ปิดฉาก ปี 2557 แห่งการพลิกโฉมหน้าประเทศไทย หลังการเข้ายึดอำนาจรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนโดยคณะรักษาความสงบแห่ง ชาติ(คสช.) ที่นำโดย”บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา หลัง 22 พ.ค. คสช.และรัฐบาล ใส่เกียร์เดินหน้ามาเกือบจะถึงครึ่งทางตามพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ ที่คสช.วางไว้
เมื่อที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเวทีรับฟังประเด็นและข้อเสนอแนะสำหรับนำไปตั้งเค้าโครงยกร่างรัฐธรรมนูญ ครบถ้วน ทั้งจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และโดยเฉพาะจากกรรมาธิการวิสามัญประจำสปช. ทั้ง 18 คณะ ซึ่งถือเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้สังคมทั่วไปเห็นว่า เป็นการเปิดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆแล้ว
ขั้นตอนหลังจากนี้เหลือเพียงนำส่วนผสมที่ได้มาคลุกเคล้ากับพิมพ์เขียวของคสช. ผ่านการดำเนินการโดยคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ กระทรวงกลาโหม และสุดท้ายต้องลงตราประทับโดยคณะรัฐมนตรี(ครม.) ก่อนจะถึงขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างจริงจังโดย 36 อรหันต์ทองคำ กมธ.ยกร่างฯ ที่นำโดย“ซุปเปอร์เนติบริกร”อย่าง “อ.ปื๊ด” บวรศักดิ์ อุวรรณโณ หลังเปิดศักราชใหม่ จะเดินเครื่องเต็มสูบในช่วงกลางเดือนม.ค.2558 เป็นต้นไป กำหนดดีเดย์พิจารณารายมาตรา 12 ม.ค.
จากข้อสรุปของกมธ.ทั้ง 18 ด้าน ได้แก่ กมธ.ปฏิรูปการเมือง กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กมธ.ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น กมธ.ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง กมธ.ปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ กมธ.ปฏิรูปพลังงาน กมธ.ปฏิรูประบบสาธารณสุข กมธ.ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ กมธ.ปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส กมธ.ปฏิรูปแรงงาน กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตมิชอบ กมธ.ปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรม และการศาสนา กมธ.ปฏิรูปการกีฬา กมธ.ปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญา และกมธ.ปฏิรูป การคุ้มครองผู้บริโภค
ที่น่าสนใจที่สุดคือ กมธ.ปฏิรูปการเมือง นำโดยนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ แกนนำกลุ่มวิชาการชุดวางยุทธศาสตร์ให้กลุ่มกปปส. ที่เสนอประเด็นร้อนแรงที่สุดคือ โมเดลให้ประชาชนเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี(ครม.)โดยตรง โดยให้พรรคการเมืองระบุชื่อนายกฯและครม.ทั้งคณะ ภายใต้กฎกติกาที่นายสมบัติยืนยันว่าจะวางไว้ให้รัดกุมที่สุด และให้คำมั่นว่าสามารถตอบโจทย์ระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประชุมได้ตรงที่สุด
ขณะที่ที่มาของสมาชิกรัฐสภา กำหนดให้มี ส.ส.ทั้งสิ้น 350 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ตัดทิ้งส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะยึดระบบเลือกตั้งแบบใด ส่วนที่มา ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน และเลือกจากกลุ่มองค์กรวิชาชีพและกลุ่มอาชีพอื่นๆ อีก 77 คน รวมทั้งหมด 154 คน
การเขวี้ยงก้อนหินปล่อยกระแส“โมเดลเยอรมัน”ออก มาถามทาง จนสร้างความสับสนอลหม่านไปทั่ว จนมีเสียงทักท้วงกันอื้ออึงว่า โมเดลของนายสมบัตินี้ จะกลายเป็นระบบกึ่งประธานาธิบดีหรือเปล่า แม้กระทั่งจากปากของ นายบวรศักดิ์เอง ที่ลุกขึ้นท้วงติงกลางสภา หักหน้ากันแบบดิบๆ ว่า เป็นการเสนอระบอบใหม่ เป็นนวัตกรรมใหม่ ไม่มีประเทศไหนเคยใช้ระบบนี้ โดยจุดเสี่ยงของเลือกตั้งฝ่ายบริหาร จะทำให้เกิดการซื้อเสียงรุนแรง เพราะระบบนี้ผู้ชนะกินรวบ จึงต้องลงทุนมหาศาล เมื่อเลือกตั้งคณะรัฐมนตรีโดยตรง จะต้องซื้อ ส.ส.ให้ได้มากที่สุดในรัฐสภา การได้นายกรัฐมนตรีเข้มแข็งเกินไป ทำให้ปลดไม่ได้ และปรับคณะรัฐมนตรีลำบาก
