การเคหะแห่งชาติตระหนักถึงกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัยในชุมชนดินแดงเป็นสำคัญ เนื่องจากชุมชนดินแดงเป็นชุมชนเก่าแก่ ทุกคนอาศัยอยู่ร่วมกันมายาวนาน จึงเปรียบเสมือนครอบครัวใหญ่ที่มีญาติพี่น้องทุกเพศทุกวัยอยู่ร่วมกัน ดังนั้นการบริหารจัดการครอบครัวหรือชุมชนให้น่าอยู่อาศัย จะต้องมีทั้งผู้นำและจิตอาสาที่เป็นถือเป็นผู้แทนชุมชนคอยช่วยประสานงานระหว่างการเคหะแห่งชาติและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนได้รับการพัฒนาอย่างครอบคลุมทุกมิติ
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติได้นำแนวคิดการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนดินแดงเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง เพื่อรับรู้ รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง รวมถึงกระบวนการดำเนินงานของโครงการฯ ทุกขั้นตอน เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนได้รับทราบข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งในชุมชนดินแดงมีตัวแทนชุมชนอยู่หลายกลุ่ม ทั้งคณะกรรมการชุมชน ผู้นำตามธรรมชาติ รวมถึงจิตอาสา ที่คอยช่วยประสานงานให้สมาชิกในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลและพัฒนาชุมชนร่วมกัน ทั้งในด้านการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง การจัดกิจกรรมในชุมชน และการบริการสาธารณะที่จำเป็น
ตัถยา ประไพเพชร
ประธานคณะกรรมการเคหะชุมชนดินแดง 1 แฟลต 23-32
“ความมุ่งหวังในการรับอาสาเข้ามาเป็นผู้นำชุมชน ซึ่งครั้งนี้เป็นสมัยแรกของผม ภารกิจเร่งด่วนที่ต้องทำก็คือ อยากให้ชุมชนสะอาดน่าอยู่ ตอนนี้ได้วางแผนดำเนินการแล้ว โดยได้เริ่มทำโครงการชุมชนสะอาดด้วยสองมือเรา รณรงค์ให้ผู้อยู่อาศัยช่วยกันดูแลความสะอาด และหากมีของที่ต้องการทิ้งสามารถนำมาทิ้งได้ที่หลังแฟลต 26 และ แฟลต 32 เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย น่าอยู่น่าอาศัย อีกเรื่องที่ผมให้ความสำคัญคือ ความสามัคคีในชุมชน และการสืบสานวัฒนธรรมประเพณี เช่น ประเพณีสงกรานต์ ชุมชนเราทำบุญเลี้ยงพระร่วมกัน ณ ที่ทำการคณะกรรมการเคหะชุมชน แฟลต 26 และอยากเน้นย้ำเรื่องความสะอาดในชุมชนกับทุกคน เพราะคุณภาพชีวิตที่ดีเริ่มต้นจากสิ่งแวดล้อมที่ดี”
ศิริชัย ศรีสิทธิ์
ประธานชมรมผู้สูงอายุเคหะชุมชนดินแดง 1 แฟลต 23-32
