น่าจะสักรอบที่ร้อยกว่าๆแล้วกระมัง ที่ภาพหายนะทั้งจากภัยธรรมชาติและภัยจากอะไรที่ไม่ธรรมชาติถูกนำเสนอในภาพยนตร์ด้วยเทคนิคพิเศษสุดอลังการ ภาพภูเขาไฟระเบิด พายุทอร์นาโด พายุหิมะ คลื่นยักษ์ถล่มเมือง หรือแม้แต่แผ่นดินพังทลายทั้งทวีป กระทั่งน้ำท่วมโลกเราก็เห็นกันมาจนคุ้นตาแล้ว…ดังนั้นเราจะเหลืออะไรให้คาดหวังกับ Exodus
ปัญหาใหญ่ของ Exodus คือไม่สามารถหาจุดขายของตัวเองได้อย่างที่กล่าวข้างต้น ว่าเราเห็นหายนะของโลกจนชินตาแล้วด้วยซ้ำ ดังนั้นเราควรจะตื่นเต้นอะไรกับหายนะของเมืองแค่เมืองเดียว(หรือต่อให้เป็นประเทศนึงเลยเอ้า!) หรือหากหนังจะเน้นไปที่ฉากรบสุดอลังการนั่นยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเมื่อเทียบกับผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับ Ridley Scott อย่าง Kingdom of Heaven ซึ่งสร้างมาตรฐานตัวเองไว้ค่อนข้างสูง ฉากรบใน Exodus จึงไม่ต่างอะไรกับการทาเนยก้อนเล็กๆบนขนมปังขนาดเท่าผนังบ้านจนไม่อาจรับรู้รสชาติของเนยเลยด้วยซ้ำ
โครงสร้างของ Exodus เหมือนสับสน ไม่รู้ว่าควรพาตัวเองไปอยู่ในจุดไหน หนังเริ่มต้นเหมือนจะเป็นหนังสงครามก่อนที่จะกลายเป็นหนังหายนะจากภัยธรรมชาติ แม้ว่าทั้งสองส่วนจะถูกนำเสนอด้วยเทคนิคด้านภาพสุดอลังการหากแต่มันได้แค่ตื่นตา แต่ไม่รู้สึกตื่นใจอะไรสักนิดเดียว และด้วยการเล่าเรื่องที่เหมือนจะเร่งรีบไปเสียทั้งหมดหนังยังพลาดกระทั่งการสร้างอารมณ์ร่วมกับตัวละครอย่างสิ้นเชิง เริ่มตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องที่ไม่อาจสัมผัสได้เลยว่า รามาเสส กับ โมเสสนี่เป็นพี่น้องที่รักกันขนาดไหน สนิทสนมกันยังไง ดูๆไปจะออกแนวผู้บังคับบัญชากับลูกน้องเสียมากกว่าด้วยซ้ำ ดังนั้นเมื่อถึงจุดที่สองพี่น้องต้องมาแตกหักกัน ความรู้สึกของผู้เขียนจึงจำกัดอยู่แค่ “อ๋อเหรอ…ก็แล้วไง” ทั้งที่ผู้กำกับมากประสบการณ์อย่าง Ridley Scott เองน่าจะลุ่มลึกได้มากกว่านี้จนน่าดีดหู
และหากเจาะลึกไปที่ตัวละครหลักก็ยิ่งพบความบกพร่อง ยกตัวอย่าง รามาเสส ที่หนังปูไว้ว่าเป็นคนเชื่อเรื่องคำทำนายอย่างชนิดที่เรียกว่าหัวปักหัวปำ จึงช่วยไม่ได้ที่จะเกิดคำถามเป็นระยะๆว่าสำหรับคนที่เชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติขนาดนี้ รามาเสสแกไปเอาความกล้าความมั่นใจจากไหนในการงัดข้อกับพระเจ้าชนิดไม่เลิกราวาศอกทั้งที่พระเจ้าก็แสดงให้เห็นแล้วว่าถ้ายังขัดใจท่านต่อไปอียิปต์จะต้องพบกับจุดจบอย่างไร โดยความแห้งผากในอารมณ์ร่วมกับตัวละครนี้ส่งผลอย่างชัดเจนที่สุดในฉากที่ รามาเสส สูญเสียลูกชายวัยทารก(ด้วยน้ำมือของอะไรที่เรียกว่าพระเจ้า?) ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นไม่ต่างอะไรกับความรู้สึกที่มีต่อลูกชาวบ้านตัวประกอบธรรมดาๆที่เมื่อตายไปก็รู้สึกว่า “อืมนะ…ตายแล้วเหรอ” เท่านั้นเอง
Exodus มีชื่อสร้อยว่า Gods and Kings แล้วมันก็เป็นไปตามชื่อเรื่องจริงๆ หลังจากมีโมเสสเป็นตัวดำเนินเรื่องไปครึ่งทาง หนังก็เปิดตัว “พระเจ้า” หลังจากนั้นหนังก็พาตัวเองไปสู่การงัดข้อระหว่าง กษัตริย์งี่เง่ากับพระเจ้าผู้งอแงเอาแต่ใจ อยากได้อะไรก็ต้องได้และหากโดนขัดใจก็พร้อมจะฟาดงวงฟาดงาโดยไม่แคร์เวรกรรม ผลจากการงัดข้อนั้นส่งให้หนังนำเสนอภัยพิบัติจากพระเจ้าชนิด non stop และความดื้อแพ่งของ รามาเสส ก็ถูกปลดปล่อยออกมาชนิดไม่ต้องมีเหตุผลและไม่ต้องการความเข้าใจใดๆทั้งสิ้น…แน่นอนถึงจุดนี้เราอิ่มจนแทบอ้วกกับการขับเคี่ยวของ GOD และ KINGS ตามชื่อของหนังแล้ว ว่าแต่ไอ้เจ้า “พระเอก” ของเรื่องที่ชื่อโมเสสมันหายไปไหนซะล่ะ!
หากมีการจัดอันดับ เชื่อว่า โมเสส จาก Exodus จะต้องติดชาร์ต TOP10 พระเอกผู้อาภัพในโลกภาพยนตร์อย่างแน่นอน เพราะตั้งแต่เรื่องดำเนินไปได้ราวๆครึ่งทาง ในขณะที่โมเสสกำลังแสดงทักษะของการเป็นพระเอกอยู่ดีๆ ทันใดนั้นพระเจ้า(ผู้เอาแต่ใจ) ก็โผล่มาพร้อมกับกระซิบเบาๆว่า “เฮ้! โมเสสนายพอก่อน จากนี้เราขอโชว์…นายอยู่ดูเฉยๆก็พอนะ” …นี่คือจุดเริ่มต้นของคำว่า “บรรลัย” เมื่อพระเอกของเรื่องถูกแย่งซีนและหลังจากนั้นโมเสสของเรื่องก็ถูกถีบตกจากบัลลังก์พระเอกสู่ตัวละครสมทบอย่างเป็นทางการจนจบเรื่อง!
แต่หนังก็ยังพอมีดีบ้างที่งานวิชวลเอฟเฟคต์ ที่แม้จะไม่ตื่นตาตื่นใจอะไรนักแต่ก็เป็นที่น่าจดจำในระดับหนึ่ง (โดยเฉพาะฉากจระเข้จู่โจมแม่น้ำไนล์ที่แดงฉานไปด้วยเลือดมันช่างติดตา…) ทำให้หนังยังพอมี “อะไร” ไว้คุยไว้พูดถึงได้ แต่หากมองไปที่ภาพรวมแล้ว Exodus เป็นหนังที่เปรียบเสมือนข้าวหนึ่งจานใหญ่พูนๆที่กินกับปีกไก่ทอดแห้งๆหนึ่งชิ้น คือมันเยอะแต่รสชาติมันน้อยจนไม่รู้สึกถึงความอร่อยแต่อย่างใด
หากคุณมีเงินร้อยกว่าบาทในมือ คุณอาจเดินไปที่โรงหนังแล้วซื้อป๊อปคอร์น (ที่ราคาแพงเกินจริงไปเยอะ) แล้วนั่งคุยกับเพื่อนหน้าโรงหนังแทนที่จะเดินเข้าโรงหนังไปก็ไม่ถือว่าเสียหาย เพราะการพลาดหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณพลาดอะไรดีๆในชีวิตไปแต่อย่างใด