ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (ตอนที่ 3)

หลังจากรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ ประกาศใช้พระราชบัญญัติการใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกที่ไม่สนองตอบตามความต้องการและคำเรียกร้องของผู้นำศาสนาอิสลามส่วนใหญ่ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ทำให้ตวนกูรูหะยีสุหลง โต๊ะมีนา มีความรู้สึกไม่พอใจอย่างมาก เพราะกฎหมายฉบับนี้ไม่ให้อำนาจดะโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้วินิจฉัยตัดสินคดี เพียงแต่ทำหน้าที่นั่งพิจารณาคดีร่วมกับผู้พิพากษาและให้ความเห็นในข้อ กฎหมายอิสลามเท่านั้น

ดังนั้นตวนกูรูหะยีสุหลงฯ จึงเคลื่อนไหวเชิญชวนบรรดาผู้นำศาสนาอิสลามทุกระดับในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส และ ยะลา เรียกร้องให้รัฐบาลแยกศาลศาสนาอิสลามออกเป็นเอกเทศจากศาลยุติธรรมประจำ จังหวัด อีกทั้งยังรณรงค์กระตุ้นเตือนให้ชาวมลายูปาตานีตื่นตัวและเห็นด้วยกับข้อ เรียกร้องของผู้นำศาสนา โดยเรียกร้องตั้งแต่สมัยรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ จนถึงสมัยรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ประจวบกับสงครามมหาเอเซียบูรพายุติลงไม่นานนัก สภาวะทางสังคมและเศรฐกิจใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในสภาพย่ำแย่ ข้าราชการในพื้นที่ฉวยโอกาสเนื่องจากอำนาจจากรัฐส่วนกลางไม่สามารถสอดส่อง ดูแลทุกข์สุขของชาวบ้านได้อย่างถ้วนหน้า เลยแสดงอำนาจบาตรใหญ่หาประโยชน์ในทางมิชอบ ข่มเหงรังแกประชาชน ดังที่ตวนกูรูหะยีสุหลงฯสะท้อนให้เห็นในปัญหานี้ในขณะนั้นในหนังสือ ” รวมแสงแห่งสันติ ” ( กูกูซัน จาฮายา เกสลบมาตัน ) บางตอนใจความว่า ” ราษฎรในขณะนั้นถูกเจ้าหน้าที่กดขี่เป็นอย่างหนัก หากมีอะไรไม่พอใจก็ใส่ร้ายให้เป็นคดีผิดกฎหมาย โดยจับกุมพาไปยิงทิ้งกลางทาง และใส่ร้ายว่าต่อสู้เจ้าหน้าที่ …..เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนั้นมิใช่เกิดแค่คน 2-3 คน แต่เป็นสิบๆคนในทุกอำเภอ ถ้าหากเราไม่เจรจาโดยดีถูกต้องตามกฎหมายหรือขอร้องต่อหัวหน้าเจ้าหน้าที่ ผู้ที่ไปเจรจนั้นจะโดนข้อหาหนักยิ่งขึ้น ….” ( บางตอนในวิยานิพนธ์ของ นายเฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร )

ท่ามกลางสถานการณ์อันเลวร้ายอยู่นั้น ชาวมลายูปาตานีหลายรายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมได้ร้องเรียนต่อรัฐบาล จนทำให้รัฐบาล พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แต่งตั้ง ” กรรมการสอดส่องสภาวะการณ์ใน 4 จังหวัดภาคใต้ ” ในวันที่ 20 มีนาคม 2490 เพื่อสืบสวนและเสนอแนะปรับปรุงสภาพการณ์เลวร้ายต่างๆที่กำลังเป็นอยู่ และสั่งให้กรรมการฯดังกล่าวลงพื้นที่พบปะผู้นำศาสนาและประชาชนในจังหวัด ปัตตานีในวันที่ 3 เมษายน 2490

เมื่อตวนกูรูหะยีสุหลงฯ ได้ทราบวันเวลาการเดินทางมาจังหวัดปัตตานีของกรรมการสอดส่องสภาวะการณ์ใน 4 จังหวัดภาคใต้จาก นายวิเวก จันทโรจน์วงศ์ ข้าหลวงจังหวัดปัตตานีแล้ว จึงได้เชิญชวนผู้นำศาสนาอิสลามและชนชั้นนำชาวมลายูปาตานีประมาณ 100 คน ประชุมกันที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ในวันที่ 1 เมษายน 2490 ในที่ประชุมมีข้อสรุปใช้ไม้ตายยื่นข้อเสนอเรียกร้อง 7 ข้อ ต่อรัฐบาล พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งมีเนื้อหาสาระดังนี้

