ประกาศผลสำรวจ 10 ข่าวดัง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 58

กระทรวงวิทย์ฯ ประกาศผลสำรวจ 10 ข่าวดัง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2558 ข่าวอุกกาบาต ลูกไฟปริศนาตกจากฟ้า นำเป็นอันดับหนึ่ง

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2558 ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานประกาศผลการจัดอันดับ 10 ข่าวดังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2558 ซึ่งจัดสำรวจขึ้นโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อส่งเสริมและยกระดับความรู้ ความเข้าใจข่าวสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงเหตุผลและหลักการพิสูจน์บนพื้นฐานความเป็นจริง อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดความสนใจและตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ถือว่าเป็นรากฐานสำคัญในการดำเนินชีวิต และนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมี ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. และ รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมแถลงข่าว

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า “การจัดงานประกาศผลการจัดอันดับ 10 ข่าวดังวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2558 เป็นกิจกรรมที่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทช. จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ปีนี้นับเป็นปีที่ 22 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป มีความตระหนักและเข้าใจในองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างกระแสความนิยมและส่งเสริมความเข้าใจข่าวด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมไทย”

ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล
ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล

ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า “การสำรวจและจัดอันดับ 10 ข่าวดังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งนี้ ได้รวบรวมข่าวด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2557 – 15 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งข่าวที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกมีจำนวนทั้งสิ้น 21 ข่าว แบ่งเป็นข่าวในประเทศ 16 ข่าว และต่างประเทศ 5 ข่าว โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รวม 15 หน่วยงาน และสื่อมวลชนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ร่วมกันพิจารณาข่าวในหลากหลายแง่มุมในประเด็นข่าวที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ซึ่งได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลผลสำรวจจากนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมสำรวจและจัดอันดับ 10 ข่าวดังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล ต่างจังหวัด และผ่านทางระบบออนไลน์ และแบบสอบถาม จำนวนทั้งสิ้นกว่า 1,550 คน”

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผย 10 ข่าวดังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2558 ประกอบด้วย ข่าวดังต่อไปนี้

อันดับ 10 – ข่าว “ซุปเปอร์มูนและจันทรุปราคา…2 ปรากฏการณ์ใน 1 วัน”

ตอนค่ำของวันที่ 28 กันยายน  2558 คนไทยได้เฮเมื่อเกิดปรากฏการณ์ซุปเปอร์มูน ที่ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปีที่ระยะห่าง 356,896 กิโลเมตร สามารถมองเห็นดวงจันทร์สว่างและมีขนาดใหญ่กว่าปกติ ประมาณ 2-3 %  สำหรับผู้ที่พลาดโอกาสในการชมในปีนี้ คงต้องรอปรากฏการณ์เช่นนี้ที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2576 โดยในช่วงเช้าของวันที่ 28 กันยายนนั้น ได้เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงขึ้น แต่ประเทศไทยไม่สามารถมองเห็นได้เนื่องจากตรงกับเวลากลางวัน แต่จะสังเกตเห็นได้ชัดเจนในแถบอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ มหาสมุทรแอตแลนติก ยุโรป แอฟริกา และด้านตะวันตกของเอเชีย

Rank 10

อันดับที่ 9 – ข่าว “นาซ่าเผยพบน้ำไหลบนดาวอังคาร”

ในวันที่ 28 กันยายน ที่ผ่านมา นอกเหนือจากจะเกิดปรากฏการณ์ซุปเปอร์มูนและจันทรุปราคาเต็มดวงแล้ว ยังถือว่าเป็นวันที่นาซ่าได้ประกาศการค้นพบร่องรอยการไหลของน้ำบนดาวอังคาร ซึ่งถือเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ของวงการวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์โลก โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าร่องรอยสีดำที่เกิดขึ้นเป็นพวกแร่ธาตุและผลึกเกลือที่ละลายอยู่กับน้ำ

Rank 9

อันดับที่ 8 – ข่าว “นาซ่าเฮ! ยานสำรวจอวกาศพิชิตดาวพลูโต” 

ด้วยระยะทางจากโลกไปยังดาวพลูโตที่โคจรอยู่ขอบสุดในระบบสุริยะจักรวาลไกลมากถึง 3 พันล้านไมล์ แต่ในที่สุดยานสำรวจ “นิวฮอไรซันส์” ที่ถูกส่งไปในอวกาศเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2549 เพื่อปฏิบัติภารกิจสำคัญในการสำรวจดาวพลูโตและดาวเคราะห์แคระดวงอื่นๆ หลังจากที่ออกจากโลกไปเป็นเวลาถึง 9 ปี สามารถเดินทางไปยังดาวพลูโตได้สำเร็จอย่างงดงาม โดยได้มีการถ่ายทอดสดผ่านทางช่องนาซ่าทีวี

