เมื่อประเทศไทยต้องเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือผู้สูงวัยที่อายุเพิ่มขึ้นมีโอกาสเกิดภาวะตาบอดและสายตาเลือนรางสูงขึ้น ซึ่งต้อกระจกเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของภาวะสายตาเลือนรางและตาบอดในระดับประเทศและระดับโลก และยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่มาพบจักษุแพทย์เมื่อต้อสุกมากแล้ว และมีผู้ป่วยบางส่วนที่เข้าใจผิดเพราะได้ข้อมูลมาอย่างไม่ถูกต้องว่าต้องรอให้ต้อสุกก่อนจึงจะผ่าตัดได้ ทำให้อันตรายต่อดวงตาและยากต่อการรักษา ทั้งที่ควรมาพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ จะดีที่สุด
พญ.วีรยา พิมลรัฐ จักษุแพทย์ ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ต้อกระจก (Cataract) คือ ภาวะที่เลนส์ตาขุ่นจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างโปรตีน โดยปกติแล้วเลนส์ตาจะมีลักษณะใส ทำหน้าที่ในการรวมแสงให้ตกบนจอประสาทตา เมื่อเลนส์ตาขุ่นจะส่งผลกระทบต่อการรวมแสง ทำให้แสงผ่านไปถึงจอประสาทตาลดลง ทำให้เห็นภาพมัวลง โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด คือ อายุที่มากขึ้น โดยการเสื่อมของเลนส์ตามักเกิดขึ้นหลังอายุ 40 ปี ประมาณร้อยละ 20 จะเริ่มมีเลนส์ตาขุ่น และมากกว่าครึ่งจะเป็นต้อกระจกและเริ่มมีผลต่อสายตาเมื่ออายุเกิน 60 ปีขึ้นไป แม้ว่ามักพบในคนสูงอายุ แต่ก็สามารถเกิดได้ทุกช่วงวัยจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น อุบัติเหตุหรือได้รับการกระทบกระเทือนบริเวณดวงตา พันธุกรรมหรืออาจเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจพบในเด็กที่เป็นตั้งแต่กำเนิด ผลแทรกซ้อนจากโรคทางกายอื่น ๆ เช่น เบาหวาน ขาดสารอาหาร โรคอ้วน การใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ยาสเตียรอยด์ การฉายแสงรักษาโรค เช่น โรคมะเร็งที่ต้องได้รับการฉายแสงบริเวณศีรษะ เคยเป็นโรคตาบางชนิด เช่น การอักเสบหรือติดเชื้อ หรือเคยได้รับการผ่าตัดวุ้นตาหรือจอประสาทตามาก่อน การได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) หรือแสงแดดมาก ๆ เป็นเวลานาน การสูบบุหรี่ และดื่มสุรา เป็นต้น
ในความเป็นจริงแล้วระยะเวลาและอาการของต้อไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าต้อกระจกจะแย่ลงเร็วหรือช้าแค่ไหน แต่โดยทั่วไปต้อกระจกที่เกิดขึ้นจากความเสื่อมของเลนส์ตาตามวัยมักค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ ส่วนต้อกระจกจากสาเหตุอื่น อาจแย่ลงเร็วกว่าและมีผลกระทบต่อการมองเห็นมากกว่า ในแต่ละระยะของโรคต้อกระจกอาจมีแนวทางในการรักษาแตกต่างกัน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการและผลกระทบต่อการมองเห็นหรือต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ในระยะเริ่มต้นมักมีอาการเพียงเล็กน้อย อาจมีอาการตามัว เห็นภาพซ้อนในตาข้างใดข้างหนึ่ง เห็นแสงฟุ้งหรือเงารอบดวงไฟ มองเห็นแย่ลงในที่มืด แพ้แสงมากขึ้น เห็นสีสันมืดครึ้มลงหรือเห็นภาพเป็นสีเหลือง แยกแยะความแตกต่างของสีหรือระดับความสว่างของแสงยากขึ้น มักจะต้องเปลี่ยนแปลงค่าแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์บ่อย หรือบางคนอาจมีสายตาสั้นมากขึ้นจากต้อกระจก ทำให้อ่านหนังสือในระยะใกล้ได้โดยไม่ต้องใช้แว่นอ่านหนังสือ ในระยะหลัง ๆ หากต้อกระจกพัฒนาขึ้นจากเดิมจะทำให้มีอาการที่รุนแรงมากขึ้น ตามัวมากขึ้นหรือคล้ายมีฝ้าหมอกบัง โดยเฉพาะในเวลากลางวันหรือแสงแดดจ้า หรือตามองแทบไม่เห็นในที่มืด อ่านหนังสือลำบาก อาจมองเห็นเป็นจุดสีขาวกลางตาดำ และถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นในที่สุด
