“ณรงค์ รัตนานุกูล” เลขาฯ ป.ป.ส. คนใหม่ กับ “ทิศทางการทำงานและนโยบายยาเสพติดปี 59”

“ณรงค์ รัตนานุกูล” เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) - ภาพ วรพล แสงศรี ThePublicPost-

“ณรงค์ รัตนานุกูล” เข้าดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) คนใหม่ เมื่อ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา

ทว่าหัวขบวนคนนี้ของ ป.ป.ส. มิใช่มือใหม่ของวงการปราบปรามยาเสพติดแต่อย่างใด เพราะเมื่อย้อนดูประวัติการรับราชการแทบจะกล่าวได้ว่า “ณรงค์ รัตนานุกูล” นั้นเดินอยู่บนเส้นทางการปราบปราบยาเสพติดมาตลอดชีวิต

ดังนั้นในแง่ความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ของเลขาธิการ ป.ป.ส. คนนี้ กล่าวได้ว่าปราศจากข้อกังขาและเหมาะสมในการมาเป็นหัวหอกนำทีมสำนักงาน ป.ป.ส. แก้ไขปัญหายาเสพติดหนึ่งในปัญหาสำคัญของชาติ

“ณรงค์ รัตนานุกูล” เปิดให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “เดอะพับลิกโพสต์” ต่อทิศทางการทำงานและนโยบายยาเสพติดปี 2559 ของ ป.ป.ส. ภายใต้การกุมบังเหียนของเขา รวมทั้งเจาะลึกในประเด็นยาเสพติดที่เกี่ยวข้องกับจชต.และสังคมมุสลิม ที่หลายฝ่ายใคร่รู้

สถานการณ์ปัญหายาเสพติดของประเทศไทย

เลขาฯ ป.ป.ส. กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหายาเสพติดของไทยในปัจจุบันว่า เส้นทางการทะลักเข้ามาของยาเสพติดสู่ประเทศไทยนั้นมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่เป็นการลักลอบนำเข้าทางด้านชายแดนภาคเหนือ ทั้งยาบ้า ไอซ์และเฮโรอีน เมื่อมีการสกัดกั้นในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือเข้มงวดยาเสพติดบางส่วนจะถูกเปลี่ยนเส้นทางไปลักลอบนำเข้าทางชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะยาบ้า

ทั้งนี้ฐานการผลิตยาเสพติดภายนอกประเทศมีปริมาณการผลิตแบบไม่จำกัด โดยเฉพาะในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ยาเสพติดจากที่นี่บางส่วนจะถูกลักลอบออกสู่แม่น้ำโขงก่อนที่จะเข้าไทยทางภาคเหนือ หรือบางส่วนเข้าสู่ สปป.ลาว แล้วเข้าไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

“ที่ผ่านมาไทยได้ร่วมดำเนินการโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัยกับอีก 3 ประเทศ คือ จีน เมียนมา และ สปป.ลาว เพื่อสกัดกั้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ไม่ให้เข้าไปยังแหล่งผลิต และสกัดยาเสพติดออกจากแหล่งผลิต ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ โดยทั้ง 4 ประเทศเห็นพ้องต้องกันว่าจะขยายโครงการออกไปอีก 3 ปี เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำและพื้นที่ใกล้เคียงให้ลดลงได้มากที่สุด โดยมีประเทศที่เข้าร่วมเพิ่มอีก 2 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา และเวียดนาม” นายณรงค์ กล่าว

ในส่วนการค้าและการแพร่ระบาดนั้น เลขาฯ ป.ป.ส. กล่าวว่า ยังเป็นปัญหาหลักในพื้นที่ตอนในของประเทศ เหตุเพราะ “ยังมีกลุ่มนักค้าบางกลุ่มที่ยังไม่ถูกดำเนินการจับกุม เนื่องจากนักค้าเหล่านี้จะไม่เข้ามาสัมผัสกับยาเสพติดโดยตรง ทำให้จับกุมได้เฉพาะมือขนหรือผู้ลำเลียง”