Rank 8

อันดับที่ 7 – ข่าว “เมือกหอยทากไทยก้าวไกลสู่อุตสาหกรรมความงาม”

ข่าวนี้สาวไทยของเราคงจะให้ความสนใจและตื่นตัวกันไม่น้อย บางท่านอาจจะคุ้นเคยและนิยมใช้เครื่องสำอางหอยทากอันโด่งดังจากเกาหลี ต่อไปนี้เราคงต้องหันมาส่งเสริมและหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบรนด์ไทยเรา เมื่อมีผลการศึกษาของนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ได้ค้นพบนวัตกรรมครั้งสำคัญพบว่า เมือกหอยทากของไทยที่มีชื่อว่า “หอยนวล” มีสารนานาชนิดที่มีคุณประโยชน์มากมาย เหมาะต่อการซ่อมแซมและบำรุงผิวพรรณ จึงจัดได้ว่าเป็นเมือกที่มีคุณภาพ สามารถนำมาต่อยอดหรือพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมทางด้านเครื่องสำอางและธุรกิจความงามได้

Rank 7

อันดับที่ 6 – ข่าว “เปิดปมปริศนาไฟไหม้บ้านที่พัทลุง”

เราคงยังจำเหตุการณ์กรณีที่ไฟปริศนาลุกไหม้สิ่งของเครื่องใช้นับร้อยครั้งที่บ้านหลังหนึ่งใน จ.พัทลุง แต่กลับไม่สามารถหาสาเหตุของการเกิดได้ ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าน่าจะเป็นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ มีการออกข่าวอย่างครึกโครม จนทำให้หลายหน่วยงานต้องลงพื้นที่ร่วมกันพิสูจน์หาต้นเหตุของการเกิดไฟปริศนา แม้ว่าจะมีบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ออกมายืนยันว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติแต่อย่างใด และเป็นไปไม่ได้ที่สิ่งของต่างๆ จะลุกไหม้หรือติดไฟได้เอง แต่ยังไม่ทำให้สังคมคลายความสงสัยลงไปได้ ภายหลังได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในบ้าน จึงได้พบภาพหญิงสาวที่นั่งอยู่คล้ายกำลังจุดไฟ จากนั้นจึงเรียกเด็กที่อยู่บริเวณใกล้เคียงมาชี้จุดเกิดเหตุ เพื่อเรียกให้คนในบ้านช่วยกันดับไฟที่ลุกโชนขึ้นมา เมื่อภาพดังกล่าวปรากฏออกไปจึงคลายความสงสัยของคนในสังคมไปโดยปริยาย

Rank 6

อันดับที่ 5 – ข่าว “เผยภาพถ่ายดาวเทียมเหตุการณ์แผ่นดิวไหวประเทศเนปาล”

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) บันทึกภาพบริเวณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลด้วยดาวเทียมไทยโชต เพื่อดูสภาพการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ก่อนและหลังโดยได้บันทึกภาพเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 เวลา 12.10 น. ตามเวลาในประเทศไทย และทำการเปรียบกับข้อมูลภาพก่อนเกิดแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2557 และได้ส่งแผนที่ดังกล่าวให้กับองค์การสหประชาชาติด้วยในฐานะที่เป็นตัวแทนประเทศไทยในโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือ RESAP เพื่อสนับสนุนข้อมูลให้กับประเทศสมาชิกในกรณีเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ

Rank 5

อันดับที่ 4 – ข่าว “กลับมาอีกครั้งกับปรากฏการณ์ ‘พระจันทร์ยิ้ม’ ”

ในค่ำคืนของวันที่ 19 – 21 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมาได้เกิดปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนที่เป็นดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีอยู่เคียงจันทร์เสี้ยวในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยสามารถมองเห็นเหมือน “พระจันทร์ยิ้ม” เป็นเวลาถึง 3 วัน

Rank 4

อันดับที่ 3 – ข่าว “จันทรุปราคาเต็มดวงสีแดง”

