ศุกร์ 14 เม.ย. 66 ชาวมุสลิมไทยและชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทยออกมาชุมนุมและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ต่อตานการยึดครองของระบอบการปกครองอิสราเอล เนื่องในวันอัลกุดส์สากล ปี 2023
วันกุดส์สากล หรือ International Quds Day นั้นถูกสถาปนาในปี ค.ศ.1979 โดยอิมามโคมัยนี ผู้นำการปฏิวัติอิหร่าน โดยได้ประกาศให้ทุกวันศุกร์สุดท้ายของเดือนรอมฎอน เดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม เป็น “วันอัลกุดส์สากล” สำหรับปีนี้ตรงกับวันศุกร์ ที่ 14 เมษายน พ.ศ.2566
ในวันดังกล่าวมีการจัดงานประจำปีขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อระลึกและแสดงจุดยืนสนับสนุนสิทธิตามกฎหมายของประชาชนผู้ถูกกดขี่ชาวปาเลสไตน์ และต่อต้านระบอบไซออนิสต์ (Zionism) ของอิสราเอล ที่เข้ามารุกรานและยึดครองแผ่นดินปาเลสไตน์ ซึ่งในประเทศไทยก็ได้มีการจัดงานมาโดยตลอดเช่นกัน ทั้งในรูปแบบการชุมนุมเดินขบวน และในรูปแบบของการเสวนาวิชาการควบคู่กันไป
ในหลายปีมานี้ผู้ดำเนินการดำเนินชุมนุมเดินขบวนนั้นคือ “สมาพันธ์อัลกุดส์นานาชาติแห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นองค์กรเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินการประสานงานการจัดงานวันอัลกุดส์โดยเฉพาะ ที่ผ่านมาการชุมนุมเดินขบวนในวันอัลกุดส์นั้นจะรวมตัวที่หน้าธนาคารอิสลาม สาขาอโศก และเคลื่อนขบวนไปยังหน้าอาคารโอเชียนทาวน์เวอร์ ถนนสุขุมวิท ซอย 19 ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมเดินขบวนดังกล่าวได้มีการระงับมามาหลายปีด้วยเงื่อนไขภายในประเทศหลังคสช.ยึดอำนาจ ออกประกาศห้ามชุมนุม และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันด้วยสถานการ์โควิด โดยปีสุดท้ายที่มีการเดินขบวนคือ วันกุดส์สากลในปี พ.ศ.2559
สำหรับในปีนี้ “สมาพันธ์อัลกุดส์นานาชาติแห่งประเทศไทย” ได้รื้อฟื้นให้มีการจัดเดินขบวนแสดงพลังขึ้นมาอีกครั้ง โดยเลือกที่จะย้ายการชุมนุมมายังบริเวณถนนพรานนก แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
อิหม่ามเสถียรภาพ สุขสำราญ (เชคมุฮัมหมัด อาลี) ประธานสมาพันธ์อัลกุดส์นานาชาติแห่งประเทศไทยและอิหม่ามมัสยิดกุฎีหลวง กล่าวกับเดอะพับลิกโพสต์ว่า “แม้ปีนี้สถานการณ์เอื้อให้มีการจัดการชุมนุม อันเนื่องจากไม่มีประกาศห้ามชุมนุมของคสช.และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดก็คลี่คลาย แต่เนื่องจากวันกุดส์สากล ตรงกับวันที่ 14 เมษายน ซึ่งเป็นวันสงกรานต์ของไทย สมาพันธ์อัลกุดส์ฯ ได้มีการพูดคุยกันว่า เพื่อหลีกการการเข้าใจผิดที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างผู้ชุมนุมกับผู้ที่เล่นสงกรานต์ และอาจก่อให้เกิดบรรยากาศที่ไม่เหมาะสมระหว่างการชุมนุม ในปีนี้จึงมีมติไม่จัดการชุมนุมเพื่อเคลื่อนขบวนไปที่สถานทูตอิสราเอล แต่จัดการละศีลอดและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่มัสยิดกุฎหลวง ถนพรานนก ซอย 11 แทน”