“อย่างไรก็ตามปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ส. ได้มีมาตรการดำเนินการกับนักค้าเหล่านี้ โดยใช้มาตรการทางด้านทรัพย์สิน และการสืบสวนทาง การเงิน เช่น เมื่อจับกุมนักค้ารายย่อยหรือผู้ลำเลียงได้ ก็จะสืบสวนทางด้านการเงินว่าบุคคลเหล่านี้เกี่ยวข้องกับใครบ้าง ใครเป็นผู้สั่งการอยู่เบื้องหลัง และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เช่น ร่องรอยการทำธุรกรรมทางการเงิน การใช้โทรศัพท์ หรือการใช้การสื่อสารช่องทางใหม่ๆ ที่ผ่านมาสามารถดำเนินการจนจับกุมผู้อยู่เบื้องหลังได้หลายราย และยึดทรัพย์สินมูลค่าหลายร้อยล้านบาท”

“ทั้งนี้ ยังมีการแพร่ระบาดของยาเสพติดในชุมชนโดยเฉพาะในชุมชนเมือง ตามเมืองใหญ่ๆ หรือจังหวัดหัวเมือง ซึ่ง พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ได้กำหนดให้นโยบายปราบปรามการค้ายาเสพติดในแหล่งแพร่ระบาดตามหมู่บ้านและชุมชน เป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วน สำนักงาน ป.ป.ส. อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะในหมู่บ้านชุมชนที่มีปัญหามาก” นายณรงค์ กล่าว

จากการเปิดเผยของ เลขาฯ ป.ป.ส. ทำให้รู้ว่า นอกจากไทยจะประสบปัญหาการนำเข้ายาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้านแล้วนั้น อีกส่วนหนึ่งก็ยังมีกลุ่มเครือข่ายนักค้า ยาเสพติดชาวแอฟริกัน ที่ลักลอบนำยาเสพติดเข้าประเทศ โดยนำไอซ์จากแอฟริกา โคเคนจากอเมริกาใต้

“เครือข่ายนักค้ายาเสพติดชาวแอฟริกันมักใช้ผู้หญิงไทยหรือผู้หญิงในภูมิภาคอาเซียนเป็นผู้ลำเลียง และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการที่หลากหลาย เพื่อเลี่ยงการจับกุมของเจ้าหน้าที่ เช่น หันไปใช้การส่งไอซ์มากับพัสดุจากต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. ได้ร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องใช้วิธีการตรวจค้นอย่างเข้มงวดที่สนามบินนานาชาติทุกแห่ง รวมทั้งการตรวจค้นพัสดุภัณฑ์ต้องสงสัยที่ส่งมาจากประเทศที่เป็นต้นทาง ยาเสพติด และประสานงานกับหน่วยปราบปรามยาเสพติดในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด ซึ่งก็ทำให้สามารถจับกุมได้บ่อยครั้ง” นายณรงค์ กล่าว

เลขาฯ ป.ป.ส. เปิดเผยว่า ในรอบ 1 ปีผ่านมา (1 ต.ค.57 – 30 ก.ย. 58) การดำเนินงานยาเสพติดของ ป.ป.ส. มีการปราบปรามและนำไปสู่การดำเนินการทางกฎหมายในคดียาเสพติด 264,974 คดี ผู้ต้องหา 284,699 ราย โดยมีการยึดและอายัดทรัพย์ 2,301 ราย คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินถึง 993 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี เลขาฯ ป.ป.ส.  ยังแสดงความกังวลต่อปัญหาผู้เกี่ยวข้อง กับยาเสพติดรายใหม่โดยเฉพาะในหมู่เยาวชนที่เพิ่มมากขึ้น

“ปัญหาผู้เกี่ยวข้องรายใหม่ทั้งผู้ค้าและผู้เสพยังถือเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบถึงมาตรการในการ   ป้องกัน เพราะในช่วงที่ผ่านมายังคงมีสัดส่วนที่สูงประมาณร้อยละ 70  โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 15-24  ปี ที่เป็นกลุ่มหลักที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ” เลขาฯ ป.ป.ส. กล่าว

