UNFPA ลงพื้นที่แม่ฮ่องสอน-เชียงใหม่ ติดตามโครงการ “คลอดปลอดภัยสำหรับทุกคน”

UNFPA – กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ลงพื้นที่แม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ เยี่ยมชมโครงการการคลอดอย่างปลอดภัยสำหรับทุกคน (Safe Birth for All) และพลังแม่วัยรุ่น (Power Teen Mothers)

ดร. โอซา ทอคิลส์สัน ผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศมาเลเซียและผู้อำนวยการกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย และนางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศ ไทย พร้อมด้วย นายแพทย์สุรพันธ์ แสงสว่าง ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ นายแพทย์บัณฑิต ดวงดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สะเรียง นายโรฮิต จินดาล และผู้บริหารบริษัท เรกคิทท์ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าหน้าสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดเชียงใหม่ และสื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการภายใต้ความร่วมมือของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และเรกคิทท์ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโพซอ และบ้านแม่เหลอ ต.เสาหิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และกลุ่มฅนวัยใส ต.ดอนแก้ว อ.สารภี จ.เชียงใหม่

ดร. โอซา ทอคิลส์สัน ผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศมาเลเซียและผู้อำนวยการ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า UNFPA หรือ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ได้ดำเนินโครงการการคลอดอย่างปลอดภัยสำหรับทุกคน หรือ Safe Birth for All ร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และเรกคิทท์ โดยเป็นความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน มาตั้งแต่ พ.ศ. 2563 ซึ่งมีการระบาดของ COVID-19 และได้ทำให้การขับเคลื่อนงานขององค์การสหประชาชาติในประเทศไทยขยายเป็นวงกว้างในด้านการช่วยเหลือสตรีมีครรภ์และเด็กหญิงวัยรุ่นในกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลของประเทศไทย โดยสามารถทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ผู้หญิงและเด็กหญิง มากกว่า 30,000 คน มีการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและการคลอดบุตรที่ปลอดภัยแม้จะอยู่ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ผลจากความร่วมมือนี้ได้นำไปสู่การระดมทุนระยะยาวจากสำนักงานใหญ่ของเรกคิทท์และประเทศไทย ในปี พ.ศ.2565-2569 เพื่อขับเคลื่อนการยืนยันในสิทธิและทางเลือกของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่เปราะบาง ส่งเสริมบรรทัดฐานทางเพศในเชิงบวก สนับสนุนผู้หญิงและเด็กผู้หญิงให้มีสิทธิและมีทางเลือกของตัวเองซึ่งจะดำเนินการสนับสนุนการทำงานของกลุ่มฅนวัยใส จ.เชียงใหม่

“UNFPA เป็นหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติ ที่ดูแลเรื่อง Reproductive health หรือ อนามัยการเจริญพันธุ์ เรามุ่งมั่นทำงานเพื่อที่จะมั่นใจได้ว่า สตรีได้ตั้งครรภ์โดยตั้งใจ ไม่ได้ถูกละเมิด หรือกระทำความรุนแรง และมีการคลอดอย่างปลอดภัยทั้งแม่และลูก โดย UNFPA ทำงานทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ด้วยการสนับ สนุนและร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งโครงการ Safe Birth for All ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จและยังได้รับรางวัลเลิศรัฐอีกด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นพื้นที่ห่างไกล และกลุ่มสตรีตั้งครรภ์เข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ยาก รวมทั้งอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่โครงการนี้ก็ยังประสบความสำเร็จและสามารถรักษาชีวิตของทั้งแม่และลูกได้ ด้วยความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผดุงครรภ์โบราณ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง นับเป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่ง UNFPA จะได้นำรูปแบบของโครงการนี้ไปเป็นแนวทางต่อโครงการอื่นๆ ที่จะดำเนินการในประเทศอื่นๆ ต่อไป นอกจากจากนี้ยังจะนำไปสู่ความต่อเนื่องในการสนับสนุนการส่งเสริมคุณแม่วัยรุ่นและแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เป็นหนึ่งในกลุ่มที่เปราะบาง พัฒนากลไกในการพัฒนาทุนมนุษย์ในทุกกลุ่มประชากร ซึ่งสามารถตอบโจทย์เป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศไทยในปัจจุบันอีกด้วย” ดร. โอซา กล่าว

นางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติได้ประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐบาล หน่วยงานเอกชน นักลงทุน ภาคการเงินการธนาคาร และประชาชนคนไทยทุกคนผนวกเข้าด้วยกันเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เกิดความยั่งยืน ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติได้ดำเนินงานด้านความร่วมมือในประเทศไทยมาต่อเนื่องยาวนาน และจะครบ 76 ปี ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้แล้ว โดยการดำเนินงานมุ่งเน้น 3 เรื่องหลัก ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยลดอัตราการปล่อยคาร์บอน (Reduce carbon emission) ในประเทศไทยและทั่วทั้งภูมิภาค ตามนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลไทย การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจ ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลไทย และการสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง

“องค์การสหประชาชาติมีโครงการต่างๆ มากมายที่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลไทย หนึ่งในนั้นคือโครงการโครงการการคลอดอย่างปลอดภัยสำหรับทุกคน หรือ Safe Birth for All เราได้พบปะและพูดคุยกับผดุงครรภ์โบราณ ได้เห็นการทำงานอย่างทุ่มเท และการช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะเกิดความปลอดภัยต่อสตรีมีครรภ์ และลดการสูญเสียแม่และเด็กในระหว่างคลอด โดยความร่วมมือของหน่วยงานจากรัฐบาลไทย ภาคเอกชนอย่างเรกคิทท์ ได้ทำงานร่วมกับองค์กรสหประชาชาติอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นำไปสู่การได้รับรางวัลเลิศรัฐจากผลงานเชิงประจักษ์ ในนามขององค์การสหประชาชาติขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งชาวบ้านในพื้นที่ หน่วยงานสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ของไทย รวมถึง UNFPA และภาคเอกชนอย่างเรกคิทท์ที่ได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ เราได้เห็นความตั้งใจและมุ่งมั่นในการช่วยเหลือประชาชน ความทุ่มเทในการทำงาน และสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้เกิดขึ้นต่อไป” นางกีต้า กล่าว

ด้าน นายแพทย์สุรพันธ์ แสงสว่าง ผู้อำนวยการ ศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า ในจังหวัดพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงยาก ทำให้มีหญิงตั้งครรภ์จำนวนมากไม่สามารถไปคลอดที่โรงพยาบาล ต้องคลอดที่บ้าน บางครั้งเกิดการตกเลือด ติดเชื้อ และเสียชีวิต โครงการ Safe Birth for All ได้เสริมทักษะให้แก่หมอตำแยหรือผดุงครรภ์โบราณกว่าหนึ่งพันคน พร้อมด้วยและเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อให้เกิดความสะอาด มีความปลอดภัย ลดการติดเชื้อ รวมถึงมี อสม. และเจ้าหน้าสาธารณสุข คอยติดตามนับตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงภายหลังคลอด รวมไปถึงการบันทึกการคลอดเพื่อออกหนังสือรับรองการเกิดหรือสูติบัตรให้แก่เด็กต่อไป

ขณะที่ นายโรฮิต จินดาล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร บริษัท เรกคิทท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เรกคิทท์ได้สนับสนุนการดำเนินงานขององค์การสหประชาชาติมาโดยตลอด และรู้สึกยินดีที่ได้เห็นความสำเร็จของโครงการซึ่งเกิดประโยชน์แก่ทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสตรีตั้งครรภ์ในพื้นที่ห่างไกลที่ได้รับการดูแลให้คลอดอย่างปลอยภัยผ่านโครงการ Safe Birth for All ซึ่งดำเนินงานโดย UNFPA ในประเทศไทย และเรกคิทท์ยืนยันจะสนับสนุนการทำงานของ UNFPA อย่างต่อเนื่อง โดยแนวทางในอีก 4 ปีข้างหน้านี้ จะให้การสนับสนุนโครงการ Power Teen Mothers ที่จะเน้นด้านเพศศึกษาเพื่อให้เด็กหญิงวัยรุ่นสามารถดูแลสุขภาพในระหว่างตั้งครรภ์ และมีความรู้ความรู้ในการเลี้ยงดูลูก รวมทั้งได้รับการยอมรับกลับเข้าไปในสังคมและดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างปกติภายหลังคลอดลูกแล้ว