23 องค์กรเครือข่ายคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้รณรงค์พร้อมแถลงการณ์ ขอพื้นที่ปลอดภัยและปราศจากความรุนแรงในตลาดและบนถนน วอนขอยุติความรุนแรงทุกรูปแบบเพื่อความสงบในพื้นที่ชายแดนใต้
พลังผู้หญิงกว่า 500 คน ร่วมเดินรณรงค์ร่วมยุติความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้หญิงเนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล(25 พ.ย.) เน้นลูกโป่งสีขาว เป็นสัญลักษณ์ของความปลอดภัย พร้อมสานเสวนา “เสียงของผู้หญิงในพื้นที่ ข้อห่วงใยและความหวังของผู้หญิงเพื่อความปลอดภัย” ในหอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา(มรย.) เมื่อเช้าวันที่ 25 พ.ย. 2558
เอกสารเผยแพร่ในงานรณรงค์สาธารณะนี้กล่าวว่า จากสถิติและกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่สำคัญในช่วง 11 ปีที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและในพื้นที่สาธารณะในพื้นที่ชายแดนใต้ มีเหตุการณ์ระเบิดจำนวน 3,121 ครั้ง สถิติสูงสุด คือ ปี 2550 ซึ่งมีถึง 471 ครั้ง การวางระเบิดที่รุนแรง คือ “คาร์บอมบ์” ที่เกิดขึ้นแล้วทั้งในย่านชุมชนและร้านค้า รวมแล้วกว่า 44 ครั้ง วางระเบิดรางรถไฟ ใช้อาวุธปืนยิงขบวนรถไฟ รวมเหตุร้ายทุกรูปที่เกิดกับรถไฟตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันมากกว่า 100 ครั้ง ทำให้ผู้หญิงเสียชีวิต 431 ราย ได้รับบาดเจ็บ 1,651 ราย
ในระยะเวลาเพียง 7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม 2557) มีผู้หญิงถูกสังหารไป 32 คน บาดเจ็บกว่า 60 คน ในจำนวนเหยื่อเหล่านี้บางคนเป็นนักศึกษา บางคนกำลังตั้งครรภ์ บางคนกำลังใส่บาตร บางคนกลายเป็นคนพิการ นอกจากการใช้วิธีการกราดยิงใส่ในร้านค้า ซึ่งเป็นที่ชุมชน มีการลอบยิงขณะกำลังขับขี่พาหนะบนถนน บางศพถูกทำลาย เช่น ราดน้ำมันเผา ตัดคอ เป็นต้น
ในจำนวนผู้หญิงที่ถูกสังหาร 32 รายนี้ เกิดขึ้นที่ปัตตานี 14 ราย ยะลา 13 ราย และนราธิวาส 5 ราย อายุน้อยที่สุดคือ 2 ขวบ มากสุด 62 ปี พบว่าเป็นคนพุทธ 25 คน เป็นมุสลิม 7 คน อาชีพมีความหลากหลาย อาทิ เกษตรกร ลูกจ้าง เจ้าของร้านค้าย่อย แม่ค้าขายของในตลาด พนักงานธนาคาร ครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน นักศึกษา ภรรยาตำรวจ ทั้งนี้ยังมีผู้หญิงพิการถูกยิงจนเสียชีวิตด้วยอีกหนึ่งรายวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 เพียงวันเดียวที่จังหวัดปัตตานี มีการวางระเบิดมากกว่า 20 จุด บริเวณตลาดและใกล้เคียงตลาด ย่านร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ใกล้สถานศึกษา ระเบิดเสาไฟฟ้า จนเป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิต 3 ราย เป็นเด็ก 2 คน และผู้หญิง 1 คน และได้รับบาดเจ็บ 63 ราย
ในเดือนมีนาคม 2558 ในระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือนมีการวางระเบิด 7 ครั้งในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมถึงการลอบยิงราษฎรและเหตุการณ์ความรุนแรงอื่นๆ รวมทั้งสิ้นประมาณ 30 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กและผู้หญิง 9 คน และบาดเจ็บรวมอีกทั้งหมด 20 คน
วันที่ 12 เมษายน 2558 มีการฆ่ายกครัวและเผาบ้านซ้ำที่อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ประชาชนเสียชีวิต 4 ราย เป็นชาย 2 หญิง 2 ทั้งหมดเป็นแม่ลูกคู่หนึ่งและสามีภรรยาอีกคู่หนึ่ง โดยเป็นการจับมัดมือไพล่หลังแล้วจ่อยิงที่ศีรษะ จากนั้นได้จุดไฟเผาบ้านซ้ำ