“สำหรับในปีหน้าและปีต่อๆ ไป สมาพันธ์อัลกุดส์นานาชาติแห่งประเทศไทย จะกลับไปชุมนุมที่หน้าสถานทูตอิสราเอลอีกครั้ง เพื่อแสดงการสนับสนุนที่ไม่เปลี่ยนแปลงของเราที่มีต่อประชาชนปาเลสไตน์ในการต่อสู้เพื่อต่อต้านการยึดครองของอิสราเอลที่โหดร้าย และยืนหยัดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์และทุกคนที่ตกเป็นเหยื่อนโยบายการยึดครอง การกดขี่ และการแบ่งแยกสีผิวที่ผิดกฎหมายและผิดศีลธรรมของระบอบการปกครองไซออนิสต์” อิหม่ามเสถียรภาพกล่าวยืนยันกับเดอะพับลิกโพสต์
สำหรับการชุมนุมเดินขบวนอัลกุดส์ ที่ถนนพรานนกซึ่งจัดโดยสมาพันธ์อัลกุดส์ฯ นั้น เวลาประมาณ 16.00 น. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 300 คนได้เริ่มตั้งขบวน หน้าปั้มเอสโซ่ ริมถนนพรานนก จากนั้นเดินขบวนและตะโกนสโลแกนประณามอิสราเอลมาตามถนนจนถึงจุดกลับรถหน้าซอยสุดสาคร และเดินเข้าไปทำกิจกรรมต่อที่ลานมัสยิดกุฎีหลวง ซอยพรานนก 11 โดยมีการปราศรัยจากเชคฮุเซน บินซาเล็ม นักการศาสนา อ.สมัย เจริญช่าง กรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครและกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (ผู้แทน กอ.กทม.) และอิหม่ามศราวุธ ศรีวรรณยศ อิหม่ามมัสยิดต้นสน จากนั้นอิหม่ามเสถียรภาพ ได้อ่านแถลงการณ์ของสมาพันธ์อัลกุดส์นานาชาติแห่งประเทศไทย เนื่องใน “วันอัลกุดส์สากล” 2023 และเชคฮุเซน แสงวิมาน อ่านแถลงการณ์เป็นภาษาอาหรับ จากนั้นจึงยุติการชุมนุม
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้สมาพันธ์อัลกุดส์นานาชาติแห่งประเทศไทยจะไม่ขบวนเคลื่อนไปยังบริเวณหน้าอาคารโอเชียนทาวน์เวอร์ ถนนสุขุมวิท ซอย 19 ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย แต่ก็มีชาวมุสลิมอีกกลุ่มประมาณ 50 คนได้ไปชุมนุมแสดงพลังเพื่อสนับสนุนปาเลสไตน์และต่อต้านอิสราเอลยังสถานที่ดังกล่าวด้วยเช่นกัน
แถลงการณ์สมาพันธ์อัลกุดส์นานาชาติแห่งประเทศไทย
เนื่องใน “วันอัลกุดส์สากล” 2023 (ศุกร์ ที่ 14 เมษายน พ.ศ.2566)
ด้วยพระนามแห่งอัลเลาะฮ์ผู้ทรงเมตตากรุณายิ่ง
