ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (ตอนที่ 4)

สถานการณ์ทางการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มส่อเค้าไปในทางรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากความไม่พอใจของชาวมลายูปาตานีต่อนโยบายรัฐบาลและท่าทีอันเพิกเฉย ต่อข้อเรียกร้องของตวนกูรูหะยีสุหลงฯและคณะ

ตวนกูรูหะยีสุหลงฯ ได้ยกระดับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมตามสิทธิขั้นพื้นฐานแห่ง มนุษยชนจากรัฐบาลไทย โดยดำเนินการในรูปแบบขบวนการเพื่อให้เกิดพลังในการต่อรองกับรัฐบาลมีการออก ระเบียบข้อบังคับของขบวนการและได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่ง ในภาษามลายูเรียกว่า ” ปราอะโตรัน ปราเกร๊าะกัน “ โดยกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีอย่างชัดเจนได้แก่ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิแก่ชาวมลายูปาตานี จะได้เป็นเผ่าพันธุ์มลายูที่มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และเพื่อให้ชาวมลายูปาตานีสามารถจัดการตนเอง ทั้งทางด้านการเมือง การปกครอง ศาสนา ภาษา ศิลปะวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและประเพณีของตนเองได้ แต่อยู่ภายใต้บังคับของรัฐไทย และได้ประกาศ เผยแพร่ระเบียบข้อบังคับนี้ในหมู่ผู้ร่วมขบวนการในเดือนตุลาคม 2490.

ในขณะเดียวกันขบวนการดังกล่าวได้ขยายสมาชิกของขบวนการออกไปสู่ท้องถิ่นต่างๆ อย่างรวดเร็วและเป็นระบบ จนทำให้ไม่เป็นความลับอีกต่อไป เพราะระเบียบข้อบังคับที่ได้พิมพ์แจกในหมู่สมาชิกนั้นได้ตกอยู่ในมือของเจ้า หน้าที่บ้านเมือง และได้ส่งต่อ นายวิเวก จันทโรจน์วงศ์ ข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานี แต่นายวิเวกฯเพียงแค่รวบรวมไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น มิได้ดำเนินการใดๆแต่ประการใด

ปลาย ปี 2490 สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร้อนระอุ เกิดเหตุการณ์เผาโรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีจำนวน 1 หลัง นอกจากนั้นมีการปล้นสดมภ์ในท้องที่ต่างๆรวมได้ประมาณ 200 คดี ผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพุทธ จากคำให้การของผู้เสียหายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าหลังจากคนร้ายปล้นแล้วก่อน จะถอยกลับได้ร้องตะโกนขึ้นเสียงด้งด้วยภาษามลายูว่า ” ฮีดป มลายู ฮีดป มลายู ( มลายูจงเจริญ มลายูจงเจริญ ) ” อีก ทั้งสงครามใบปลิวถูกแจกจ่ายไปตามสถานที่ต่างๆอย่างแพร่หลาย บางข้อความเขียนชักชวนชาวมลายูปาตานีให้สำนึกและตื่นตัวทางการเมือง ใบปลิวส่วนใหญ่มีข้อความว่า ” ไทยคือไทย มลายูคือมลายู ชาวมลายูจงตื่นเถิด ชาติมลายูจงเจริญ “ และใบปลิวบางแผ่นมีข้อความแบบสงครามประสาทข่มขู่ให้เกิดกระแสความน่าสพึงกลัวในหมู่ประชาชนอย่ากว้างขวาง.

ใน ขณะเดียวกัน เต็งกูมะห์มุด มูไฮยิดดิน ได้ดำเนินงานเคลื่อนไหวเรียกร้องความสนใจจากโลกภายนอกให้รู้จักปาตานีมาก ขึ้น จึงได้ติดต่อประสานงานกับ นางสาวบาร์บาร่าห์ วิททิมฮัม โจนส์ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทและเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์สเตรทไทม์ในสิงค์โปร์ เข้าไปทำข่าวในจังหวัดปัตตานี โดยให้ตวนกูรูหะยีสุหลงฯเป็นผู้จัดธุระพา นางสาวโจนส์ ไปตามท้องถิ่นต่างๆ ให้เห็นสภาพความล้าหลังของบ้านเมืองและหมู่บ้านชนบทในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐไทยปฏิบัติต่อชาวมลายูปาตานีแบบกดขี่ข่มเหง อย่างไร้มนุษยธรรม