สถานการณ์ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับสถานการณ์ปัญหายาเสพติดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่หลายฝ่ายแสดงความกังวลนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้  เลขาฯ ป.ป.ส. ระบุว่า ในส่วนการ “นำเข้า” ยาเสพติดนั้น จากข้อมูลการจับกุมและข้อมูลการข่าวของสำนักงานป.ป.ส. ภาค 9 พบว่า ยังคงมีการนำเข้ายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มนักค้าประเทศเพื่อนบ้าน และกลุ่มนักค้าชาวไทย

“รูปแบบการนำเข้ายังคงเป็นรูปแบบการนำเข้ามาพร้อมตัวบุคคลและการซุกซ่อนในยานพาหนะ เพื่อนำมาแบ่งจำหน่ายให้กับลูกค้าในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้”

“พื้นที่ที่มีปัญหามากได้แก่ อำเภอสะเดา อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล อำเภอแว้ง อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา” เลขาฯ ป.ป.ส. ระบุ

เลขาฯ ป.ป.ส. เปิดเผยด้วยว่า ตัวยาเสพติดหลักที่มีการลักลอบนำเข้า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  แบ่งเป็นสัดส่วนได้แก่พืชกระท่อม ร้อยละ 49 ยาบ้า ร้อยละ 32 และไอซ์ ร้อยละ 6

ในส่วนการ “ส่งออก” ยาเสพติด นั้น จากข้อมูลการจับกุมและข้อมูลการข่าว มีการจับกุมเครือข่ายนักค้ายาเสพติดรายสำคัญหลายคดีพร้อมของกลางกัญชาแห้งอัดแท่งจำนวนมาก ซึ่งจากการสอบสวนในเบื้องต้น พบว่า เป็นการลักลอบนำเข้ากัญชาแห้งอัดแท่งจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย นำมาพักไว้ในพื้นที่ จังหวัดสงขลา เพื่อรอจำหน่ายให้เครือข่ายในพื้นที่ จังหวัดสงขลา สตูลและพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมถึงเตรียมส่งออกไปยังต่างประเทศ

“สำหรับชนิดยาเสพติดที่มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษามากที่สุด ได้แก่ ยาบ้า รองลงมา คือ ไอซ์ พืชกระท่อม กัญชาแห้ง และเฮโรอีน โดยในห้วงตุลาคม 2557-กันยายน 2558 มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษาทั้งสิ้น 6,728 คน มากกว่าร้อยละ 90 เป็นเพศชาย และเมื่อพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่า สงขลา ร้อยละ 50 ปัตตานี ร้อยละ 15 สตูล ร้อยละ 14 โดยมากกว่าร้อยละ 45 เข้ารับการบำบัดรักษาในระบบบังคับบำบัด และกลุ่มผู้เข้ารับการบำบัดรักษามากที่สุดจะเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งมีอายุระหว่าง 15-24 ปี คิดเป็นร้อยละ 47” เลขาฯ ป.ป.ส. ให้ข้อมูล

“ณรงค์ รัตนานุกูล” เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) - ภาพ วรพล แสงศรี ThePublicPost-
“ณรงค์ รัตนานุกูล” เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) – ภาพ วรพล แสงศรี ThePublicPost-

ยาเสพติดในกลุ่มเยาวชนมุสลิม กับปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้

ปัญหายาเสพติด ถือเป็นหนึ่งในปัญหาภัยแทรกซ้อนอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันมีส่วนทำให้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ทวีความรุนแรงขึ้น เลขาฯ ป.ป.ส. บอกว่า มูลเหตุจูงใจที่ทำให้คนในพื้นที่ค้ายาเสพติดก็เหมือนกันกับพื้นที่ อื่นๆ คือ ผลประโยชน์ตอบแทนทางด้านการเงินและทรัพย์สินที่ได้มาจากการค้า แม้จะทราบว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และเสี่ยงต่อการถูกเจ้าหน้าที่จับกุมก็ตาม