“ก่อนหน้าที่จะมารับตำแหน่งประธานชมรมฯ ก็เข้าร่วมกิจกรรมชุมชนเสมอ ค่อนข้างให้ความสำคัญกับงานของส่วนรวมมาตลอด แต่ว่าไม่ได้เข้ามาเต็มตัว เพราะทำงานเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ตอนนี้เกษียณแล้วมีเวลาเต็มที่ ประกอบกับงานด้านผู้สูงอายุไม่มีคนสานต่อ จึงอาสาเข้ามาทำ ปีนี้กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เป็นปีผู้สูงอายุ สอดคล้องกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ให้ความสำคัญแก่ผู้สูงอายุ กิจกรรมของชมรมส่วนใหญ่ก็เป็นกิจกรรมนันทนาการและนัดหมายเจ้าหน้าที่มาตรวจสุขภาพ หรือยามที่ผู้สูงอายุเจ็บป่วยต้องไปโรงพยาบาล ถ้าไม่มีเปลพยาบาลมาเราก็ต้องคอยเตรียมพร้อมและใช้เก้าอี้แทนเปลเพื่อนำผู้สูงอายุลงมาจากอาคาร หลัก ๆ ก็คงจะเป็นเรื่องสุขภาพ ส่วนเรื่องความเป็นอยู่ในชุมชนก็อยากเชิญชวนผู้อยู่อาศัยทุกท่านช่วยกันดูแลความสะอาดให้ที่พักอาศัยของเราน่าอยู่น่าอาศัย”
มาลี ยิ่งเจริญ
รองประธานคณะกรรมการเคหะชุมชนดินแดง 1 แฟลต 23-32
“เข้ามาทำงานเป็นกรรมการชุมชนมากว่า 10 ปีแล้ว ช่วงแรก ๆ ก็ช่วยประสานงานกับผู้อยู่อาศัย สอบถามว่ามีความเดือดร้อนอะไร อยากให้ช่วยเหลือด้านไหน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับผู้พิการ ช่วยเหลือด้วยการแนะนำให้ลงทะเบียนผู้พิการกับทาง พม. เพื่อให้ได้เบี้ยคนพิการ เพราะอยู่ที่นี่มานานตั้งแต่ปี 2511 จึงรู้จักผู้อยู่อาศัยพอสมควร มาถึงช่วงโควิดตอนที่ระบาดหนัก ๆ ก็ต้องคอยติดตามสถานการณ์ผู้ป่วยและคนที่ต้องการความช่วยเหลือ จัดหาถุงยังชีพให้สำหรับผู้ที่รักษาตัวที่บ้าน ให้ได้รับความช่วยเหลือจากศูนย์บริการสาธารณสุข 4 ดินแดง และการเคหะแห่งชาติ ส่วนตัวเวลาเห็นคนเดือดร้อนก็ต้องช่วย อยากเชิญชวนให้คนในชุมชนช่วยกันพัฒนาบ้านเรา ไม่อยากให้แบ่งแยก เพราะผู้อยู่อาศัยเคหะทุกหลังคาเรือนก็เสมือนบ้านหลังใหญ่ ช่วยเหลือกันคนละไม้คนละมือ ช่วยดูแลกัน บ้านเราสะอาดน่าอยู่”
ประวิทย์ เทียนฟัก
ผู้อยู่อาศัยเคหะชุมชนดินแดง 1 (แฟลต 2)
“มีหน้าที่ดูแลความสะอาดแฟลต 29-30 บริเวณบันไดทั้งสองฝั่งของอาคาร ทำงานวันจันทร์-เสาร์ มีเวลาทำงานตรงนี้ประมาณ 1 ปีครึ่งบริเวณบันไดเป็นพื้นที่ส่วนรวมของชุมชน ที่ผ่านมามักพบขยะ หรือไม่ก็ก้นบุหรี่ ต้องทำให้พื้นที่ส่วนกลางสะอาดเรียบร้อย จริง ๆ ต้องทำงานอาทิตย์ละ 6 วัน แต่ถ้ามีกิจกรรมพิเศษหรือนอกเหนือจากหน้าที่ คุณหนุ่ม (ประธานฯ) ก็จะแจ้ง รู้สึกยินดีที่ได้มาช่วยงานตลอด เช่น มีรถมารับขยะหรือของเหลือใช้หลังแฟลต 26 ก็จะไปช่วยกันขนขึ้นรถ จึงอยากขอความร่วมมือทุกท่านทิ้งขยะตามจุดที่กำหนดไว้ ไม่ทิ้งขยะบริเวณบันไดหรือพื้นที่ส่วนรวมอื่น ๆ เพื่อให้ชุมชนสะอาด เป็นบ้านที่น่าอยู่ของพวกเราทุกคน”