ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (30)

เมื่อรัฐบาลประกาศวันเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่แน่นอนแล้ว ในที่ประชุมกลุ่ม ” เอกภาพ ” ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2529 มีมติให้ตัวแทนของกลุ่มในแต่ละจังหวัด ประชุมปรึกษาหารือเรื่องการเลือกพรรคการเมืองที่โรงแรมรอแยล (รัตนโกสินทร์) ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2529

แต่ก่อนจะถึงวันประชุมดังกล่าว แต่ละจังหวัดได้ประชุมหารือของตัวแทนแต่ละจังหวัด (ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และ สตูล)ก่อน ผลปรากฎว่า ไม่สามารถที่จะเข้าไปสังกัดในพรรคการเมืองพรรคเดียวได้ เพราะเงื่อนเวลาไม่เอื้ออำนวยต่อการที่จะชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนที่เป็นฐานเสียงของผู้สมัครในแต่ละจังหวัดได้

จึงสรุปให้ผู้สมัครในแต่ละจังหวัดลงสมัครในนามของพรรคที่ประชาชนอันเป็นฐานเสียงของผู้สมัครในจังหวัดนั้นๆ นิยมชมชอบไปก่อน โดยให้คำมั่นสัญญาว่า ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงต่างจะไม่โจมตีซึ่งกันและกัน ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินเอาเองว่าจะเลือกบุคคลใดเป็นตัวแทนในจังหวัดของตน และหลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว ทุกคนยังจะมาร่วมดำเนินงานทางการเมืองในนามกลุ่ม “เอกภาพ” ต่อไป

ความฉุกละหุกทางการเมือง เนื่องจากการยุบสภาอย่างกระทันหัน มิได้ทำให้ผู้สมัครของกลุ่ม “เอกภาพ” ที่แยกย้ายไปสมัครในพรรคการเมืองต่างๆ ต้องประสบกับความยุ่งยากลำบากใจแต่ประการใดไม่ เพราะแต่ละคนมีพรรคการเมืองที่จะเลือกอยู่ในใจอยู่แล้ว คือ นายเสนีย์ มะดากะกุล มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคกิจประชาคม โดยมีนายบุญชู โรจน์เสถียร มือเศรษฐกิจของพรรคกิจสังคมที่ขัดแย้งกับแกนหลักคนอื่นๆ ในพรรคและได้ลาออกจากพรรคกิจสังคมพร้อมๆ กับนักการเมืองอีกหลายคนมาก่อตั้งพรรคขึ้นมาใหม่ คือ พรรคกิจประชาคม ซึ่งนายเสนีย์ มะดากะกุล เป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่ออกจากพรรคมาร่วมขบวนการด้วย ส่วนนายสุดิน ภูยุทธานนท์ เนื่องจากเป็นนักการเมืองเก่าแก่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2518 มีพรรคพวกเพื่อนฝูงมากมายอยู่ในพรรคการเมืองต่างๆ และได้รับการชักชวนจาก พ.อ.พล เริงประเสริฐวิทย์ ให้สมัครในนามพรรคสยามประชาธิปไตย นายจิรายุส เนาวเกตุ นั้นเล่าก็มีความขัดแย้งกับแกนนำคนสำคัญๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ กรณีนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ให้มีการนำพระพุทธรูปไปประดิษฐานในโรงเรียนทั่วไป โดยไม่คำนึงว่าในโรงเรียนนั้นๆ จะมีนักเรียนศาสนิกอื่นอยู่มากมายก็ตาม จึงลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปสมัครในพรรคก้าวหน้าที่มี นายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นหัวหน้าพรรค

ส่วน นายเด่น โต๊ะมีนา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ตัดสินใจไปอยู่พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนี้เพราะได้วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในขณะนั้น พรรคประชาธิปัตย์ค่อนข้างมีกระแสมาแรงโอกาสเป็นรัฐบาลได้สูง และตามที่กลุ่มเอกภาพได้กำหนดนัดหมายไปประชุมหารืออีกครั้งหนึ่งในวันที่ 8 พฤษภาคม 2529 ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนินนั้น จึงถือโอกาสนัดหมายกับ นายวีระ (ชื่อขณะนั้น) มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์แทน