ประจวบกับก่อนที่ นางสาวโจนส์จะไปถึงปัตตานีไม่กีวัน เกิดเหตุการครั้งสำคัญที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยสร้างบาดแผลที่ฉกรรจ์จนกลายเป็น ตำนานเล่าสืบต่อในหมู่คนเฒ่าคนแก่ที่ผู้เขียนได้ฟังในช่วงเวลาหาเสียงคราวลง สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส พ.ศ. 2526 ณ หมู่บ้านปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส กล่าวคือ ประมาณปี 2490 ร้อยตำรวจโท ทุ่น ตังก์สุรัตน์ หัวหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอบาเจาะ ได้ออกพื้นที่ในหมู่บ้านปะลุกาสาเมาะ ถูกคนร้ายลอบซุ่มยิงเสียชีวิต ตำรวจได้ไปล้อมหมู่บ้านจับชาวบ้านรุมซ้อมเพื่อสอบถามรีดเอาความลับ เมื่อไม่เป็นที่สบอารมณ์ ได้แสดงวีรกรรมเผาบ้านของชาวบ้านอันเป็นที่อยู่อาศัยจนมอดไหม้จำนวน 29 หลัง สร้างความเจ็บแค้นให้ชาวมลายฺปาตานีอย่างแสนสาหัส เหตุการณ์ครั้งนี้ชาวมลายูปาตานีได้จารึกจดจำไว้ในหัวใจจนยากจะลืมได้และ เล่าสืบกันต่อๆมาเรียกเหตุการณ์นี้ว่า ” มูโซ๊ะบลูกาสาเมาะ “ ( สมรภูมิปะลุกาสาเมาะ ) เหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นและเหตุการณ์อื่นๆที่นางสาวโจนส์ ได้พบเห็นและสัมผัสในช่วงเวลา 2-3 วัน ขณะอยู่ในปัตตานีนั้นได้ตีพิมพ์เป็นข่าวใหญ่ลงในหนังสือพิมพ์สเตรทไทม์ ฉบับลงวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1947 เป็นที่ฮือฮาและเกรียวกราวในอาณานิคมมลายูของอังกฤษขณะนั้น

ขณะที่ตวนกูรูหะยีสุหลงฯกำลังดำเนินการหาวิธีการต่อรองกับรัฐบาลไทยอยู่นั้น เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาล พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ตกอยู่ในสภาพบริหารประทศอย่างขาดประสิทธภาพ ดังนั้น เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 พลโท ผิน ชุณหะวัณ นายทหารนอกราชการและคณะได้ก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจขับรัฐบาลออกจากอำนาจ แล้วตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยแต่งตั้ง นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และให้สิทธิเด็ดขาดแก่ นายควงฯ ที่จะเลือกบุคคลใดเป็นรัฐมนตรีตามใจชอบ ดังนั้นนายควงฯจึงได้เลือกหลวงสินาดโยธารักษ์( พลโท ชิต มั่นศิลป์สินาดโยธรักษ์ ) ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย.

เนื่องจากสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในภาวะไม่สงบต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ รัฐบาลชุดเก่า หลวงสินาดโยธารักษ์ ได้มีคำสั่งย้าย นายวิเวก จันทโรจน์วงศ์ ข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานีออกจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ และแต่งตั้งพระยารัตนภักดี ( นายแจ้ง สุวรรณจินดา ) เป็นอดีตข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานี ซึ่งบุคคลท่านนี้เคยรับราชการอยู่ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้นาน 20 ปี แต่ถูกคณะราษฎรปลดออกจากราชการในปี 2476 เคยมีปัญหากินแหนงแคลงใจกับตวนกูรูหะยีสุหลงฯมาก่อนแล้ว เพราะเคยร้องขอให้ตวนกูรูหะยีสุหลงฯรับปากสนับสนุนเขาลงสมัครสมาชิกสภาผู้ แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี แต่ตวนกูรูหะยีสุหลงฯไม่รับปาก จึงทำให้พระยารัตนภักดีไม่พอใจตวนกูรูหะยีสุหลงฯตั้งแต่นั้นมา.

เมื่อ พระยารัตนภักดีมาดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานี เบื้องต้นได้ติดตามสอดส่องพฤติกรรมของตวนกูรูหะยีสุหลงฯ และบรรดาผู้นำชาวมลายูโดยวางสายสืบในท้องที่ต่างๆคอยรายงานและรวบรวมพยาน หลักฐานที่จะเอาผิดกับตวนกูรูหะยีสุหลงฯ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย และเป็นการปรามบรรดากลุ่มชนชั้นนำชาวมลายูปาตานีมิให้เคลื่อนไหวในทางการ เมืองอีกต่อไป.