ซาวียะห์ มูซา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจากต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา ชุมชนพหุวัฒนธรรมของพี่น้องพุทธและมุสลิมกล่าวว่า ความเข้าใจและความสนิทสนมเป็นรากฐานที่ยังมีอยู่ของชุมชน ด้วยลักษณะของผู้หญิงสามารถเข้าถึงชุมชนมากกว่าผู้ชาย
“ในชุมชนท่าสาป เราอยู่กันมาด้วยความเป็นพี่เป็นน้องของพุทธและมุสลิม ช่วยเหลือกันและกัน จัดงานเลี้ยงก็แยกเตนท์ในงานเดียวกัน เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ต้องทำความเข้าใจต่อกัน ความเข้าใจและความสนิทสนมเป็นรากฐานที่ยังมีอยู่ พยายามสานต่อความเป็นพี่น้อง คอยประสานงานให้กับผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบและหน่วยงานต่างๆ ผู้หญิงเข้าถึงมากกว่าผู้ชายทั้งการพูดคุยและการปฏิบัติ ขอเรียกร้องพื้นที่ปลอดภัยให้มีทุกตารางนิ้ว”
ปาตีเมาะ เปาะอิตาดาโอะ ผู้อำนวยการสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ(We Peace) ผู้หญิงที่ประสบกับความสูญเสียบุคคลในครอบครัว ก้าวข้ามมาทำงานให้กำลังใจและเยียวยาคนที่เจอสถานการณ์เดียวกัน
“คนที่เจอสถานการณ์เดียวกันจะเข้าใจหัวอกเดียวกัน ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้หญิงทุกคนที่มีความรู้สึกเหมือนกัน เมื่อเริ่มต้นด้วยความเจ็บปวดแล้วแปรเปลี่ยนเป็นความเข้มแข็ง กลับไปหยิบยื่นกำลังใจให้ผู้ได้รับผลกระทบได้มีพลังมากขึ้น ผู้หญิงจึงต้องได้รับรู้ข้อมูลของสิทธิ์ที่ควรมี เรียนรู้กฎหมาย พัฒนาศักยภาพ แม้ผู้หญิงที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ก็ต้องการเช่นกัน”
“เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ทำให้ผู้หญิงลุกขึ้นมามีพลังในการส่งเสียงถึงความต้องการ ทุกคนไม่อยากเห็นความสูญเสียอีกต่อไป อยากขอพื้นที่ที่ปลอดภัยในตลาดและท้องถนน ตลาดเป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงไปจับจ่ายซื้อของ ตลาดคือชีวิต ที่สามารถก่อเหตุง่ายที่สุด รวมทั้งบนถนนสายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ขอให้นำไปเป็นประเด็นและข้อเสนอบนโต๊ะในการเจรจาสันติภาพด้วย”
ในความเป็นจริง ความปลอดภัยในทุกสถานที่คือความต้องการของทุกคน ทุกวัย หากสิ่งที่ผู้หญิงเรียกร้องในวันนี้คือการเริ่มต้นให้มีความปลอดภัยอย่างจริงจัง
เริ่มต้นกันในตลาดและบนถนน ตั้งแต่วันนี้และตลอดไป…
—–
23 องค์กรเครือข่ายคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ประกอบด้วย กลุ่มเซากูน่า กลุ่มด้วยใจ กลุ่มเครือข่ายสตรีเสื้อเขียวชายแดนใต้ กลุ่มออมทรัพย์สัจจะสตรี เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ( Civic Women) เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ เครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ เครือข่ายทรัพยากรชายแดนใต้ เครือข่ายชุมชนศรัทธา เครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี เครือข่ายอาสาสมัครยุติธรรมทางเลือก เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ เครือข่ายผู้หญิงธรรมาภิบาลชายแดนใต้ ชมรมข้าราชการมุสลีมะห์นราธิวาส ชมรมผู้นำมุสลีมะห์นราธิวาส มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace) สมาคมสวัสดิการมุสลีมะฮ์จังหวัดยะลา สภาประชาสังคมชายแดนใต้ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ศูนย์ฟ้าใส เครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กกำพร้า และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
กองบรรณาธิการ, โต๊ะข่าวชายแดนใต้