ดังนั้น นายเด่น โต๊ะมีนา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และ ผู้เขียน จึงได้ไปที่โรงแรมดังกล่าว เวลาประมาณ 20.00 น. ท่ามกลายสายฝนโปรยอยู่พรำๆ เพื่อเสนอเงื่อนไขบางอย่างก่อนที่จะตกลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อพบกันแล้วได้พูดคุยกันและปรึกษาหารือการหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายเด่นฯได้ชี้แจงถึงเหตุที่ยังไม่สามารถรวบรวมผู้สมัครที่โดดเด่นและมีอุดมการณ์เดียวกันในแต่ละจังหวัดอยู่ในพรรคการเมืองเดียวกันว่า เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ทันเตรียมตัว รัฐบาลกำหนดวันเลือกตั้งแบบกระทันหัน และในการพูดคุยกันในคืนนั้นมิได้หยิบยกในรายละเอียดข้อเสนอของกลุ่มมาหารือกัน เพียงแค่เสนอขอจากนายวีระว่า หากในกลุ่มได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 5 คน จะขอตำแหน่งรัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง ซึ่งนายวีระรับปากตามข้อเสนอนี้ และคุณวีระยังรับปากอีกว่า ยินดีที่จะประกาศบนเวทีปราศรัยทุกแห่งในสนามเลือกตั้งที่มีการจัดการปราศรัยในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้

เมื่อปรึกษาหารือพอสมควรแก่เวลาแล้ว จึงแยกย้ายกันกลับ โดย นายวันมูหะมัดนอร์และผู้เขียนออกไปจากโรงแรมด้วยกัน เพื่อจะไปขึ้นรถยนต์ของนายวันมูหะมัดนอร์ ที่จอดอยู่ริมคลองหลอดอยู่ทางซีกประตูทางซ้ายหน้าประตูโรงแรม ในขณะที่ฝนยังตกอยู่พรำๆ พอไปถึงจุดที่จอดรถ ปรากฎว่าไม่มีรถจอดอยู่ สร้างความตระหนกตกใจแก่นายวันมูหะมัดนอร์มาก นายวันมูหะมัดนอร์และผู้เขียนหันซ้ายหันขวาสอดสายตาหารถยนต์ที่หายไปอย่างปริศนาด้วยใจระทึก ทำให้อาแป๊ะที่ขายของกินอยู่ข้างๆประตูโรงแรมเดินมาหาและถามว่า หาอะไรหรือ ? นายวันมูหะมัดนอร์ฯตอบว่า หารถยนต์ที่จอดอยู่ริมคลอง ไม่รู้หายไปใหน อาแป๊ะชี้มือไปทางคลองพร้อมกับบอกว่า รถตกจมอยู่ในคลอง เพราะเมื่อเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงที่ผ่านมามีรถยนต์คันหนึ่งขับวิ่งมาด้วยความเร็วสูงท่ามกลางฝนตกหนักถนนลื่นแฉลบทางเข้าชนท้ายรถยนต์ที่จอดอยู่เสียงดังโครมสนั่นใหญ่จนรถกระเด็นตกลงไปในคลอง ด้วยความตกใจกลัวคนขับรถคันนั้นขับวิ่งต่อไปโดยไม่ได้สนใจลงมาดูรถที่ตกลงจมอยู่ในคลองแม้แต่น้อย เมื่อทราบดังนั้นนายวันมูหะมัดนอร์ฯและผู้เขียนไปดูในคลอง ปรากฎว่าเห็นท้ายรถโผล่อยู่เหนือผิวน้ำให้เห็นอย่างมัวๆ เป็นอันว่าในคืนนั้นนายวันมูหะมัดนอร์ต้องปล่อยให้รถยนต์คู่ชีพแช่อยู่ในน้ำจนถึงวันใหม่จึงได้จ้างรถยกกู้รถยนต์ขึ้นมาจากคลองได้สำเร็จ แล้วเอาไปซ่อมแซมเสียเงินไปไม่น้อย

สำหรับ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของกลุ่ม “เอกภาพ” ที่ลงสมัครใน สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามพรรคการเมืองต่างๆ มีดังนี้

