โดอันกล่าวและเสริมว่า “การก่อการร้ายของ PKK, PYD และ YPG เป็นปัญหาทั่วไปสำหรับพวกเราทุกคน เราไม่ควรลืมว่าองค์กรก่อการร้ายมุ่งเป้าไปที่บูรณภาพอาณาเขตของซีเรีย”

“ในฐานะตุรกี เราไม่เห็นความแตกต่างใดๆ ระหว่างองค์กรก่อการร้าย การต่อสู้กับองค์กรก่อการร้ายของเราจะยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่คำนึงถึงว่าพวกเขาจะได้รับการสนับสนุนจากที่ไหนและโดยใคร” แอร์โดอันให้คำมั่น

เขาย้ำว่าตุรกีมุ่งมั่นที่จะขจัดองค์กรก่อการร้ายในซีเรียที่คุกคามความมั่นคง

“เรามุ่งมั่นที่จะกำจัดกลุ่มชั่วร้ายที่มุ่งเป้าไปที่ความมั่นคงของชาติของเราจากซีเรีย”

แอร์โดอันกล่าวว่าตุรกี รัสเซีย และอิหร่านได้หารือถึงขั้นตอนร่วมกันเพื่อยุติความขัดแย้งในซีเรีย และเสริมว่ามีเพียงวิธีแก้ปัญหาทางการเมืองสำหรับวิกฤตซีเรีย

ด้านผู้นำรัสเซียกล่าวว่าเตหะรานวัมมิตครั้งนี้เป็นการประชุมสุดยอดที่ “สร้างสรรค์และมีประโยชน์” ต่อวาระซีเรีย และทั้งสามประเทศเห็นพ้องต้องกันว่าวิกฤตซีเรียจะแก้ไขได้ด้วยการทูตเท่านั้น

ปูตินยังกล่าวอีกว่า รัสเซีย ตุรกี และอิหร่านพร้อมที่จะช่วยเหลืองานของคณะกรรมการรัฐธรรมนูญซีเรียอย่างต่อเนื่อง

มอสโก อังการา และเตหะรานปฏิเสธการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวต่อซีเรีย ปูตินกล่าว พร้อมเสริมว่า พวกเขายังคงยึดมั่นในอธิปไตย เอกราช เอกภาพ และบูรณภาพแห่งดินแดนของซีเรีย

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า รัสเซีย ตุรกี และอิหร่านประณามการปรากฏตัวและกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นขององค์กรก่อการร้ายในซีเรีย เช่นเดียวกับ “ตั้งรัฐบาลปกครองตนเองที่ผิดกฎหมาย” ในประเทศนี้ภายใต้ข้ออ้างในการต่อสู้กับการก่อการร้าย

ปูตินยังเน้นย้ำว่าความร่วมมือกับตุรกีกำลังพัฒนา “แบบไดนามิก” ในทุกสาขา

ด้านราอีซีแห่งอิหร่านกล่าวว่า การปรากฏตัวของสหรัฐฯ ทางตะวันออกของแม่น้ำยูเฟรตีส์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรียนั้น “ไม่เป็นที่ยอมรับ” และพวกเขาควรออกจากภูมิภาคนี้

เขากล่าวว่าประเทศผู้ค้ำประกันกระบวนการอัสตานาได้สนับสนุน “การแก้ปัญหาทางการเมือง” เสมอมาและแก้ไขวิกฤตภายใต้กรอบของข้อตกลงที่บรรลุ รวมถึงการจัดการการเจรจาเรื่องรัฐธรรมนูญของซีเรีย ในขณะที่ยืนยันความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับการก่อการร้ายทั่วทั้งภูมิภาครวมถึงซีเรีย

เขาเรียกร้องให้ “ยุติการปรากฏตัวของกลุ่มก่อการร้าย” ในซีเรีย พร้อมประณามการโจมตีของอิสราเอลในประเทศที่ถูกทำลายจากสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน เช่น สนามบินและท่าเรือ

ประธานาธิบดีอิหร่านยืนยันอีกครั้งว่าเตหะรานสนับสนุน “ประชาชนและรัฐบาลซีเรียอย่างเต็มกำลัง”

ราอีซียกย่องกระบวนการสันติภาพอัสตานาฃว่าเป็น “กรอบการทำงานที่ประสบความสำเร็จในการยุติวิกฤตซีเรียอย่างสันติ”

การประชุมสุดยอดครั้งที่ 7 นี้ นับเป็นการมาเยือนเตหะรานครั้งแรกของแอร์โดอันนับตั้งแต่เตหะรานได้รัฐบาลใหม่เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ปูตินก็ถือว่าเป็นการเดินทางระหว่างประเทศครั้งแรกของเขานอกพรมแดนของอดีตสหภาพโซเวียตตั้งแต่เริ่มสงครามยูเครน

การประชุมสุดยอดยังทำให้แอร์โดอันสามารถจัดการประชุมครั้งแรกกับปูตินนับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. แอร์โดอันกลายเป็นผู้นำของสมาชิก NATO คนแรกที่พบกับปูตินแบบเห็นหน้ากันตั้งแต่เมื่อเดือนที่แล้วที่กลุ่ม NATO ประกาศให้รัสเซียเป็นภัยคุกคามที่ “สำคัญที่สุด”

ปูติน ซึ่งมีอายุครบ 70 ปีในปีนี้ ได้เดินทางไปต่างประเทศไม่กี่ครั้งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และวิกฤตในยูเครน การเดินทางครั้งสุดท้ายของเขานอกเหนือจากอดีตสหภาพโซเวียตคือการไปจีนในเดือนกุมภาพันธ์

การประชุมสุดยอดมีขึ้นไม่กี่วันหลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เยือนตะวันออกกลางเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง โดยไปยังประเทศที่เป็นศัตรูระดับภูมิภาคของอิหร่าน อย่างอิสราเอล และซาอุดีอาระเบีย