คนที่เคยดื่มและกินสมุนไพร “รางจืด” เพื่อลดไข้ แก้พิษจากสารเคมี และแก้เมา กันมาเป็นเวลายาวนานเรียกได้ว่าเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่ใช้กันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ต้องตกอกตกใจเมื่อจู่ๆ ก็มีประกาศจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ว่า “ไม่อนุญาตให้ใช้รางจืดเป็นอาหารหรือส่วนประกอบในอาหาร รวมทั้งเครื่องดื่ม”
นั่นหมายความว่า เครื่องดื่มสมุนไพรที่กินง่ายๆ ราคาถูกกว่ายาฝรั่งที่ดื่มกันเป็นประจำอย่าง ชารางจืด หรือ รางจืดที่เป็นแคปซูลใส่ขวดขาย ก็ต้องถูกห้ามไปด้วยหรือไม่?
ต้นเหตุของเรื่องมาจากที่มีผู้ประกอบการบางรายได้นำรางจืดไปผลิตเป็นเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุแบบปิดสนิท จึงมีการนำเรื่องไปหารือกับทาง อย. ซึ่ง อย.ก็ได้มีหนังสือชี้แจงด้วยเกรงว่า หากผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมดื่มแล้ว อาจทำให้ผู้บริโภคดื่มต่อเนื่องในปริมาณมาก จนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดย อย.ระบุว่ามีงานวิจัยบางชิ้นพบว่า หากกินเป็นเวลานาน “อาจทำให้” ระบบเลือด ตับ ไตทำงานผิดปกติ
จดหมายจาก อย.ฉบับนี้ลงวันที่ 22 กันยายน 2558 และต่อมาก็มีการเผยแพร่ มีการแชร์กันต่อไปจนเป็นข่าวแพร่หลาย ทำให้หลายคนอึ้งกันเป็นแถว เพราะกินรางจืดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษเพื่อการรักษาโรคและเพื่อสุขภาพมาช้านาน เหมือนสมุนไพรชนิดอื่นๆ ที่ก็กินกันทั่วไป แต่วันหนึ่งก็มีคนลุกขึ้นมาบอกว่า ห้ามกินแล้วนะ!?….คนกินตกใจยังไม่เท่าบรรดาเกษตรกรที่ปลูกรางจืดเป็นอาชีพ ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์รางจืดที่ถึงกับเงิบกันไป เรียกว่าส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เพราะถ้าห้ามกันแบบนี้คนที่ค้าขายรางจืดเป็นอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวย่อมเดือดร้อนหนัก ส่วน อย.จะว่าอย่างไรจากผลกระทบของการประกาศห้ามดังกล่าว ก็ไม่ได้มีพูดถึงไว้แต่อย่างใดเลย
ในแง่ดีการออกมาเตือน (อันที่จริงห้าม) ของอย.ก็ย่อมเป็นผลดีต่อผู้บริโภค ที่จะได้ตระหนักว่า ไม่ควรกินอะไรก็ตามติดต่อกันเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะ “การบริโภครางจืดต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบเลือด และทำให้ตับและไตทำงานผิดปกติ” (ย่อหน้าที่ 2 ของจดหมาย)
เป็นเรื่องที่ อย.ต้องให้ความรู้แก่ประชาชนต่อไปในรายละเอียดที่มากกว่าข้อความเพียงไม่กี่บรรทัดแต่ส่งผลกระทบไปในวงกว้าง เพราะในความเป็นจริงไม่ว่าจะเป็นสมุนไพร หรือยาชนิดใดๆ ก็ตาม ถ้าใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานก็ล้วนเป็นพิษต่อร่างกายทั้งนั้น หรือแม้แต่อาหารที่กินกันอยู่ทุกวันเช่น ผัก ผลไม้ ถ้ากินอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำๆ ติดต่อกันนานๆ ก็ย่อมไม่เกิดผลดีเช่นเดียวกัน
ด้านนิตยสารชีวจิต มีการนำเสนอบทความดังกล่าว ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมโดยระบุคำแนะนำถึงการกินหรือใช้รางจืดอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยเภสัชกรณ์หญิง ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ไว้ดังนี้
• ชนิดชาซอง ที่มีน้ำหนักซองละ 2-3 กรัม สามารถชงดื่มกับน้ำร้อนปริมาณ 200 มิลลิลิตร ได้ วันละ 3 ซอง
ชนิดต้มจากใบสด สามารถใช้ใบรางจืด 5-7 ใบ ล้างให้สะอาด ใส่ลงในกาน้ำที่บรรจุน้ำเกือบเต็ม ต้มจนเดือดทิ้งไว้ 15-20 นาที ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 4-5 ครั้ง
• ชนิดแคปซูล ข้อมูลจากมูลนิธิสุขภาพไทยแนะนำว่า สามารถกินครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
นอกจากนี้ ดร.สุภาภรณ์ ยังแนะนำหลักในการกินรางจืดที่ถูกต้องและปลอดภัยว่า ไม่ควรกินในปริมาณความเข้มข้นที่สูงเกินไป สามารถกินหรือดื่มติดต่อกันได้ทุกวัน แต่ถึงอย่างนั้น ก็ควรดื่มชาสมุนไพรชนิดอื่นหมุนเวียนกันไป เพื่อให้ร่างกายเกิดความสมดุล
นอกจากผลเสียของรางจืดที่ อย.ระบุไว้ในจดหมายดังกล่าวแล้ว ลองมาตรวจสอบงานวิจัยที่มีการศึกษาค้นคว้ากันมาหลายสิบปีเกี่ยวกับรางจืด เพื่อเพิ่มเติมเป็นข้อมูลความรู้ให้ครบถ้วนรอบด้านยิ่งขึ้น ดังนี้