จังหวัด ปัตตานี

พรรคประชาธิปัตย์
1. นายเด่น โต๊ะมีนา
2. นายปรีชา บุญมี
3. จสต. ศักดิ์ มะอีแต

พรรคสยามประชาธิปไตย
นายสุดิน ภูยุทธานนท์

จังหวัด นราธิวาส

พรรคประชาธิปัตย์
1. นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์
2. นายพิบูลย์ พงศ์ธเนศ
3. นายนภดล ภัทราธิกุล

พรรคกิจประชาคม
นายเสนีย์ มะดากะกุล

จังหวัด ยะลา

พรรคประชาธิปัตย์
1. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา
2. นายอับดุลรอแม หะยีมิง

จังหวัด สตูล

พรรคก้าวหน้า
นายจิรายุส เนาวเกตุ

ผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตจังหวัดปัตตานี นายสุดิน ภูยุทธานนท์ ได้สมัครร่วมกันกับอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี 2 คน คือ นายทวีศักดิ์ อับดุลบุตร และ นายเที่ยง เรืองประดิษฐ์ ส่วนที่จังหวัดนราธิวาส นายเสนีย์ มะดากะกุล ได้สมัครร่วมกับบัณฑิตทางกฎหมายและอดีตนักศึกษากลุ่ม PNYS (ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สงขลา และ สตูล)ประเภทนักจัดกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพิ่งจบมาหมาดๆ คือ นายนัจมุดดิน อูมา และ นายวาลิด หะยียูโซ๊ะ

ประเด็นการเมืองที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้สมัครคู่แข่งและบรรดาหัวคะแนนของคู่แข่ง ได้แก่ กลุ่ม “เอกภาพ” ได้นำเอาผู้สมัครที่ไม่ใช่ผู้นับถือศาสนาอิสลามมาอยู่ในทีมผู้สมัครทั้งในจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส จังหวัดละ 1 คน คือ นายปรีชา บุญมี ลงสมัครในจังหวัดปัตตานี และ นายพิบูลย์ พงศ์ธเนศ ลงสมัครในจังหวัดนราธิวาส การโจมตีทาง   การเมืองจากคู่แข่งและหัวคะแนนถูกปล่อยไปทั่วทุกหมู่บ้านมุสลิม วาทะกรรมที่ยอดฮิตสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าที่ “กลุ่มเอกภาพ”จะต้องไปแก้ในหมู่บ้านต่างๆ คือ กลุ่ม “เอกภาพ” นำหมูเข้าหมู่บ้านมุสลิม เพราะนายพิบูลย์   พงศ์ธเนศ และ นายปรีชา บุญมี เป็นผู้นับถือศาสนาพุทธไม่ใช่ผู้นับถือศาสนาอิสลาม

การกล่าวหาโจมตีจากพรรคคู่แข่ง โดยปลุกให้ประชาชนผู้เลือกตั้งมีความรู้สึกทางด้านศาสนานิยมได้แพร่กระจายไปทั่วในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสและลามไปถึงในเขตเลือกตั้งของจังหวัดปัตตานีที่มี นายปรีชา บุญมี เป็นเป้าล่ออีกหนึ่งคน ทำให้ผู้เขียนในฐานะผู้นำทีมผู้สมัครในจังหวัดนราธิวาส ต้องชี้แจงเหตุผลบนเวทีการปราศรัยว่า ” ในประเทศไทยมีชาวไทยมุสลิมมีอยู่ทั่วไปกระจัดกระจายตามจังหวัดต่างๆ และเป็นชนกลุ่มน้อยในจังหวัดนั้นๆ ยกเว้นในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ จังหวัด ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และ สตูล เท่านั้นเป็นชนส่วนใหญ่ หากพวกเรามีจิตใจคับแคบไม่เผื่อแผ่ให้พี่น้องไทยพุทธได้มีตัวแทนของคนไทยพุทธในจังหวัดของเราบ้าง พี่น้องมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อยในจังหวัดอื่นๆจะมีตัวแทนของตนที่เป็นไทยมุสลิมได้อย่างไร? ”

ด้วยเหตุผลที่เป็นหลักตรรกะทางสังคมพหุวัฒนธรรม ประชาชนยอมรับในเหตุผลด้วยดี ผลการเลือกตั้ง นายพิบูลย์ พงศ์ธเนศ และ นายปรีชา บุญมี ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดนราธิวาสและปัตตานี ในนามกลุ่มเอกภาพตามลำดับอย่างลอยลำ