พี่น้องที่เคารพ วันนี้เรามารวมตัวกันเนื่องใน “วันอัลกุดส์สากล” เพื่อยืนยันการสนับสนุนที่ไม่เปลี่ยนแปลงของเราที่มีต่อประชาชนปาเลสไตน์ในการต่อสู้ที่ยาวนานและยากลำบากของพวกเขาเพื่อต่อต้านการยึดครองของอิสราเอลที่โหดร้าย เราขอยืนหยัดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์และทุกคนที่ตกเป็นเหยื่อนโยบายการยึดครอง การกดขี่ และการแบ่งแยกสีผิวที่ผิดกฎหมายและผิดศีลธรรม
เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่ชาวปาเลสไตน์ถูกปฏิเสธสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน รวมถึงสิทธิในการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง และสิทธิในการมีชีวิตอยู่อย่างสงบและปลอดภัยบนดินแดนบรรพบุรุษของพวกเขา การยึดครองของอิสราเอลก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานและความยากลำบากอย่างใหญ่หลวง รวมถึงการพลัดถิ่นของชาวปาเลสไตน์หลายล้านคนจากที่อยู่อาศัย และการปิดล้อมฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่องของอิสราเอลได้ส่งผลให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมในระดับหายนะ
ต้นเหตุปัญหาของปาเลสไตน์ไม่ใช่แค่ประเด็นทางการเมือง แต่เป็นปัญหาสิทธิมนุษยชน เราจึงขอเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อยุติการยึดครองของอิสราเอล และให้อิสราเอลรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราเรียกร้องให้ยุติกิจกรรมการตั้งนิคมทั้งหมดในเขตเวสต์แบงก์โดยทันที รวมถึงเยรูซาเล็มตะวันออก และรื้อถอนการตั้งนิคมที่มีอยู่ทั้งหมด เรายังเรียกร้องให้ยกเลิกการปิดล้อมฉนวนกาซาและฟื้นฟูเสรีภาพในการเคลื่อนไหวของชาวปาเลสไตน์
นอกจากนี้ เราขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองชาวปาเลสไตน์ทั้งหมดทันที รวมทั้งผู้หญิง เด็ก และนักข่าว ซึ่งถูกปฏิบัติและทรมานอย่างไร้มนุษยธรรมในสถานกักขังของอิสราเอล ประชาคมระหว่างประเทศต้องไม่เมินเฉยต่อความทุกข์ทรมานของนักโทษเหล่านี้ และต้องดำเนินการทันทีเพื่อให้พวกเขาได้รับการปล่อยตัวและรับประกันความปลอดภัย
ในวันนี้ เราให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนชาวปาเลสไตน์และการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เสรีภาพ และสันติภาพ เราจะไม่นิ่งเฉยต่อความอยุติธรรม เราจะยืนหยัดเคียงข้างชาวปาเลสไตน์ต่อไปจนกว่าชาวปาเลสไตน์จะได้รับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและใช้ชีวิตอย่างสงบและปลอดภัยบนดินแดนบรรพบุรุษของพวกเขา เราเรียกร้องให้ทุกคนที่มีมโนธรรมมาร่วมกันในอุดมการณ์อันสูงส่งนี้และยืนหยัดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์จนกว่าวันแห่งเสรีภาพจะมาถึงพวกเขา
ปาเลสไตน์จงเจริญ
วันกุดส์สากล คืออะไร?