• พ.ศ. 2521 นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นกลุ่มแรกที่ทดลองป้อนผงรากรางจืดให้หนูทดลองก่อนให้น้ำยาสตริกนินแต่พบว่าไม่ได้ผล หนูชักและตาย แต่ถ้าผสมกับน้ำยาสตริกนินก่อนป้อน พบว่าหนูทดลองไม่เป็นอะไร แสดงว่าผงรากรางจืดสามารถดูดซับสารพิษชนิดนี้ไว้
• พ.ศ. 2523 อาจารย์พาณี เตชะเสน และคณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้น้ำคั้นใบรางจืดป้อนหนูทดลองที่กินยาฆ่าแมลง “โฟลิดอล” พบว่าแก้พิษได้ ลดอัตราการตายลงจาก 56% เหลือเพียง 5% เท่านั้น ในขณะที่วิธีการฉีดกลับไม่ได้ผล
• พ.ศ. 2543 รายงานวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าสารสกัดแห้งของน้ำใบรางจืดมีผลลดความเป็นพิษของตับจากแอลกอฮอล์ได้
• พ.ศ. 2548 พรเพ็ญ เปรมโยธิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานผลว่าสารสกัดน้ำรางจืดแสดงฤทธิ์ดังกล่าว ทั้งในหลอดทดลองและในหนูทดลอง นอกจากนี้ยังพบว่า สารสกัดน้ำใบรางจืดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วย
• กุมภาพันธ์ 2551 มีข่าวเรื่องน้ำคั้นใบรางจืดช่วยชีวิตผู้ป่วยอาการหนักมากจากพิษแมงดาทะเล ซึ่งได้รับการยืนยันจากแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพรเขตอุดมศักดิ์ แสดงว่ารางจืดมีสรรพคุณในการกำจัดพิษในร่างกายตามที่ตำรายาไทยระบุไว้
• พ.ศ. 2551 สุชาสินี คงกระพันธ์ ใช้สารสกัดแห้งใบรางจืดป้อนหนูทดลองที่ได้รับยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกนโนฟอสเฟตชื่อมาราไธออน พบว่าช่วยชีวิตได้ 30%
• พ.ศ. 2553 จิตบรรจง ตั้งปอง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พบว่าสารประกอบในใบรางจืดช่วยป้องกันการตายของเซลล์ประสาทของหนูทดลองที่ได้รับพิษจากสารตะกั่ว จึงสามารถป้องกันการสูญเสียการเรียนรู้และความจำได้อย่างมีนัยสำคัญ
• พ.ศ.2554 อัญชลี จูฑะพุทธิ ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยที่ทำไว้เมื่อปี 2553 ชื่อ “รางจืด: สมุนไพรล้างพิษ” นำมารวบรวมจัดพิมพ์โดย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยมีทั้งข้อมูลที่ได้จากการวิจัยและประวัติการใช้ยาจากสมุนไพรรางจืดในโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งมามากกว่า 10 ปี
• รางจืดได้รับการคัดเลือกเป็นยาพัฒนาจากสมุนไพรรายการหนึ่งใน “บัญชียาจากสมุนไพร” ในส่วนของเภสัชตำรับโรงพยาบาลในบัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554
อย่างไรก็ตาม สำหรับการทดลองในคนยังมีไม่มากนัก โดย นพ.ปัญญา อิทธิธรรม ได้เคยทดลองเก็บข้อมูลการใช้สมุนไพรรางจืดในเกษตรกรซึ่งสัมผัสสารฆ่าแมลง ทั้งกลุ่มไม่ปลอดภัย กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มปลอดภัย โดยตรวจจากระดับเอนไซม์ในร่างกายที่เพิ่มขึ้นเมื่อได้รับสารพิษนี้ พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่มที่กินและไม่ได้กินสารสกัดน้ำรางจืด แต่ยังสรุปไม่ได้ชัดเจนเพราะมีปัจจัยที่แตกต่างของพื้นฐานร่างกายอื่นๆ ของอาสาสมัคร เช่น ความแข็งแรง อายุ เป็นต้น
อภิรดี จูฑะศร เป็นอดีตผู้สื่อข่าวภูมิภาค (ภาคใต้) นสพ.ผู้จัดการรายวัน อดีตหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์และครีเอทีฟบริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ 2 ค่ายดังของเมืองไทย ก่อนมารับตำแหน่งบรรณาธิการบริหารนิตยสารในเครือจีเอ็ม กรุ๊ป เป็นอดีตเลขาธิการสมาคมนักข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2546-2548 มีบทบาทร่วมเคลื่อนไหวและรณรงค์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ผืนป่าตะวันตก และต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและการทารุณกรรมสัตว์ ตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน เคยเป็นเลขาธิการมูลนิธิ Wildlife และ เป็นกรรมการกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ มีผลงานเขียนทั้งบทความ สารคดี บทกวี เรื่องสั้น และบทสัมภาษณ์คนดังหลายวงการในหน้านสพ.และนิตยสารหลายเล่มตลอดกว่า 25 ปีในแวดวงสื่อสารมวลชน ปัจจุบันเป็นครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ บ.มีเดีย โร้ด , บรรณาธิการ/ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ. The Public Post