ถกเถียงกันมานานหลายปี เกี่ยวกับเรื่องของพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือพืชจีเอ็มโอ (GMOs: Genetically Modified Organisms) อันมีความข้องเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. … ที่หลายรัฐบาลมีความพยายามในการผลักดันผ่านสภาอยู่หลายครั้งหลายหน แต่ก็ต้องพับกฎหมายนี้เก็บเข้าลิ้นชักไปเพราะมีเสียงต้านจากหลายๆ ฝ่าย นำโดยกลุ่มเอ็นจีโอ
ที่มาที่ไปของ ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ นี้ เริ่มต้นขึ้นในปี 2544 โดยมีภาคประชาสังคมเป็นผู้ร่าง เพื่อผลักดันให้มีการควบคุมวิจัย GMOs ที่เหมาะสมด้วยหลักการ “ป้องกันไว้ก่อน ให้มีการเยียวยาความเสียหาย และต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร” การปลูกพืชจีเอ็มโอจึงมีให้เห็น ท่ามกลางเสียงสนับสนุนและกระแสต่อต้าน ในปี 2544 ซึ่งถือเป็นปีแรกที่ไทยนำพืชจีเอ็มโอเข้ามาปลูกครั้งแรก คือฝ้าย หรือที่หลายคนเรียกฝ้ายจีเอ็มโอชนิดนี้ว่า “ฝ้ายบีที” ที่ต่อมาเกิดปัญหาหลุดรอดจากแปลงทดลองไปปนเปื้อนกับฝ้ายของเกษตรกรรายอื่น จนเป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่การผลักดัน พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพโดยภาคประชาชน
ต่อมาในปี 2547 ก็เกิดปัญหาการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอ จนเกิดกระแสการต่อต้านพืชจีเอ็มโอของเหล่าผู้บริโภค และกลุ่มเอ็นจีโอในวงกว้าง จนกระทั่งปี 2550 ซ้ำอีกระลอกด้วยกรณีมะละกอของไทยถูกสหภาพยุโรป (EU) ตีกลับ เนื่องจากตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอ
หลังจากปี 2550 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในขณะนั้นจึงมีมติห้ามปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมในแปลงเปิด ซึ่งยังคงเปิดช่องให้สามารถปลูกเป็นเฉพาะรายได้ แต่ต้องปลูกเฉพาะในพื้นที่ของราชการเท่านั้น รวมถึงต้องมีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ให้สาธารณชนรับทราบด้วย
ส่วน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับเจ้าปัญหาที่ถูกร่างเมื่อปี 2547 โดยการผลักดันของ สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (Biotec) ร่างนี้เองที่ทำให้กลุ่มเอ็นจีโอโจมตีหนักหน่วง โดยระบุว่า มีบริษัทค้าเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่เป็นผู้ผลักดันร่างพ.ร.บ.นี้อยู่เบื้องหลัง ทำให้กฎหมายควบคุม GMOs เปลี่ยนเจตนารมณ์เพื่ออนุญาตไปสู่เชิงพาณิชย์ในที่สุด
ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ฟากของนักวิชาการและนักวิจัยก็มองว่า ที่ผ่านมางานวิจัยเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพ หรือพืชจีเอ็ม ในเมืองไทยถูกจํากัดอยู่แค่งานวิจัยในโรงเรือนปิดมากว่า 10 ปี ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอนุญาตให้มีการวิจัยระดับแปลง และขยายผลเชิงพาณิชย์เกือบหมดแล้ว โดยมีรายงานระบุว่า ประเทศในเอเชียที่ยอมรับและมีการปลูกพืชจีเอ็มโอ ได้แก่ จีน อินเดีย บังกลาเทศ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย
แต่ที่เมืองไทยไม่มีความคืบหน้าของการวิจัยก็สืบเนื่องจากเหตุผลเรื่องความไม่ปลอดภัยของผู้บริโภคและความกังวลเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทําให้คนไทยขาดความเชื่อมั่นและหวาดกลัว แต่ขณะเดียวกันกลับยอมให้มีการนําเข้าผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพืชจีเอ็มโอเข้ามาบริโภคในประเทศนานแล้ว โดยไทยมีการนำเข้าเป็นจำนวนมากในแต่ละปี เช่น ถั่วเหลือง คิดเป็นมูลค่า 34,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นในปี 2555 เป็น 39,000 ล้านบาท ขณะที่การนำเข้าฝ้ายในปี 2554 มีมูลค่า 34,000 ล้านบาท และในปี 2555 มูลค่า 23,400 ล้านบาท
