วุฒิสภา ติวเข้ม ขรก.กู้ชีพผู้ป่วยฉุกเฉิน

วุฒิสภา ติวเข้ม ขรก.กู้ชีพผู้ป่วยฉุกเฉิน จัดซ้อมแผนเผชิญเหตุหากพบคนล้มหมดสติฉับพลัน เพื่อความชำนาญปฐมพยาบาลเบื้องต้น เตรียมตั้งทีม “ฝ่ามือจันทรา CPR พาชีวิตรอด” พร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในรัฐสภา

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ร่วมกับ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมจัดโครงการ “อบรมการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน และการใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ แบบอัตโนมัติ (CPR&AED)” พร้อมกับกิจกรรม “การซ้อมแผนปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินและเส้นทางการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินนำส่งโรงพยาบาล” ภายใต้ โครงการรัฐสภาร่วมใจรวมพลังสร้างสุข สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และโครงการสื่อสารนโยบายสาธารณะเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้ สสส. โดยมีนางสาวนภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา เป็นประธานพิธีฯ นางนวนันทน์ เนติธนากูล ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ประธานคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมและความผูกพันของบุคลากร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา กล่าวรายงาน พร้อมด้วยนายแพทย์ศุภชัย นิลดำ และทีมแพทย์ฉุกเฉินจากโรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ทีมวิทยากรจากสำนักบริการทางการแพทย์ประจำรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และทีมแพทย์ฉุกเฉินคณะแพทยศาสตร์วชิระพยาบาลเป็นวิทยากร มีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 80 คน แบ่งเป็น 2 รุ่นๆละ 40 คน อบรมในวันที่ 1 และ 3 ธันวาคม 2565 ณ อาคารรัฐสภา โดยการอบรมได้ให้ข้อมูลคู่มือการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินสำหรับบุคลากรในวงงานรัฐสภา และให้ข้อมูลความรู้พฤติกรรมกลุ่มโรค NCDs หรือกลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง ซึ่งต้นเหตุโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจตีบ ความดันสูง ที่เป็นส่วนสำคัญการป่วยฉุกเฉิน

นางสาวนภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่าความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ และความสามารถในการประเมินสถานการณ์ผู้เจ็บป่วยเบื้องต้นได้อย่างถูกต้อง ทำให้การดูแลผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธี ลดหรือบรรเทาความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นกับบุคลากรของรัฐสภา และที่สำคัญที่สุดต้องการให้บุคลากรที่เข้าอบรมสามารถเป็นแกนนำของแต่ละสำนักที่จะมาเป็น (Key Personnel) ร่วมกับตำรวจรัฐสภา ผู้ซึ่งจะมาเป็นกำลังสำคัญให้การช่วยเหลือ การฝึกอบรมครั้งนี้นอกจากจะได้ความรู้สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อเกิดเหตุการณ์พบเห็นสมาชิกรัฐสภาและเพื่อนร่วมงานเพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงทีแล้ว ยังเป็นการสร้างทีมที่มีศักยภาพในการเป็นแกนนำของแต่ละสำนัก ในการให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินในสำนักงาน

“เมื่อผ่านการฝึกอบรม ขอให้ทุกคนฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีเหตุฉุกเฉินจะได้ช่วยผู้ป่วยได้ทันที โดยผู้เข้าอบรมครั้งนี้จะผนึกกำลังเป็นทีม “ฝ่ามือจันทรา CPR พาชีวิตรอด” โดยหวังว่าการมีทีมจะทำให้ขั้นตอนการช่วยชีวิตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะช่วยให้ลดการเสียชีวิตและทุพพลภาพของบุคลากรในการช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินในสำนักงาน” เลขาธิการวุฒิสภากล่าว

ทั้งนี้ ในปัจจุบันสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่เกิดจาก โรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจและหลอดเลือด โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และอุบัติเหตุ จมน้ำ ผู้ป่วยหรือผู้ได้รับบาดเจ็บเหล่านี้บางรายอาจมีภาวะการหยุดหายใจกะทันหัน ถ้าปล่อยไว้นานเกิน 4 นาที แม้จะช่วยให้ฟื้นคืนชีพกลับมาได้ ก็จะเกิดสภาวะการตายของสมองอย่างถาวร การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน เป็นวิธีการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังจะเสียชีวิตให้สามารถฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ หรือที่เรียกว่า CPR; Cardiopulmonary Resuscitation ซึ่งได้มีการศึกษาวิจัยที่ได้ผลแน่นอนและว่าหากผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือทันทีหลังจากหัวใจหยุดเต้นภายใน 4 นาที จะทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิตมากกว่า 4 เท่า ดังนั้นการได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างทันท่วงทีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและมีการส่งต่อผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บไปยังแพทย์หรือสถานพยาบาลอย่างเหมาะสมรวดเร็วและถูกวิธีจะทำให้ผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บมีโอกาสรอดชีวิตและกลับคืนมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้