จาก ICAO ถึง FAA เร่งแปรวิกฤติเป็นโอกาส…

ต้องบอกเลยว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดูจะแบกรับภาระมาก
มายไว้บนบ่า โดยเฉพาะใน “มิติด้านการต่างประเทศ” ซึ่งถือเป็นแนวรบสำคัญอย่างยิ่งของรัฐบาลที่ขึ้นมากุมอำนาจภายใต้แรงส่งจาก สภาพการณ์พิเศษเช่นนี้

ปัญหาด้านต่างประเทศที่รัฐบาลต้องเผชิญอยู่นั้น มีทั้งปัญหาเดิมๆ ที่สะสมหมักหมมมานานแต่ไม่ได้รับการแก้
ไข กระทั่งมาสุกงอมเอาในยุคนี้ โดยเฉพาะปัญหาของกรมการบินพลเรือนไทยที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลจนองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) หรือ ICAO ประกาศปัก “ธงแดง” เนื่องจากไม่สามารถควบคุมความปลอดภัยของสายการบินต่างๆได้อย่างเหมาะสมตาม มาตรฐานของ ICAO พร้อมประกาศให้ไทยปรับปรุงการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานเมื่อช่วงกลาง เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ส่งผลให้ธุรกิจอุตสาหกรรมการบินไทยต้องได้รับผลกระทบหนักยิ่งขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ประเทศเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นก็ได้สั่งห้ามบางสายการบินของไทยไม่ให้เพิ่มเที่ยวบิน และ “แบน” เที่ยวบินเช่าเหมาลำจากไทยไม่ให้เดินทางเข้าประเทศมาแล้วหลัง ICAO ประกาศผลการตรวจสอบองค์กรควบคุมการบินของไทยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ยิ่งไปกว่านั้น การปัก “ธงแดง” ของ ICAO ในครั้งนี้ ทำให้เกิดความกังวลตามมาว่าอาจจะทำให้องค์กรควบคุมด้านการบินอื่นๆ ทั้งของสหรัฐฯ และยุโรป ออกมาทำการทบทวนมาตรฐานด้านการควบคุมความปลอดภัยของไทย
แล้วในที่สุดก็เป็นไปอย่างที่หลายฝ่ายหวาดวิตก เมื่อ สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (Federal Aviation Administration) หรือ FAA ที่ได้เข้ามาตรวจมาตรฐานความปลอดภัยของกรมการบินพลเรือนเมื่อช่วงเดือน กรกฎาคมถึงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาได้ประกาศลดระดับประเทศไทยจาก Category 1  เป็น Category 2 ภายหลังส่งคณะมาเยือนไทยเมื่อวันที่ 26-28 ต.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่าผลการทำงานของกรมการบินพลเรือนไทยเพื่อแก้ไขข้อห่วงกังวล ของ FAA เกี่ยวกับการยกระดับมาตรฐานการบินพลเรือนไทย ยังไม่เป็นที่พอใจนักแม้ไทยจะสามารถดำเนินการให้คืบหน้าเป็นไปตามมาตรฐานของ FAA ได้แล้วหลายประเด็น แต่ยังมีบางประเด็นที่ FAA ยังคงยืนยันให้ไทยต้องทำให้เสร็จสมบูรณ์

การถูกจัดระดับในประเภท 2 หมายความว่า ประเทศไทยไม่มีกฎระเบียบที่จำเป็นในการกำกับดูแลสายการบินตามมาตรฐานการบิน สากลขั้นต่ำ หรือกรมการบินพลเรือนบกพร่องในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือมากกว่า เช่น ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค , บุคลากรที่ได้รับการฝึกฝน , การเก็บประวัติหรือกระบวนการตรวจสอบ จะส่งผลให้สายการบินของไทยยังคงให้บริการที่มีอยู่ในสหรัฐอเมริกาได้อย่าง ต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถได้รับอนุญาตให้เพิ่มบริการใหม่ในสหรัฐอเมริกาได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ แน่นอนว่า “คนในรัฐบาล” ย่อมออกมาประสานเสียงว่า สายการบินของไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ไม่ว่าจะเป็น “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”  รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่มองว่าการถูกปรับลดอันดับในครั้งนี้จะไม่ กระทบภาคเศรษฐกิจในเรื่องของ “มูลค่า” ของเม็ดเงิน และการท่องเที่ยว

ขณะที่ พล.อ.อ.ปรีชา ประดับมุข เลขานุการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน(ศบ.ปพ.) มองว่า การ
ประกาศลดระดับไทยของ FAA ครั้งนี้จะกระทบรายได้ของเอกชนไทยบ้าง เพราะสายการบินของไทย ที่ปัจจุบันทำโค้ดแชร์กับสายการบินอื่นที่บินเข้าสหรัฐฯจะไม่สามารถใช้ เครื่องบินของสายการบินของไทยได้ แต่ผลกระทบนี้ไม่น่าจะมากนัก เพราะขณะนี้ไม่มีสายการบินของไทยที่บินเข้าสหรัฐฯโดยตรง แต่จะมีผลกระทบต่อ “ภาพลักษณ์” เรื่องมาตรฐานการทำงานของกรมการบินพลเรือนไทย

อันเป็นความกังวลเดียวกันกับภาคเอกชนของไทย ที่แม้อุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระ
ทบจาก FAA หากแต่อย่าลืมว่าด้วยความที่ FAA นั้นมีมาตรฐานสูงลิ่วอาจมีผลต่อการตัดสินใจขององค์กรการบินอื่น โดยเฉพาะ สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป หรือ EASA ที่จะทำการตัดสินกลุ่มการบินของไทยในวันที่ 10 ธ.ค. 2558 โดยมากแล้วจะตัดสินตาม FAA ซึ่งเราต้องรอลุ้นผลด้วยใจระทึก

หาก EASA ปรับลดระดับของประเทศไทย แน่นอนว่าผลกระทบต่อสายการบินของไทยที่เกิดขึ้นนั้นจะ “รุนแรง”กว่าการปรับลดของ FAA เนื่องจากเส้นทางบินยุโรปคิดเป็น 30% และ 20% ของบริษัทการบินไทย และบริษัทการบินกรุงเทพ และจะกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยวที่รัฐบาลหวังจะเอามาเป็นตัวกระตุ้น เศรษฐกิจในยามที่การส่งออกของไทยแทบจะเป็นศูนย์

อย่างที่หลายฝ่ายรับรู้ถึงปัญหา หากต้องการจะแก้ปัญหาได้เราต้องยอมรับให้ได้ก่อนว่าอุตสาหกรรมและกิจการการ บินของบ้านเราไม่ว่าจะจับไปตรงไหนก็เจอแต่ความไม่ได้มาตรฐาน นี่ไม่ใช่เรื่อง “เสียหน้า” ที่จะยอมรับ หากแต่จริงๆ แล้วกลับเป็นเรื่อง “ได้หน้า” ด้วยซ้ำ หากจะสามารถปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐานสากล

ดังนั้น เราต้องใช้โอกาสนี้ในการเร่ง “กู้ซาก” ทำให้ทุกอย่างให้กลับมา และ ต้องแปรวิกฤติให้เป็นโอกาสให้ได้!!