และเมื่อรัฐบาลทหารในนาม คสช.หยิบยกร่างพ.ร.บ.นี้มาปัดฝุ่นแบบหักดิบ ซึ่งก็แน่นอนว่ารัฐบาลที่มาจากประชาชนย่อมไม่กล้าหักด้ามพร้าด้วยเข่า จึงต้องฟังเสียงรอบด้านจากหลายๆ ฝ่าย โอกาสที่กฎหมายนี้จะเกิดจึงค่อนข้างยาก แต่ย่อมไม่ใช่สำหรับรัฐบาล คสช.เป็นแน่ เพราะสามารถผ่านร่างกฎหมายต่างๆ ที่ว่า “หิน” ให้ออกมาประกาศใช้ได้โดยง่ายหากต้องการ ร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอนี้ก็เช่นกัน
เมื่อข้อถกเถียงยังอื้ออึงในสังคม ก็น่ามาชั่งน้ำหนักกันดูว่า มีเหตุผลและประเด็นอะไรบ้างที่เป็นสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. … ที่ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างหักล้างกัน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้เป็นข้อมูลพิจารณาจากทั้งสองฝ่าย
เหตุผลหลักของฝ่ายต่อต้าน
• ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ยึดหลักความปลอดภัยไว้ก่อน (Pre-Cautionary Principle)
• ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้คำนึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม
• ร่างกฎหมายฉบับนี้โดยหลักการคือการเปิดเสรีจีเอ็มโอ
• ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับให้ต้องทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
• ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับให้การขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมต้องทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ
• ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดจากจีเอ็มโอในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม
• ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่มีบทคุ้มครองเกษตรกรที่พืชผลถูกจีเอ็มโอปนเปื้อน
• ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ระบุหลักประกันทางการเงินกรณีเกิดความเสียหายจากจีเอ็มโอ
• ร่างกฎหมายฉบับนี้ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างรุนแรง
(อ่านรายละเอียดของแต่ละประเด็นเหตุผลทั้ง 9 ข้อนี้ได้ที่ http://www.biothai.net/node/30026 )
เหตุผลหลักของฝ่ายสนับสนุน
• จีเอ็มโอเป็นเทคโนโลยีที่มีคุณประโยชน์ต่อวงการเกษตรกรรม ประเทศเกษตรกรรมอย่างไทยจึงควรเปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ที่จะทำให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง
• จีเอ็มโอเป็นเทคโนโลยีที่มีการบุกเบิกทำมานานกว่า 20 ปี เช่น มะละกอจีเอ็มโอที่มีการบริโภคกันโดยทั่วไป โดยที่ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ และเป็นแนวโน้มของโลกที่ไทยต้องตามให้ทัน หากอยากเป็น “ครัวของโลก” ตามนโยบายที่หลายๆ รัฐบาลได้ชูธงไว้
• จีเอ็มโอช่วยให้พืชมีคุณสมบัติที่ดีตรงตามความต้องการ เพราะเป็นการดัดแปลงพันธุกรรมพืชให้มียีนที่พึงประสงค์ หรือตัดยีนที่ไม่พึงประสงค์ออกไป เช่น ทำให้พืชมีความสามารถในการต้านทานยาปราบศัตรูพืชได้เอง ซึ่งมีประโยชน์ในการช่วยลดปริมาณการใช้ยาหรือสารเคมีในการทำเกษตรกรรม จึงช่วยให้ประหยัดต้นทุนการผลิต