  ข้อ 1. ขอให้รัฐบาลแต่งตั้งชาวมลายูปาตานี 1 คน มีอำนาจสูงสุดในการปกครอง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้

      ข้อ 2. ขอให้มีการสอนภาษามลายูในโรงเรียนรัฐบาลควบคู่กับภาษไทย

      ข้อ 3. ขอให้ใช้ภาษมลายูควบคู่กับภาษาไทยในสถานที่ราชการ

      ข้อ 4.  ขอให้มีข้าราชการที่เป็นชาวมลายูปาตานี ร้อยละ 80

      ข้อ 5. ขอให้ภาษีที่เก็บได้ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ต้องส่งให้รัฐบาลกลาง ให้ใช้เฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น

      ข้อ 6. ให้มีการจัดตั้งศาลชารีอะห์

      ข้อ 7. ขอให้ยอมรับว่าชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือชาวมลายูปาตานี

ตามข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ดังกล่าวข้างต้น พอจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลจากเต็งกูมะห์มุด มูไฮยิดดิน ซึ่งขณะนั้นพำนักอยู่ในรัฐกลันตัน เพราะหากรัฐบาลยอมรับตามข้อเสนอในข้อที่ 1.แล้ว บุคคลที่เหมาะสมที่สุดที่จะได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลเป็นผู้ปกครองสูงสุด ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงไม่มัใครจะเหมาะสมเทียบเท่า เต็งกูมะห์มุดฯ อย่างแน่นอน

เมื่อ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์นายกรัฐมนตรี ได้รับข้อเสนอ 7 ข้อ ของตวนกูรูหะยีสุหลงฯแล้ว โดยไม่รีรอให้ชักช้ารัฐบาลได้นำเข้าประชุมในคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาขอมติใน ที่ประชุม แต่ในที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะจะเป็นการทำให้รัฐไทยสูญเสียความเป็นรัฐเดี่ยว และยังเป็นการผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญอีกด้วย

อย่างไรก็ตามประมาณเดือนกรกฎาคม 2490 คณะรัฐมนตรียังมีการลงมติบางประเด็นเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของตวนกูรูหะยี สุหลงฯอยู่บ้าง เช่น ให้สิทธิแก่นักเรียนที่มีเชื้อสายมลายูปาตานีเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยใน เหล่าทหารและตำรวจ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้มีการคัดเลือกข้าราชการที่พูดภาษมลายูได้เข้ารับราชการใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีวันหยุดราชการในวันศุกร์ ให้กระทรวงศึกษาธิการเปิดสอนภาษามลายูในโรงเรียนประถมอาทิตย์ละ 5 ชั่วโมง สร้างมัสยิดกลางจังหวัดละ 1 แห่ง ยกเว้นจังหวัดนราธิวาส เพราะมีมัสยิดหลังใหญ่ในตัวจังหวัดอยู่แล้ว ให้กรมโฆษณาการ( กรมประชาสัมพันธ์ ) จัดรายการวิทยุภาคภาษามลายูเพื่อแถลงข่าวการเมืองและข่าวอื่นๆให้ชาวมลายูปา ตานีได้ฟังทุกวัน และจัดผู้นำศาสนาอิสลามจังหวัดละ 3 คน ขึ้นกรุงเทพฯเพื่อถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเนื่องในโอกาสวัน เฉลิมพระชนม์พรรษา

การที่รัฐบาล พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้ผ่อนปรนตามข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ของตวนกูรูหะยีสุหลงฯ บางข้อแม้ไม่ตรงตามเจตนารมย์ทั้งหมด ก็ยังถือได้ว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และบุคคลที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาลและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลครั้ง นี้ก็คือ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินนั้นเอง แต่เป็นที่น่าเสียดายมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวนี้ไม่ทันได้ใช้ในสมัยรัฐบาล พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เพราะได้มีการกระทำการรัฐประหารยึดอำนาจโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เสียก่อน