วันกุดส์สากล (International Quds Day) เป็นกิจกรรมประจำปีในวันศุกร์สุดท้ายของเดือนรอมฎอนของอิสลาม ถูกสถาปนาครั้งแรก ในปี 1979 โดย “อะยาตุลเลาะห์ โคมัยนี” ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน
และนับตั้งแต่นั้นมาก็ได้รับการยอมรับจากชาวมุสลิมทั่วโลก มีการชุมนุม การเดินขบวนในหลายเมืองทั่วโลก วันนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านการกดขี่ของอิสราเอลและการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับชาวปาเลสไตน์
ประวัติของวันกุดส์ย้อนไปถึงต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อจักรวรรดิอังกฤษเข้ายึดครองปาเลสไตน์ โดยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง องค์การสหประชาชาติ (UN) ตัดสินใจแบ่งปาเลสไตน์ออกเป็น 2 รัฐ หนึ่งเป็นรัฐยิวและอีกหนึ่งเป็นรัฐอาหรับ การตัดสินใจนี้ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากโลกอาหรับ และในปี พ.ศ.2491 อิสราเอลได้รับการสถาปนาเป็นรัฐ สิ่งนี้นำไปสู่สงครามหลายครั้งระหว่างอิสราเอลและเพื่อนบ้านชาวอาหรับ ส่งผลให้อิสราเอลครอบครองดินแดนปาเลสไตน์มากขึ้น
ในปี พ.ศ. 2510 อิสราเอลยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ที่เหลืออยู่ รวมทั้งเยรูซาเล็มตะวันออก เวสต์แบงก์ และฉนวนกาซา ตามมาด้วยการย้ายถิ่นฐานของชาวปาเลสไตน์จำนวนมากและการตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอลในดินแดนที่ถูกยึดครอง ชาวปาเลสไตน์ดิ้นรนเพื่อสิทธิ อิสรภาพ และเอกราชของพวกเขาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ความโหดร้ายของอิสราเอลและลัทธิไซออนิสต์ที่มีต่อชาวปาเลสไตน์เป็นเรื่องไม่สามารถเพิกเฉยได้ รัฐบาลอิสราเอลกดขี่ชาวปาเลสไตน์อย่างเป็นระบบด้วยการใช้กฎหมายที่เลือกปฏิบัติ สร้างนิคมตั้งถิ่นฐานบนดินแดนของชาวปาเลสไตน์ และมีส่วนร่วมในการโจมตีทางทหารต่อพลเรือนชาวปาเลสไตน์ กองทัพอิสราเอลมีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนนับครั้งไม่ถ้วน รวมถึงการสังหารเด็กชาวปาเลสไตน์และการทำลายบ้านและโครงสร้างพื้นฐานของชาวปาเลสไตน์
นโยบายการแบ่งแยกสีผิวของรัฐบาลอิสราเอลที่มีต่อชาวปาเลสไตน์ได้รับการประณามจากประชาคมระหว่างประเทศ รวมทั้งสหประชาชาติ สหประชาชาติเรียกร้องหลายครั้งให้ยุติการยึดครองของอิสราเอลและจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ที่อิสระ อย่างไรก็ตาม อิสราเอลเพิกเฉยต่อการเรียกร้องเหล่านี้และยังคงละเมิดสิทธิมนุษยชนของ ชาวปาเลสไตน์ต่อไป
ความสำคัญของวันกุดส์ อยู่ที่การส่งสารของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นวันที่ชาวมุสลิมและผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมมารวมตัวกันเพื่อประณามการยึดครองเยรูซาเล็มของอิสราเอล และแสดงการสนับสนุนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพและเอกราชของชาวปาเลสไตน์ เป็นการย้ำเตือนว่าปัญหาปาเลสไตน์ไม่ใช่แค่ปัญหาของชาวมุสลิม แต่เป็นปัญหาด้านมนุษยธรรมระดับโลกที่ต้องได้รับความสนใจจากประชาคมระหว่างประเทศ
วันกุดส์ยังทำหน้าที่เป็นเวทีสำหรับผู้นำทางการเมือง นักกิจกรรม และนักวิชาการในการพูดต่อต้านความ อยุติธรรมที่ชาวปาเลสไตน์ต้องเผชิญ เป็นโอกาสที่จะสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องที่กระทำโดยอิสราเอล และเรียกร้องความรับผิดชอบต่อการกระทำเหล่านี้
นอกจากนี้ วันกุดส์ยังเป็นเครื่องเตือนใจถึงความสำคัญของกรุงเยรูซาเล็มในศาสนาอิสลาม เมืองนี้เป็นที่ตั้งของมัสยิดอัล-อักซอ ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันดับสามของศาสนาอิสลาม และถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมทั่วโลก การยึดครองกรุงเยรูซาเล็มของอิสราเอลไม่เพียงละเมิดสิทธิของชาวปาเลสไตน์เท่านั้น แต่ยังเป็นการดูหมิ่นความเชื่อทางศาสนาและการปฏิบัติของชาวมุสลิมด้วย