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบเต็มดวงครั้งนี้เกิดขึ้นในคืนวันที่ 4 เมษายน 2558 มองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงเป็นสีแดงอิฐ เนื่องจากได้รับแสงสีแดงซึ่งเป็นคลื่นที่ยาวที่สุด หักเหผ่านบรรยากาศโลกไปกระทบกับดวงจันทร์ ซึ่งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ได้จัดกิจกรรมตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดต่างๆ กว่า 40 กล้อง ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งเป็นการตั้งกล้องโทรทรรศน์เพื่อสังเกตการณ์จำนวนมากที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ สดร. ยังร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายตั้งจุดสังเกตปรากฏการณ์อีก 3 แห่งคือที่ จ.เชียงใหม่ จ.นครราชสีมา และ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งตลอดเวลา 5 นาทีที่เกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ตั้งแต่เวลา 18.57 – 19.02 น. ช่างภาพและประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างให้ความสนใจเก็บภาพดวงจันทร์สีแดงกันอย่างคึกคัก

Rank 3

อันดับที่ 2 – ข่าว “มหันตภัยไวรัสเมอร์ส”

แม้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2558 ก็ตาม แต่เหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสเมอร์สก็ยังคงอยู่ในความสนใจของคนทั่วไปอยู่ เนื่องจากการแพร่ระบาดในครั้งนี้พบผู้ป่วยไวรัสเมอร์สใน 26 ประเทศ มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และมีการแพร่ระบาดรุนแรงในเกาหลีใต้ และเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 พบผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากตะวันออกกลางติดเชื้อไวรัสเมอร์สรายแรกในประเทศไทย และได้เข้ารับการรักษาตามมาตรฐานและปลอดภัยจากการเป็นผู้ป่วยโรคเมอร์ส

Rank 2

อันดับที่ 1 – ข่าว “อุกกาบาต…ลูกไฟปริศนาตกจากฟ้า”

เช้าวันที่ 7 กันยายน 2558 มีผู้บันทึกภาพลูกไฟพวยพุ่งจากท้องฟ้าสว่างวาบ โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ให้ข้อมูลว่าเป็น “อุกกาบาต” เส้นผ่านศูนย์กลาง 3.5 เมตร น้ำหนัก 66 ตัน ความเร็วที่พุ่งเข้ามาในโลกวัดได้มากมากกว่า 75,600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีค่าเทียบเท่าการระเบิดของทีเอ็นที 3.9 กิโลตัน ในเวลาห่างกันไม่นานนัก ค่ำคืนของวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 พบลูกไฟสว่างวาบ สีเขียว ตกลงมาจากฟ้าอีกครั้ง โดยเบื้องต้น สดร. คาดว่าจะเป็นลูกไฟที่เกิดจากวัตถุขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก เสียดสีจนเกิดความร้อนจนลุกไหม้ เห็นเป็นลูกไฟสว่างและมีควันขาวเป็นทางยาว

Rank 1

ดร.พิเชฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผลการสำรวจในครั้งนี้มีข่าวทางด้านอวกาศและดาราศาสตร์มากถึง 6 ข่าว อาจเนื่องจากเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หาชมได้ยาก และสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ที่พบเห็นหรืออยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้กันผ่านทางโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่คนไทยหันมาศึกษา ค้นหาคำอธิบายต่อการเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ มากขึ้น หรือแม้แต่ข่าวภาพสำรวจอวกาศที่ถือเป็นการค้นพบครั้งสำคัญของโลก ซึ่งเป็นข่าวที่คนไทยให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ทำให้เทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้ใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ความสำคัญการสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก เพื่อช่วยกันสร้างประเทศไทยของเราให้เป็นสังคมฐานความรู้เพิ่มพูนให้ประเทศมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

ด้าน ดร.ชฎามาศ กล่าวเสริมว่า “จากผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังคงให้ความสนใจกับข่าวใกล้ตัวที่มีผลกระทบทั้งต่อชีวิตของตนเองและชุมชนใกล้เคียง โดยทุกข่าวล้วนมีข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นองค์ความรู้แทรกอยู่ในทุกข่าว ซึ่งผลสำรวจนี้นอกจากจะเป็นแรงกระตุ้นความสนใจและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นข้อมูลข่าวสารทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประชาชนมากขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์เองจะเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน และนำผลงานต่างๆ เผยแพร่และเข้าถึงสาธารณชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์ที่ต้องสร้างความเข้มแข็งและนำสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องสู่ประชาชน เพื่อช่วยให้เกิดกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ และสามารถนำกระบวนการคิดนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป”