“ยินดีต้อนรับสู่แคนาดา” เมื่อนายกฯ รอพบผู้ลี้ภัยซีเรียที่สนามบิน

เด็กชายวิ่งผ่านสนามโดยในมือถือธงแคนาดา แสงอาทิตย์สาดส่องจากเบื้องหลัง สีแดงและสีขาวสัญลักษณ์ของชาติปลิวไสวในสายลม เหนือภาพมีข้อความขนาดใหญ่เขียนว่า “ยินดีต้อนรับสู่แคนาดา” กับตัวหนังสือภาษาอาหรับกำกับว่า “อะห์ลัน วะซะห์ลัน” ที่มีความหมายว่า “ยินดีต้อนรับ”

นี่เป็นหน้าปกฉบับวันพฤหัสบดีของ “โตรอนโต สตาร์” หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของแคนาดา ประเทศซึ่งอยู่ในระหว่างเตรียมความพร้อมต้อนรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียชุดแรกที่จะเดินทางมาถึงเร็วๆ นี้ ตามโปรแกรมการตั้งถิ่นฐานใหม่ของรัฐบาลเสรีนิยมที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้ง ภาพหน้าหนึ่งมาพร้อมกับบทนำของกองบรรณาธิการในการต้อนรับชาวซีเรียที่มาถึงสดๆ ร้อนๆ และการอธิบายให้พวกเขาทราบเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในแคนาดา

“คุณจะได้พบกับสถานที่ซึ่งใหญ่กว่าดามัสกัสหรืออาเลปโปสักเล็กน้อย และเป็นดินแดนเหน็บหนาว แต่เป็นมิตรสำหรับทุกคน เราเป็นเมืองที่ยึดมั่นในความหลากหลาย มันคือจุดแข็งของเรา “บทนำบรรณาธิการระบุ และว่า “มันเป็นช่วงเวลาแห่งการเดินทางที่ยาวนาน แต่คุณจะเป็นผู้ลี้ภัยไม่นาน วันเวลาของการเป็นคนแปลกหน้าในดินแดนแปลกถิ่นของพวกคุณได้จบลงแล้ว”

นายกรัฐมนตรี  “จัสติน ทรูโด” มีแผนที่จะพบกับผู้ลี้ภัยเมื่อพวกเขาเดินทางมาถึง เขาบอกกับรัฐสภาเมื่อวันพุธว่า เครื่องบินลำแรกที่นำผู้ลี้ภัยมากว่า 160 คน คาดว่าจะออกจากกรุงเบรุตเวลา 21.15 น. และสายๆ วันพฤหัสบดีก็จะถึงยังสนามบินนานาชาติโตรอนโต ส่วนครื่องบินลำที่สองมีกำหนดที่จะนำผู้ลี้ภัยเพิ่มเติมจากเบรุตและจะมาถึงมอนทรีออลในวันเสาร์

“การให้ถิ่นฐานใหม่แก่ผู้ลี้ภัยแสดงถึงพันธสัญญาของเราที่มีต่อชาวแคนาดาและต่อชาวโลก ว่าแคนาดาเข้าใจ ว่าเราทำได้ และต้องทำมากยิ่งขึ้น” ทรูโด กล่าวในช่วงตอบคำถามในรัฐสภา

รัฐบาลของทรูโดมุ่งมั่นที่จะรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย 25,000 คน ภายในกุมภาพันธ์ ปีหน้า โดย 10,000 คนจะมาถึงภายในสิ้นปีนี้  รัฐมนตรีกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองของแคนาดา “จอห์น แม็กคอล” กล่าวกับผู้สื่อข่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันพุธว่า เอกสารของผู้ลี้ภัย 11,932 คนถูกดำเนินการแล้วในเลบานอน จอร์แดน และตุรกี สามประเทศที่มีประชากรผู้ลี้ภัยชาวซีเรียมากที่สุด สำหรับการเตรียมรับผู้มาใหม่นั้น มีการตั้งศูนย์ชั่วคราวขึ้นที่สนามบินในมอนทรีออลและโตรอนโต ในฐานะหน่วยงานเปลี่ยนผู้ลี้ภัยสู่ผู้อาศัยถาวรของแคนาดา

