TPP… ไทยต้องไม่เสียเปรียบ

ถือว่าเป็นผลสำเร็จเกินคาด สำหรับการ “ยกทัพ”รัฐมนตรีเศรษฐกิจ 6 กระทรวง พร้อมด้วยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รวมไปถึงนักลงทุนรายใหญ่ และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยไปร่วมโรดโชว์ในประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 25-28 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะ

ตลอดการเยือนคณะของนายสมคิดได้พบปะเจรจากับตัวแทนรัฐบาลและภาคเอกชน ญี่ปุ่นหลายวาระ โดยได้เข้าเยี่ยมคารวะ นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรี และนายทาโร อาโซะ รองนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประชุมร่วมกับภาคเอกชนนักลงทุนชั้นนำของญี่ปุ่น ด้วยการ “Business Networking Lunch” และเปิดงานสัมมนา “Thailand-Japan Business Session” มีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทรายใหญ่ของญี่ปุ่นเข้าร่วมการประชุมกว่า 80 คน

ขณะเดียวกันทีมรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจและนักธุรกิจชั้นนำของไทย และทีมเอกชนญี่ปุ่น ได้ร่วมสัมมนาหัวข้อ Thailand : Moving Forward to Sustainable Growth โดยผู้บริหารระดับสูงขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น พร้อมนักธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น ร่วมฟังราว 1,000 คน และมีการลงนามทั้งระดับบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding-MOU) และบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Mutual Cooperation-MOC) ร่วมกันหลายฉบับ ทั้งด้านการท่องเที่ยว และกระทรวงคมนาคม

แต่ที่เกินคาดไปกว่านั้น คือการที่คณะของ “ดร.สมคิด” ได้เข้าร่วมหารือกับ นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ที่นอกจากจะหารือการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจในรูปแบบ “ทวิภาคี” กับ “ญี่ปุ่น” แล้ว การเข้าพบครั้งนี้ยังทำให้ไทยต้องตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาศึกษาเรื่อง การเข้าร่วม “ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก” หรือ TPP ตามการสนับสนุนของฝ่ายญี่ปุ่น และการกดดันจากภาคเอกชนของไทย

ไม่ใช่แค่ “ญี่ปุ่น” เท่านั้นที่หนุนเต็มแรงให้ “ไทย” เข้าร่วม PTT หากแต่กระทั่ง “สหรัฐอเมริกา” ยังมีท่าทีชัดเจน แม้จะ “ตั้งแง่” ในด้านการเมือง แต่ “เปิดประตู” ต้อนรับไทย

ทั้งนี้ ในการแถลงข่าวอย่างเป็ญทางการครั้งแรกของ นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เรื่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558ที่ผ่านมา นายเดวีส์ ระบุว่า การเดินทางเยือนเอเชียครั้งที่ 9 ของ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ช่วงที่ผ่านมานั้นแสดงถึงความตั้งใจจริงของสหรัฐฯ ในการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับภูมิภาคนี้ ซึ่งมีเวทีพหุภาคีที่สำคัญ ทั้งเวทีการประชุม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) และเวที สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งไทยมีบทบาทนำในทั้งสองเวทีความร่วมมือ และอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมโยงกับหลายประเทศ

พร้อมกันนี้ นายเดวีส์ ระบุว่า สหรัฐฯ ไม่ได้กำลังแข่งขันที่จะดึงไทยให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership : TPP) เพื่อแข่งขันกับประเทศใดหรือมหาอำนาจใด แต่หากไทยจะเข้าร่วมทีพีพี สหรัฐฯ ก็พร้อมให้ข้อมูลเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ขณะเดียวกันก็ต้องมีการพิจารณาในขั้นการขอเข้าเป็นสมาชิกก่อนจะมีข้อสรุปใดๆ ว่าจะได้เข้าร่วมหรือไม่ ทั้งนี้ สมาชิกใหม่จะต้องยอมรับข้อตกลงที่มีอยู่แล้ว

การปรากฏตัวของ TPP นั้นเป็นแรงกดดันให้ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างมาก อาเซียนมีทางเลือกไม่มากนัก นอกจากกล่อมให้สมาชิกที่เหลืออยู่อีก 6 ประเทศเข้าไปเป็นสมาชิก TPP พร้อมๆ กันและทำการเจรจาอย่างเป็นเอกภาพเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งกลุ่มและ รักษาความเป็นประชาคมของตัวเองไว้ให้ได้

แต่ก็อีกนั่นเอง ข้อเสนอแบบนี้เป็นจริงได้ยาก เพราะสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่แล้ว คำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติของตัวเอง หรือในบางกรณีรัฐบาลของบางประเทศ คำนึงถึงความอยู่รอดของรัฐบาลตัวเองมากกว่าผลประโยชน์โดยรวมของชาติก็มี

การแสดงความสนใจในอันที่จะเข้าร่วม TPP จึงปรากฏว่ามี “แรงต้าน” มากมายจากหลายกลุ่ม ที่เห็นว่าการเข้าร่วมทีพีพีครั้งนี้ไม่ได้มองเจาะลึกไปถึงปัญหาที่จะเกิด ขึ้นกับหลายภาคส่วนของไทย ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกร ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ไปจนถึงการเข้าถึงยาของประชาชนผู้มีรายได้น้อย

ซึ่งหาก “รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ต้องการใช้ข้อตกลงทีพีพีเป็นแรงดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศมาลงทุนในไทย ก็ควรจะศึกษาข้อดีข้อเสียให้รอบด้านและเตรียมหามาตรการรองรับผลกระทบที่จะ เกิดขึ้นตามมาอีกด้วย เพราะคงไม่มีใครอยากเห็นการต่อต้านของฝูงชนด้วยความรุนแรงเหมือนครั้งการ เจรจาข้อตกลงเปิดเสรีการค้าไทย-สหรัฐฯ  ที่เชียงใหม่ เมื่อปลายปีก่อน

นอกจากนี้ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนขนาดใหญ่ หรือการลงทุนสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของไทย อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ “ประโยชน์ของคนในชาติ” ไปแลกกับข้อตกลงที่ยังไม่ได้ศึกษาผลดี ผลเสียอย่างจริงจังเพียงด้านเดียว

การลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย และแก้ปัญหาคอขวดในการขนส่งต่างๆ ให้ได้ตามที่ประกาศออกมาก็เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในภาวะเช่นนี้

แต่การที่ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.กระทรวงการคลัง ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า กระทรวงคมนาคมจะมีการลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างปีนี้ถึง 6 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 1.8 แสนล้านบาท แต่ไม่ได้ประกาศว่าเป็นโครงการอะไรบ้าง ขั้นตอนการดำเนินงานก้าวหน้าไปเพียงใดแล้ว แทนที่จะสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจ กลับจะทำให้ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลลดต่ำลง

การเดินหน้าการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานของรัฐให้ได้ตามแผนที่ประกาศไว้ และมีเม็ดเงินลงทุนได้จริง ในขณะนี้เป็นเพียงวิถีทางเดียวของรัฐบาลชุดนี้ที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยขึ้น มาจากหล่มลึกได้และสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้จริง

โดยที่ไทยไม่ต้องไปทำข้อตกลงที่หมิ่นเหม่ให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติ และเกิดความเสียเปรียบในเวทีการค้าระดับโลก!!