• จีเอ็มโอมีความปลอดภัย เนื่องจากในต่างประเทศมีการซื้อขายและบริโภคจีเอ็มโอกันมานานแล้ว และมีการบริโภคกันมากขึ้นทั่วโลก อาทิ ถั่วเหลือง ฝ้าย ซึ่งในสหรัฐฯ กว่า 95% เป็นจีเอ็มโอทั้งหมด จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้จีเอ็มโอเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันแล้ว
• จีเอ็มโอช่วยรองรับกับการผันแปรของสภาพอากาศในอนาคตที่จะมีผลต่อระบบเกษตรกรรม เพราะที่ผ่านมาภาวะโลกร้อนทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ในพืชขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก นักวิทยาศาสตร์จึงจำเป็นต้องสร้างพืชที่สามารถต้านทานโรคได้เพื่อความมั่นคงทางอาหารของโลก
• จีเอ็มโอมีข้อดีกว่าการปรับปรุงพันธุ์ตามธรรมชาติ โดยสามารถทำได้เร็วกว่า แม่นยำกว่า ในราคาที่เท่ากัน และยังสามารถคงพันธุ์พืชเดิมไว้ได้ด้วย ซึ่งการทำจีเอ็มโอนั้นไม่ได้ทำกับพืชทุกชนิด แต่มักทำเฉพาะกับพืชเศรษฐกิจที่มีปัญหาโรคหรือแมลงศัตรู
• ช่วยให้การลักลอบปลูกพืชจีเอ็มโอ เข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกกฎหมาย และทำให้งานวิจัยด้านจีเอ็มโอเดินหน้าเกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะนำมาสู่การตอบคำถามสังคม และการต่อยอดเพื่อประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม ที่จะช่วยพลิกโฉมหน้าการเกษตรแบบใหม่ให้ใช้สารเคมีน้อยลง และสามารถแก้ปัญหาพืชได้อย่างตรงจุด
• การปลูกจีเอ็มโอคือทางเลือกใหม่ ที่ไม่มีใครบังคับ ใครอยากได้เมล็ดพันธุ์ที่ถูกแก้ปัญหามาแล้วก็ซื้อ หากคิดว่าแพงหรือไม่ปลอดภัยก็ไม่ต้องซื้อ เท่ากับเป็นการเปิดเสรีทางการเกษตรเพื่อรองรับตลาด ทั้งที่ต้องการจีเอ็มโอและไม่เอาจีเอ็มโอ
• ลดการกีดกันทางการค้า เนื่องจากติดปัญหาการเป็นสินค้าจีเอ็มโอลักลอบ อันมาจากปัญหา พ.ร.บ.จีเอ็มโอของไทย ทั้งที่หลายประเทศเปิดรับซื้อสินค้าจีเอ็มโอแล้ว เช่น ญี่ปุ่น และ สหภาพยุโรป หรือ อียู ที่ได้ออกประกาศกฎระเบียบการกำหนดขั้นตอนการยื่นขออนุญาตสินค้าอาหารและอาหารสัตว์ที่มีการดัดแปลงพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ รวม 49 ชนิดสินค้า เข้ายังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปได้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2556 (ยกเว้นประเทศกลุ่มยุโรปตะวันออก อาทิ ฝรั่งเศส อิตาลี ออสเตรีย)

อภิรดี จูฑะศร เป็นอดีตผู้สื่อข่าวภูมิภาค (ภาคใต้) นสพ.ผู้จัดการรายวัน อดีตหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์และครีเอทีฟบริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ 2 ค่ายดังของเมืองไทย ก่อนมารับตำแหน่งบรรณาธิการบริหารนิตยสารในเครือจีเอ็ม กรุ๊ป เป็นอดีตเลขาธิการสมาคมนักข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2546-2548 มีบทบาทร่วมเคลื่อนไหวและรณรงค์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ผืนป่าตะวันตก และต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและการทารุณกรรมสัตว์ ตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน เคยเป็นเลขาธิการมูลนิธิ Wildlife และ เป็นกรรมการกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ มีผลงานเขียนทั้งบทความ สารคดี บทกวี เรื่องสั้น และบทสัมภาษณ์คนดังหลายวงการในหน้านสพ.และนิตยสารหลายเล่มตลอดกว่า 25 ปีในแวดวงสื่อสารมวลชน ปัจจุบันเป็นครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ บ.มีเดีย โร้ด , บรรณาธิการ/ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ. The Public Post