“อย่างไรก็ดี สำหรับข่าวสารหรือความเชื่อที่ว่า กลุ่มผู้ก่อการร้าย จะดำเนินการค้ายาเสพติดหรือแสวงหา เงินทุนจากกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่ จชต. เพื่อมาสนับสนุนการก่อความไม่สงบนั้น ในภาพรวมของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงยังเป็นในเรื่องของการข่าวความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่ยังไม่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่า กลุ่มนักค้ายาเสพติดนำเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติดไปสนับสนุนกลุ่ม ผกร.”  เลขาฯ ป.ป.ส. กล่าวและว่า

“ประกอบกับในกระบวนการดำเนินการทางด้านกฎหมายยาเสพติด และทรัพย์สิน ทางสำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานเกี่ยวข้องมีการดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ซึ่งจากการดำเนินการยังไม่พบว่า กลุ่มนักค้ายาเสพติดที่ถูกจับกุมและถูกตรวจสอบทรัพย์สินได้นำเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการค้ายาเสพติดไปสนับสนุนกลุ่ม ผกร.แต่อย่างใด”

“แต่อย่างไรก็ตามอาจมีแนวร่วมของผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่หลอกใช้เด็กและเยาวชนที่ใช้ยาเสพติดเป็นเครื่องมือในการก่อกวนและสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่  เช่น การพ่นสีสเปรย์ การลอบวางเพลิง เป็นต้น”  เลขาฯ ป.ป.ส. ระบุ

กระนั้น เลขาฯ ป.ป.ส. ยืนยันว่า สำนักงาน ป.ป.ส. และ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้ให้ความสำคัญต่อปัญหายาเสพติดในพื้นที่ จชต. ตลอดมา มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดชายแดน ภาคใต้ (ศอ.ปส.จชต.) เพื่อดำเนินการใน 2 ภารกิจหลัก ได้แก่ เป็นกลไกอำนวยการ ด้านการป้องกัน ปราบปราม และการบำบัดรักษา โดยมีการ บูรณาการและประสานงานกับหน่วยงานเกี่ยวข้องในพื้นที่  และสอง เป็นกลไกดำเนินงานเกี่ยวกับงานมวลชนเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่

“นอกจากนี้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยังได้ตั้ง ‘คณะทำงานติดตามเส้นทางการเงินเครือข่ายยาเสพติดและกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ จชต.’ ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น สำนักงาน ป.ป.ส. สำนักงาน ปปง. ดีเอสไอ บช.ปส.  เป็นต้น เพื่อดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ ร่วมปฏิบัติให้ได้ข้อเท็จจริงอีกทางหนึ่งด้วย” เลขาฯ ป.ป.ส. กล่าว

“ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่จชต.โดยเฉพาะในประเภทน้ำกระท่อม หรือสี่คูณร้อย ส่วนหนึ่งคือเรื่องการบิดเบือนหลัก คำสอนของศาสนาอิสลาม โดยการอ้างและเชื่อว่า ไม่ผิดหลักศาสนาเพราะไม่ใช่เครื่องดื่มประเภทเหล้าเป็นต้น ทั้งที่ในความเป็นจริงความเชื่อเช่นนี้สวนทางกับหลักคำสอนที่ดีของศาสนาอิสลาม” นายณรงค์ เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าว และว่า

“มิติการแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่จชต.บางมุมดูเหมือนจะยาก แต่ในอีกมุมหนึ่งก็แก้ได้ง่าย เพราะเขามีศาสนาเป็นหลักยึดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราจะเปลี่ยนแนวความคิดเขาได้อย่างไรไปสู่ความเชื่อที่ถูกต้อง ถ้าเราสามารถเปลี่ยนได้โอกาสสำเร็จก็เกิดขึ้นได้เลย ตรงนี้เป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่ก็ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการที่จะทำให้สำเร็จนั้นหลายฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะผู้นำศาสนาและ องค์กรอิสลามจะต้องชี้นำแนวทางที่ถูกต้องของอิสลามให้พวกเขา”

“เราต้องสร้างให้คนในชุมชนให้ขึ้นมาช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยทางภาครัฐเองจะเข้าไปมีส่วนในการช่วยสนับสนุนให้เขาสร้างชุมชนที่เข้มแข็งขึ้นมา” นายณรงค์ กล่าว

แนวทางความร่วมมือของ สำนักงาน ป.ป.ส. กับองค์กรมุสลิมในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

เลขาธิการ ป.ป.ส. ย้ำว่า สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ร่วมมือกับกับองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะกับองค์กรมุสลิมในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังตลอดมา

“พื้นที่ 3 จชต. และ 4 อำเภอจังหวัดสงขลา ซึ่งบริบทของพื้นที่ มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ทาง ป.ป.ส. จึงส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรศาสนาอิสลามเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือนำหลักศาสนามาปรับใช้ร่วมกับกิจกรรมต่างๆ โดยมีกลไก ศอ.ปส.จชต. เป็นผู้ประสานงานหลักผ่านคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้ง 5 จังหวัด ตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปี 2559 ที่กำหนดยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมภาคประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด” เลขาฯ ปปส.กล่าว

สำหรับกิจกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามร่าง แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2559 นั้น เลขาธิการ ป.ป.ส. ระบุว่า มีกิจกรรมสำคัญประกอบด้วย ด้านการป้องกัน เช่น โครงการญาลันนันบารู มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง โครงการปอเนาะสานใจป้องกันภัยยาเสพติด โครงการอบรมหลักสูตรครู D.A.R.E ให้กับอุสต๊าสตาดีกา และโรงเรียนสอนศาสนา กิจกรรมผู้นำศาสนาพูดหน้าเสาธง กิจกรรมเอี๊ยะติกาฟในรอมฎอน และ ด้านการบำบัดรักษา เช่น กิจกรรมบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดด้วยระบบปอเนาะบำบัด ที่ปอเนาะญาลันนันบารู อ.เทพา จ.สงขลา การนำหลักศาสนามาใช้ในค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นต้น

“นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. ยังได้สนับสนุนงบประมาณหรือเงินอุดหนุนให้กับองค์กรอิสลาม และสถานศึกษาปอเนาะต่างๆ รวมถึงร่วมกับสมาคมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อจัดวิทยากรป้องกันยาเสพติดเข้าไปให้ความรู้แก่ชุมชน องค์กรสตรี โรงเรียนปอเนาะ โรงเรียนตาดีกา ในพื้นที่ 3 จชต. และ 4 อำเภอ จ.สงขลาอีกด้วย”

“เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมาผมได้เข้าพบท่านจุฬาราชมนตรี เพื่อเยี่ยมคารวะท่านและขอแนวทางขอคำปรึกษาในการร่วมมือกันแก้ปัญหาการระบาดของยาเสพติด” นายณรงค์ กล่าว

นโยบายการบริหารและพัฒนาสำนักงาน ป.ป.ส.

เลขาฯ ป.ป.ส. กล่าวว่า “สำหรับนโยบายการบริหารและพัฒนาสำนักงาน ป.ป.ส. นับจากนี้ จะเป็นนโยบายการวางรากฐานและพัฒนาศักยภาพของทั้งบุคลากร การนำเครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการทำงาน เพื่อให้มีความพร้อมในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดทั้งในระดับชาติเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในระดับภูมิภาคที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในระยะอันใกล้นี้ ทั้งนี้เพื่อให้ สำนักงาน ป.ป.ส. เป็นองค์กรหลักที่คงความเป็นเลิศในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามวิสัยทัศน์ของสำนักงาน ป.ป.ส.”

นโยบายการบริหารและพัฒนาสำนักงาน ป.ป.ส. ที่ผมวางไว้เป็นแนวทางมี 9 ประการได้แก่

1. สานต่อต่อเนื่องนโยบายอดีตผู้บริหารและขยายผลสู่จุดหมาย

2. พัฒนาระบบข้อมูลและองค์ความรู้

3. บริหารการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้า

4. พัฒนาศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงาน ป.ป.ส. (ศปก.ป.ป.ส.) เป็นกลไกการอำนวยการแก้ไขปัญหายาเสพติด