อย่างไรก็ตาม ด้วยความเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ใจของตนเอง และคาดหวังว่าข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ที่เสนอต่อรัฐบาลไทยจะได้รับการสนองตอบที่ดี และมีบุคคลพร้อมอยู่แล้วที่จะรองรับตำแหน่งผู้ปกครองสูงสุดในจังหวัดชายแดน ภาคใต้ คือ เต็งกูมะห์มุด มูไฮยิดดิน ตวนกูรูหะยีสุหลงฯจึงไม่วิตกหวั่นไหวกับการจ้องมองของฝ่ายบ้านเมืองที่จะ เล่นงานท่านแต่ประการใด

รัฐบาล นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมาก จึงหาทางวิธีแก้ไขปัญหาในทางการเมือง โดยมอบหมายให้ นายบรรจง ศรีจรูญ สมาชิกพฤษสภา( สมาชิกวุฒิสภาในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นมุสลิมชาวกรุงเทพฯ และเป็นผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เดินทางไปกลันตันเพื่อพบกับเต็งกูมะห์มุด มูไฮยิดดิน เชื้อเชิญไปกรุงเทพฯหารือการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังพบกับเต็งกูมะห์มุดฯแล้ว นายบรรจง ศรีจรฺญ เดินทางกลับกรุงเทพฯ แต่ระหว่างทางได้แวะที่ปัตตานี เพื่อพบกับตวนกูรูหะยีสุหลงฯ แจ้งให้ทราบว่าได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ไปพบเต็งกูมะห์มุดฯที่กลันตันเพื่อ เชิญไปกรุงเทพฯเจรจาเรื่องปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเต็งกูมะห์มุดฯตอบรับคำเชิญแล้ว.

เมื่อ ตวนกูรูหะยีสุหลงฯทราบดังนั้นแล้ว จึงเดินทางไปกลันตันกับลูกศิษย์คนหนึ่งไปพบกับเต็งกูมะห์มุดฯเพื่อถามให้ แน่ใจว่าจะไปเจรจากับรัฐบาลไทยตามที่ นายบรรจง ศรีจรูญ แจ้งให้ทราบจริงหรือไม่ ได้รับคำตอบจากเต็งกูมะห์มุดฯว่าจะไปเจรจากับรัฐบาลไทยที่กรุงเทพฯจริง และได้หารือกันว่าให้ตวนกูรูหะยีสุหลงฯกลับไปปัตตานีทำหนังสือฉันทานุมัติ ที่ลงลายมือชื่อของชาวมลายูปาตานีมอบอำนาจให้เต็งกูมะห์มุดฯเป็นตัวแทนเจรจา กับรัฐบาลไทยเกี่ยวกับข้อเสนอ 7 ข้อ ของตวนกูรูหะยีสุหลงฯและชนชั้นนำชาวมลายูปาตานีที่เสนอต่อรัฐบาลสมัย พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์.

เมื่อ ตวนกูรูหะยีสุหลงฯกลับไปปัตตานีแล้ว ได้ปรึกษาหารือกับมิตรสหายและลูกศิษย์ดำเนินการเคลื่อนไหวให้ชาวมลายูปาตานี ลงลายมือชื่อในหนังสือฉันทานุมัติที่ได้เขียนขึ้นมาลงวันที่ 5 มกราคม 2491 และมอบหมายให้เต็งกูมะห์มุดฯเป็นตัวแทนเจรจากับรัฐบาลไทย โดยมีใจความดังนี้

” บัดนี้ชาวมะลายูอิสลาม ซึ่งอยู่ในความปกครองของไทยได้รับความบีบคั้นความเจ็บช้ำ ความทารุณ ซึ่งข้าราชการและรัฐบาลไทยกระทำแก่ชาวมะลายูแต่ละคน แก่ชาวมะลายูทั้งคณะ แก่ชาติและศาสนาของชาวมะลายูจนไม่สามารถจะทนทานได้ แม้จะได้ร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่และรัฐบาลไทยแล้วก็มิได้รับการพิจารณาจาก เจ้าหน้าที่และรัฐบาลไทยให้เป็นที่พอใจเลย ฉะนั้น ชาวมะลายูจึงขอมอบฉันทานุมัติให้ตนกูมะฮะหมุด มะฮะยิดดิน บุตรตนกูอับดุลกาเดร์พระยาเมืองปัตตานีซึ่งอยู่กลันตันมีอำนาจเต็มหาช่องทาง ให้ชาวมะละยูได้ดำรงชาติมะลายู และให้ได้คงนับถือศาสนาอิสลามและโดยสิทธิต่างๆแห่งเชื้อชาติมะลายู และได้รับความเป็นมนุษยธรรม…..” ( คัดจากบางตอนในวิทยานิพนธ์ของ นายเฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร )