ไอแบงก์ เดินสายใต้ล่างเป็นเจ้าภาพเลี้ยงละศีลอด เยี่ยมเยียนผู้นำศาสนาในเดือนรอมฎอน พร้อมพบปะ ศอ.บต. รับฟังปัญหาและแนวทางรองรับประชาชนที่ยังไม่เข้าถึงระบบการเงินในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) นำโดย ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล เยี่ยมเยียนผู้นำศาสนาเนื่องในเดือนรอมฎอน ประจำปี 2566 พร้อมพบปะรองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นักวิชาการ และกลุ่มนักธุรกิจ ตลอดจนผู้บริหารสหกรณ์อิสลามและผู้แทนสภาเกษตรในพื้นที่ เมื่อวันที่ 6-8 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา
ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ และ ผศ.ดร.มะรอนิง สาแลมิง ประธานที่ปรึกษาธนาคาร พร้อมด้วยผู้บริหารธนาคาร ได้เดินทางเยี่ยมเยียนผู้นำศาสนาในพื้นที่ 4 จังหวัดได้แก่ ดร.แวดือราแม มะมิงจิ ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ดร.สะมะแอ ฮารี ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา นายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส และ นายอรุณ อุมาจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล เนื่องในโอกาสเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ ประจำปี 2566 พร้อมเป็นเจ้าภาพเลี้ยงละศีลอดในจังหวัดดังกล่าว โดยภายหลังการเลี้ยงละศีลอดในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ไอแบงก์ได้มีการมอบเงินซะกาต ให้แก่นักเรียนดียากจน จำนวน 14 ทุน จำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 103,000 บาท และมอบเสื้อให้ตัวแทนโครงการชุมชนซื่อสัตย์ในพื้นที่อีกด้วย
นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิชาการในพื้นที่ อาทิ รศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดี มหาวิทยาลัยฟาฏอนี รศ.ดร.อานิส พัฒนปรีชาวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิสลาม และอาหรับศึกษา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ผศ.ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการ สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หารือด้านแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้อย่างยั่งยืนด้วยหลักชะรีอะฮ์ผสานกับแนวคิด ESG โดยไอแบงก์คาดว่าจะสามารถพัฒนาความร่วมมือกับสถาบันดังกล่าวผลักดันให้เกิดโครงการต่อยอดเป็นรูปธรรมภายในกลางปีนี้แน่นอน
จากนั้น ดร.ทวีลาภ ยังได้เข้าพบ นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อรับฟังปัญหาประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้ โดยมีข้อเสนอแนะจากทาง ศอ.บต. ให้ไอแบงก์ใช้การเงินจุลภาค (Micro Finance) เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาดังที่เคยให้บริการในช่วงประมาณปี 2554 ที่ผ่านมาเพราะถือว่าเป็นโครงการที่ดีและสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยไอแบงก์ตอบรับข้อเสนอและยินดีร่วมศึกษากับทาง ศอ.บต. เพื่อนำไปสู่การพัฒนาออกแบบระบบการจัดการที่ดีร่วมกันในการแก้ปัญหาการเข้าถึงการเงินในระบบสำหรับประชาชนในระดับรากหญ้าต่อไป
การเดินสายครั้งนี้ ดร.ทวีลาภ ยังได้รับเชิญจากสมาคมธุรกิจมุสลิมจังหวัดปัตตานี เพื่อรับฟังความคาดหวังในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ ประชาชน และชุมชนในพื้นที่ ขยายความสามารถในการเข้าถึงบริการและผลิต ภัณฑ์ของธนาคารมากยิ่งขึ้น โดยมี นายอิสมาแอ แวมุสตอปา ประธานสมาคมนักธุรกิจมุสลิมปัตตานี ให้การต้อนรับ