แถมสำทับอีกว่า ระบบนี้จุดเสี่ยงเชิงโครงสร้างเพราะนายกรัฐมนตรีจากการเลือก ตั้งโดยตรง จะมีอำนาจมากกว่าประธานาธิบดี ระบบนี้เป็นการแบ่งแยกอำนาจเทียมแต่ให้นายกรัฐมนตรีเสนอกฎหมายใหม่ แถมตบท้ายเรียกระบบนี้ว่า “ระบบรัฐสภาซุปเปอร์ประธานาธิบดี” ซึ่งจะทำให้ เกิดอำนาจล้นฟ้าด้วย
นอกจากนี้ “บิ๊กตู่” เอง แม้จะไม่แสดงตัวหรือออกความเห็นกับโมเดลรธน.ฉบับใหม่ ก็ยังจะสะกิดเตือนเป็นระยะๆ เท่านั้นว่า ให้อยู่ในร่องในรอย อย่าสุดโต่งเกินไป
แต่ถ้าหันกลับไปดูจะเห็นว่าโมเดลของนายสมบัตินี้ไม่ได้เสนอกันขึ้นมาลอยๆ ก่อนหน้านี้ก็โยนหินกันมาแล้วโดยกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส. )และโดยเฉพาะจากร่างรัฐธรรมนูญ“ฉบับคสช.” ภายใต้“พิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ” เรื่องการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ที่คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ของกระทรวงกลาโหม เสนอโดยเปิดช่องเอาไว้ในหมวดปฏิรูปด้านการเมือง รูปแบบรัฐสภา มี 2 รูป แบบ คือ รัฐสภาแบบเลือกตั้งนายกฯโดยตรง จากรายชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาคราวเดียวกัน กับรัฐสภาแบบการเลือกตั้งนายกฯโดยอ้อม
ภายใต้พิมพ์เขียวฉบับนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของคสช. ก็ยังคาดการณ์การเมืองการปกครองหลังได้รัฐธรรมนูญใหม่ ภายหลังการเลือกตั้งเชื่อว่าความขัดแย้งน่าจะมีอยู่ แต่เป็นความขัดแย้งใหม่จากรัฐธรรมนูญใหม่ หากร่างออกมาไม่ดีและไม่เป็นที่ปรารถนาของประชาชน แต่เชื่อว่าจะมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง แยกออกมาจากรัฐสภา
นี่…ยัง เป็นประเด็นปลีกย่อยของการพลิกโฉมหน้าเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองประเทศ เพราะเป็นเพียงแค่การร่างกติกาสร้างกลไกกันขึ้นมาใหม่ ยังมีปัจจัยแทรกซ้อนอีกหลายเรื่อง ที่จะมาเป็นหินลองทองว่าการยกเครื่องประเทศครั้งนี้ จริงใจกันมากน้อยแค่ไหน จ้องจะกีดกันตัวเล่นเดิมๆ เพื่อเอื้อให้พวกนักการเมืองสายพันธุ์ใหม่หรือไม่
ขณะที่สารพัดปัญหาจะเริ่มทยอยถาโถมกันเข้ามา หลังช่วงเวลาแห่งความสุข การเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ผ่านพ้นไป ไม่ว่าจะเรื่องอาการขบเกลียวกันให้กลุ่มขั้วอำนาจรัฐบาล หลังปีใหม่ก็คงมีการปรับองคาพยพกันอีกครั้ง เพราะหลายคนโชว์กึ๋นให้เห็นแล้วว่ามือไม่ถึงจริงๆ ที่จะมาแบกรับความผิดชอบในสถานการณ์พิเศษนี้ได้
บวกกับกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เริ่มแสดงให้เห็นอาการ“ดื้อยา กฎอัยการศึก” มาก ขึ้นทุกที โดยเฉพาะกับกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคาพืชผลตกต่ำ ทั้งชาวสวนยางพารา เกษตรกรชาวนา และกลุ่มการเมืองสีต่างๆที่รอวันผุดจากดินอื่น รอแค่เพียงวัน ว. เวลา น. ให้สถานการณ์สุกงอมเท่านั้น และโดยเฉพาะถ้ากฎ กติกาใหม่มีความชัดเจนเมื่อไหร่
ยังไม่นับรวมถึงคดีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการการเมือง ซึ่งจะเป็นของร้อนที่ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบ ทั้งคดีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และคดีโกงข้าวของอดีต”นายกฯปู”จ่อเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่ง ชาติ โดยจะมีการแถลงเปิดสำนวน คดีในวันที่ 8 -9ม.ค.ตามลำดับ จากนั้นก็จะเป็นคดีของส.ว38 คน ที่จะพิจารณาต่อไป ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
รวมไปถึงสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังอยู่ในอาการทรงๆ โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ดิ่งฮวบๆ ค่าเงินบาท และสถานการณ์การก่อการร้ายทั่วโลกที่มีแนวโน้มรุนแรง
ทั้งหมดจะเป็นตัวชี้วัดเสถียรภาพรัฐบาล“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2558 ว่าจะยังนั่งบริหารประเทศได้อย่างราบรื่น เรตติ้งพุ่งกระฉูด หรือจะเหนื่อยสายตัวแทบขาด…!!