คลื่นลูกแรกของผู้ลี้ภัยตามโปรแกรมการตั้งถิ่นฐานใหม่ของแคนาดามาพร้อมกับการต่อต้านมุสลิมที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา หลังเกิดเหตุการณ์โจมตีของผู้ก่อการร้ายในกรุงปารีส และซาน เบอร์นาดิโอ แคลิฟอร์เนีย ในวันจันทร์ที่ผ่านมาเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์และผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีจากรีพับลิกัน “โดนัลด์ ทรัมป์” เสนอให้ “ปิดประเทศอย่างเบ็ดเสร็จห้ามชาวมุสลิมเข้าสหรัฐอเมริกา จนกว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถระบุข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้น”

แนวคิดของ “ทรัมป์”ต้องเผชิญกับสองฝ่ายที่ทั้งคัดค้านและสนับสนุนในอเมริกา และทำให้การเมืองในประเทศเปลี่ยนจุดไปจับจ้องในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมุสลิม และชาวมุสลิมโดยทั่วไปกลายเป็นประเด็นซึ่งส่งผลต่อวิถีการเลือกตั้งของสหรัฐ โพลชิ้นใหม่ที่เพิ่งออกมาเมื่อวันพุธโดยสถาบันบรู๊คกิ้ง (Brookings Institution) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน พบว่า “มุมมองของชาวอเมริกันสนุบสนุนมุสลิมอย่างน่าอัศจรรย์” ตามผลการสำรวจความคิดเห็นระบุว่า ร้อยละ 67 ของพรรคเดโมแครตมีมุมมองที่ดีต่อชาวมุสลิม เทียบกับของรีพับลิกันที่มีเพียงร้อยละ 41  เมื่อถูกถามเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม ร้อยละ 51 ของเดโมแครตมีมุมมองที่ดีต่ออิสลาม เมื่อเทียบกับของรีพับลิกัน
ที่มีร้อยละ 27

สำหรับชาวแคนาดานั้น โดยทั่วไปมีมุมมองที่เป็นบวกเพิ่มมากขึ้น โพลในเดือนกันยายนพบว่า สามในสี่ของชาวแคนาดาต้องการที่จะรับผู้ลี้ภัยเข้ามาในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำในเดือนพฤศจิกายนหลังจากการโจมตีกรุงปารีสและการประกาศนโยบายใหม่ของรัฐบาลเสรีนิยม จะเห็นว่าการสนับสนุนนั้นลดลง โดยประมาณร้อยละ 51 ที่คัดค้านแนวทางของรัฐบาลออตตาวา

การวางเป้าจะรับผู้ลี้ภัย 25,000 คนของทรูโด เป็นองค์ประกอบสำคัญของแคมเปญหาเสียงของเขาในช่วงต้นเดือน มีนาคมที่ผ่านมา และเน้นเพิ่มเป็นสองเท่าในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งของแคนาดาในเดือนตุลาคม  ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรี สตีเฟน ฮาร์เปอร์ จากพรรคอนุรักษ์นิยม คัดค้านอย่างหนักเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย โดยอ้างว่า ความมั่นคงของชาติเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าวิกฤตด้านมนุษยธรรม อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นดังกล่าวของประชาชนก็เริ่มเปลี่ยนไปหลังมีภาพการเสียชีวิตของเด็กวัยหัดเดินชาวซีเรียที่ถูกพัดมาเกยฝั่งในตุรกีขณะครอบครัวของเขาพยายามที่จะเดินทางไปแคนาดา และเรื่องนี้กลายเป็นพาดหัวข่าวของสื่อทั่วโลกในเดือนกันยายน ถึงตอนนั้นฮาร์เปอร์ยังไม่ได้เปลี่ยนโทนเสียงของเขา ยังเย้ยหยันการใช้นิกอบ (niqab) หรือผ้าคลุมใบหน้าของอิสลาม ในระหว่างการดีเบตและยังยืนยันถึงอันตรายของผู้อพยพชาวมุสลิม ทรูโดและคนอื่นๆ วิจารณ์ฮาร์เปอร์ที่ติดยึดแบบนี้ ทั้งบอกว่าถ้อยแถลงของผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟนั้นเสมือนไม่ใช่ชาวแคนาดา

หลังเหตุโจมตีปารีสที่ทำให้ประชาชน 130 คนเสียชีวิต, รัฐบาลทรูโดมีการชะลอ – แต่ไม่ทิ้ง – นโยบายรับผู้ลี้ภัยที่ตามแผนเดิมจะรับชาวซีเรีย  25,000 คนไปยังแคนาดาภายใน 1 มกราคม 2016

 

แปล/เรียบเรียงจาก http://foreignpolicy.com