“ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ใช้วาระครบรอบ 19 ปีเปิด “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล” อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัยสู่ภาคชุมชน ต่อยอดภาคทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติ มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
เมื่อวันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม 2565 ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำพิธีเปิด “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล” อย่างเป็นทางการ ในงานยังมีการจัดกิจกรรม “เดิน-วิ่งครบรอบ 19 ปี ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก
ศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้ได้รับความอนุเคราะห์พื้นที่ในการดำเนินงาน จากมูลนิธิมุฮัมมดียะฮฺ ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 89 หมู่ 4 ตำบลชุมพล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก
“ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ก่อตั้งมาแล้ว 19 ปี นับเป็นผู้นำในด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล พัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาได้สร้างผลงานที่มีคุณภาพและเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม
ซึ่งในวาระวาระครบรอบ 19 ปีแห่งการก่อตั้งองค์กร ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ จึงได้ใช้โอกาสนี้จัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล” ขึ้นมาโดยหวังนำองค์ความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน ต่อยอดภาคทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติ ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานมูลนิธิมุฮัมมดียะฮฺ กล่าวว่า “ในวาระครบรอบ 19 ปีของการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 13 สิงหาคม 2565 นี้ ทางศูนย์ฯ พร้อมทำพิธีเปิด “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล” และพิธีเปิดอาคารเอร์ฟาน-ยุพา ดะห์ลัน อย่างเป็นทางการ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์พื้นที่ในการดำเนินงาน จากมูลนิธิมุฮัมมดียะฮฺ ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 89 หมู่ 4 ตำบลชุมพล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก”
ดร.วินัยบอกว่า เจตนาการก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้มาจาก “แนวนโยบายของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จะขยายขอบเขตงานสู่การบริการภาคชุมชนและงานด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างนวัตกรรม สร้างธุรกิจฐานรากในชุมชน”
ดร.วินัยอธิบายว่า จากโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ “อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ”
“โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรด้วยการแปรรูป รวมถึงการปรับเปลี่ยนสินค้าเกษตรไปสู่การผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง”
“ศูนย์ฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีการเกษตรและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่เป็นที่ต้องการของตลาดจากวัตถุดิบทางการเกษตรและพืชในท้องถิ่น รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์แพลนต์เบส ดังนั้นการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมฮาลาลสามารถช่วยในการเพิ่มมูลค่าผลิตทางการเกษตรได้” ดร.วินัยกล่าว
“ศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านนวัตกรรมฮาลาล” (Halal Innovation Community Learning Center) เป็นการร่วมมือกันระหว่าง ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย มูลนิธิมุฮัมมะดียะฮฺ ซึ่งองค์กรทั้งสองนี้มีผู้นำคนเดียวกันที่ชื่อ “รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน”
ดร.วินัยบอกว่า ทั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มูลนิธิมุฮัมมะดียะฮฺ มีนโยบายร่วมกันที่จะสร้างศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้จากรั้มหาวิทยาลัยสู่ภาคชุมชน เป็นการต่อยอดภาคทฤษฏีสู่ภาคปฏิบัติ เน้นพัฒนาธุรกิจฮาลาลเพื่อเป็นโอกาสในการขยายตลาดของประเทศไทย และเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการรวมถึงเป็นศูนย์ฝึกในการพัฒนานวัตกรรมฮาลาลในด้านต่างๆ ”
“นอกจากนี้ศูนย์ฯ มีแผนงานที่ร่วมกับมูลนิธิมุฮัมมะดียะฮฺ ที่จะทำโรงเรียนสอนคิด (Thinking School) ให้กับเยาวชนในชุมชน เพื่อสร้างรากฐานกระบวนการคิดที่เป็นระบบ การสอนเพื่อให้เกิดการตั้งคำถาม เพื่อสร้างคนคุณภาพสู่สังคมต่อไป” รศ.ดร.วินัย กล่าว