อย่างไรก็ตามตวนกูรูหะยีสุหลงฯยังไม่ละความพยายามตามเจตนารมย์และอุดมการณ์ ดั้งเดิม ท่านได้ออกเคลื่อนไหวไปตามสถานที่ต่างๆทั้งในชุมชนที่มีมัสยิดและปอเนาะ ประชุมชาวบ้านชี้แจงทำความเข้าใจถึงสิทธิอันชอบธรรมของชาวมลายูปาตานีที่จะ พึงได้รับตามข้อเรียกร้องที่เสนอต่อรัฐบาล สถานที่อันเป็นจุดศูนย์รวมที่ทำการพบปะกับชาวบ้านที่ดีที่สุด ไม่พ้นมัสยิดที่มีการละหมาดในวันศุกร์ ซึ่งพบปะแต่ละครั้งจะมีชาวบ้านร่วมฟังและปรึกษาหารือครั้งละไม่น้อยกว่า 40 คน

วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม 2490 ตวนกูรูหะยีสุหลงฯได้ประชุมกับชาวบ้านมลายูปาตานี ประมาณ 100 คน ที่มัสยิดปรีกี ตำบลกระโด อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เกี่ยวกับศาสนาและปลุกระดมให้ชาวมลายูปาตานีสำนึกในเรื่องชาติพันธุ์และความ ไม่ได้รับความเป็นธรรมอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐไทย มีใจความบางตอนดังนี้

” รัฐบาลไทยปกครองชาวมลายูใน 4 จังหวัดประมาณ 40 ปี แล้วไม่ได้กระทำประโยชน์และบ้านเมืองให้ดีขึ้น…..โรงเรียนก็เหมือนเล้าไก่ เป็นที่เย้ยหยันของคนทั่วไป…..” (บางตอนจากวิทยานิพนธ์ของ นายเฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร เรื่อง การต่อต้านนโยบายรัฐบาลใน 4 จังหวัดภาคใต้ของไทย โดยการนำของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์)

สำหรับการประชุมปลุกระดมในปอเนาะนั้น ทำนองเดียวกันกับที่ได้ใช้ในมัสยิด มีการยกนโยบายคลั่งชาตินิยมไทยของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม มาโจมตีเพื่อปลุกเร้าอารมณ์ผู้ศึกษาในปอเนาะเกิดความรู้สึกในเรื่องการ ละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จนทำให้นักเรียนปอเนาะอัลอิสลาฮับ ตำบลปูยุด อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี คล้อยตามและมีจดหมายตอบรับความว่า

” ….บรรดาศิษย์ทั้งหลายไม่หมดหวังที่จะได้คืนมาซึ่งสิทธิเชื้อชาติมะลายู และมีความกล้าแข็งที่จะต่อต้านเพื่อความอิสรภาพ หากมีอะไรมาขัดขวางก็พร้อมที่จะระเบิดออกประหนึ่งภูเขาไฟ บรรดาศิษย์มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะกระทำการทุกอย่างพร้อมกับผู้นำ บรรดาศิษย์ต้องการผู้นำที่ไม่รู้จักการถอยหลัง ขอให้ท่านประธานกรรมการอิสลาม(หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์) รองประธาน(หะยีอับดุลมายิ โมง อากิบ) เลขานุการ (หะยีอับดุลเลาะ อาหวัง) คิดช่วยชาติของท่านกำลังถูกกดขี่ให้ปลดออกจากความทารุณและขอแสดงความเคารพมา ด้วยความเศร้าสลดที่เต็มไปด้วยน้ำตา…) ( วิทยานิพนธ์ของ นายเฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร )

แต่การเคลื่อนไหวปลุกระดมชาวมลายูปาตานีให้ตื่นตัวเปิดหูเปิดตาเข้าใจใน สิทธิอันพึงมีพึงได้ของตนในฐานะเป็นภูมิบุตรานั้น ไม่สามารถเล็ดรอดสายตาสายข่าวทางการไทยแม้แต่กระพิบตาเดียว รายงานจากสายลับตำรวจไทยและฝ่ายปกครองเกี่ยวกับพฤติกรรมของตวนกูรูหะยีสุ หลงฯเข้าถึงหู นายวิเวก จันทโรจน์วงศ์ ข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานีเป็นระยะๆ และ นายวิเวก จันทโรจน์วงศ์ ได้รายงานต่อกระทรวงมหาดไทยอีกทอดหนึ่ง ซึ่งแน่นอนรายงานดังกล่าวจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากเป็นรายงานที่จะทำให้สถานการณ์ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับทวีความเลวร้ายลงไปอีก นั่นคือ ตวนกูรูหะยีสุหลงฯมีพฤติกรรมยุยงปลุกปั่นชาวมลายูปาตานีให้เกลียดชังต่อต้าน นโยบายรัฐบาลไทย