5. พัฒนาบุคลากร ความรู้ความเชี่ยวชาญ การทำงานเป็นทีม ซื่อสัตย์ และรับผิดชอบ

6. พัฒนากระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วม

7. เสริมสวัสดิการ สร้างขวัญกำลังใจ

8.พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงาน

และ 9. พัฒนาและปรับปรุงสถานที่

ความร่วมมือกับต่างประเทศในภูมิภาค

นอกจากร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ของไทยแล้ว ป.ป.ส. ยังร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในการรุกแก้ปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง เช่นที่ผ่านมาล่าสุดได้ จับมือภาคีจัดการประชุมนานาชาติ “ICAD 2” ว่าด้วยการพัฒนาทางเลือกเพื่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง “ศาสตร์พระราชา”

นายณรงค์ กล่าวว่า “สำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรมได้ร่วมกับ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิโครงการหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime : UNODC) และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการและ นิทรรศการระหว่างประเทศเพื่อผลักดันแนวปฏิบัติสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือกสู่การปฏิบัติ ครั้งที่ 2 (International Seminar Workshop on the Implementation of United Nations Guiding Principles on Alternative Development 2 : ICAD 2) ระหว่างวันที่ 19-24 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมาที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร

“แนวคิดของการจัดประชุมนี้มาจากการเล็งเห็นว่า ปัญหาความยากจนและการขาดโอกาสทำให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงส่วนหนึ่งหันไปปลูกพืชเสพติด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหายาเสพติดรวมไปถึงปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ ดังนั้น จึงได้น้อมนำ “ ศาสตร์ของพระราชา” ที่เกี่ยวกับโครงการพัฒนาทางเลือกที่ยั่งยืน (Alternative Development) เป็นการแก้ปัญหาความยากจนด้วยการสร้างโอกาสทางอาชีพให้กับเกษตรกร และเป็นการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมที่ต้นเหตุ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชน”

“โดยตั้งแต่ปี 2552 ประเทศ ไทยและสาธารณรัฐเปรูร่วมกันเสนอข้อมติในการประชุมคณะกรรมาธิการด้านยา เสพติดแห่งสหประชาชาติ (CND) สมัยที่ 52 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยข้อมติดังกล่าว คือ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเลือกเพื่อทดแทนการปลูกพืชเสพติด รวมทั้งยอมรับบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาในฐานะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทางเลือก และตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมและแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่ดี ที่สุดและบทเรียนในการพัฒนาทางเลือกระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งแนวทางดังกล่าวได้ถูกผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง” นายณรงค์ กล่าว และว่า

“ประเทศไทยได้ใช้โอกาสนี้ผลักดันร่างแนวปฏิบัติสากลว่าด้วยการพัฒนาทางเลือก ดังกล่าวให้ได้ รับการรับรองเป็นข้อมติจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด ก่อนจะผลักดันเข้าที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 68 ปี 2556 ซึ่งได้รับรองร่างแนวปฏิบัติสากลฯ และประกาศเป็นแนวปฏิบัติสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาทางเลือก (United Nations Guiding Principles on Alternative Development – UNGP on AD) นับเป็นพัฒนาการในระดับโลกที่ประเทศไทยได้รับการยกย่องให้เป็นประเทศแนวหน้า ในการดำเนินงานพัฒนาทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน”

“ในการประชุมปี 2558 นี้ สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ผลักดันแนวปฏิบัติสากลว่าด้วยการพัฒนาทางเลือกสู่การปฏิบัติอย่างเป็น รูปธรรมที่สามารถประสบผลสำเร็จได้จริงและยั่งยืน เป็นการแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้าน  การพัฒนา      ทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาการปลูกฝิ่น ตามแนวทาง “ศาสตร์พระราชา” และเพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ ในวโรกาสที่จะทรงมีพระชนมพรรษาครบ 88 พรรษาในวันที่ 5 ธันวาคม 2558 ตลอดจนเพื่อส่งเสริมให้การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันของประเทศทั่วโลก เป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนานาประเทศ รวมถึงเพื่อแสดงความพร้อมของประเทศไทยในการพัฒนาไปสู่ฐานะของการเป็น ศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการพัฒนาทางเลือกของโลก (Excellence Center on Alternative Development) ต่อไป” “ณรงค์ รัตนานุกูล” เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าว