ต้อกระจกระยะเริ่มต้น การแก้ไขด้วยแว่นสายตาหรือการปรับแสงสว่างจะช่วยให้การมองเห็นชัดขึ้นได้ อย่างไรก็ตามต้อกระจกจะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาที่มีค่าสายตาสูงขึ้น ในปัจจุบันยังไม่มียากินหรือยาหยอดที่ทำให้ต้อกระจกลดลงหรือหายได้ ดังนั้นการรักษาคือผ่าตัดเท่านั้น ซึ่งการผ่าตัดในระยะก่อนต้อสุกจะทำได้ง่ายกว่า โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย การฟื้นตัวไว การมองเห็นจะดีขึ้นไม่นานหลังการผ่าตัด ทำให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยการผ่าตัดจะมี 2 วิธีหลัก ๆ คือ 1) การผ่าตัดแผลเล็กด้วยการสลายต้อกระจก (Phacoemulsification) เป็นการรักษาด้วยคลื่นอัลตราซาวนด์ หรือคลื่นเสียงความถี่สูงสลายต้อเป็นชิ้นเล็ก ๆ และดูดออก โดยการใช้เครื่องมือขนาดเล็กสอดผ่านแผลผ่าตัดเข้าไปในลูกตา จึงทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเพียง 3 มิลลิเมตร ไม่จำเป็นต้องเย็บแผล ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 20 – 30 นาที สามารถกลับบ้านได้ การมองเห็นจะดีขึ้นเร็ว ระยะพักฟื้นสั้น สามารถใช้ชีวิตเป็นปกติได้เร็ว ข้อดีอีกอย่างของวิธีนี้ คือ สามารถเลือกใช้เลนส์ตาเทียมแบบพับที่สามารถแก้ไขค่าสายตาสั้น ยาว และเอียงได้ หรือสามารถเลือกเลนส์ตาเทียมที่มีจุดโฟกัสมากกว่า 1 ระยะ เพื่อลดการพึ่งพาแว่นสายตาโดยเฉพาะแว่นอ่านหนังสือ ซึ่งนับว่าเป็นการแก้ไขค่าสายตาพร้อมกับการรักษาต้อกระจกได้ในคราวเดียวกัน โดยการสลายต้อกระจกแบบแผลผ่าตัดเล็กสามารถรักษาต้อกระจกในระยะแรก ๆ เท่านั้น หากต้อกระจกสุกเต็มที่หรือแข็งเกินไป อาจไม่สามารถใช้การรักษาด้วยวิธีนี้ได้
2) การผ่าตัดแผลใหญ่ (Extracapsular Cataract Extraction หรือ ECCE) เป็นการผ่าตัดโดยการเปิดแผลกว้างประมาณ 10 มิลลิเมตร เพื่อนำเลนส์ตาออกมาทั้งชิ้น และใส่เลนส์ตาเทียมชนิดแข็งเข้าไปแทนที่เลนส์ตาธรรมชาติ วิธีนี้เป็นการรักษาแบบเก่า ใช้รักษากรณีต้อกระจกสุกเต็มที่ แผลผ่าตัดค่อนข้างกว้าง ต้องเย็บแผล ใช้เวลาผ่าตัดและพักฟื้นนานกว่า อย่างไรก็ตามก่อนการผ่าตัดแพทย์จะตรวจตาทุกส่วนโดยละเอียด รวมทั้งการวัดและคำนวณกำลังของเลนส์ตาเทียมที่จะใส่ในระหว่างการผ่าตัดต้อกระจก ซึ่งแพทย์จะให้ข้อมูลต่าง ๆ แก่ผู้ป่วย สอบถามเกี่ยวกับกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ ความต้องการหรือความคาดหวังของผู้ป่วย แล้วจึงตัดสินใจร่วมกันในการพิจารณาเลือกวิธีการรักษาและชนิดของเลนส์ตาเทียมที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลการมองเห็นหลังผ่าตัดที่ดีที่สุดตามสภาพทางตาของผู้ป่วย
อย่างไรก็ตามแม้ว่าในทุกการผ่าตัดย่อมมีความเสี่ยง แต่การผ่าตัดต้อกระจกโดยจักษุแพทย์ที่มีความชำนาญประกอบกับเครื่องมือที่ทันสมัยในปัจจุบัน ถือเป็นการผ่าตัดที่มีอัตราการประสบผลสำเร็จสูง รวดเร็ว แทบจะไม่เจ็บปวด ซึ่งส่วนมากใช้เพียงยาชาเฉพาะที่ โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและผลอันไม่พึงประสงค์พบได้น้อย ดังนั้นหากมีอาการแล้วสงสัยว่าเป็นต้อกระจกควรเข้ารับการตรวจโดยเร็วที่สุด อย่าปล่อยให้ต้อสุกเพราะยิ่งทิ้งไว้นานยิ่งยากต่อการรักษาและรุนแรง ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร.1719 หรือ แอดไลน์ @bangkokhospital