ธนาคารโลกเผย ชาวปาเลสไตน์มากกว่าครึ่งประสบปัญหาภาวะซึมเศร้า

[Mustafa Hassona - Anadolu Agency]

MEMO – ธนาคารโลกเผยผลการศึกษาวิกฤตสุขภาพจิตที่ทำลายชีวิตชาวปาเลสไตน์ โดยพบว่า ชาวปาเลสไตน์มากถึงร้อยละ 71 ในฉนวนกาซาที่ถูกปิดล้อม และร้อยละ 58 ในเขตเวสต์แบงก์ที่อิสราเอลยึดครอง แสดงอาการซึมเศร้า ขณะที่ประชาชนอีกจำนวนหนึ่งกำลังแสดงสัญญาณของโรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder)

PTSD เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นหลังจากประสบกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ โรคนี้ได้รับการยอมรับเป็นครั้งแรกในกรณีของทหารผ่านศึก ในอดีตเคยมีชื่อต่างๆ กัน เช่น “เชลล์ช็อค” (shell shock) ซึ่งไม่ได้จำเพาะว่าจะต้องเกิดในทหารเท่านั้น ประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนจิตใจต่างๆ ก็สามารถทำให้เกิด PTSD ได้

ธนาคารโลกระบุว่า วิกฤตสุขภาพจิตของชาวปาเลสไตน์ส่วนหนึ่งมาจากความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจและการขาดโอกาสในการจ้างงาน การสำรวจนี้ถือเป็นความพยายามในหาผลกระทบสะสมต่อสุขภาพจิตจากการเผชิญกับความขัดแย้งและสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ รวมถึงข้อจำกัดทางการเคลื่อนไหว

ด้วยเหตุที่ทั้งเวสต์แบงก์และกาซาอยู่ภายใต้การยึดครองทางทหารที่โหดร้ายของอิสราเอล ชาวปาเลสไตน์ประมาณห้าล้านคนต้องเผชิญกับแรงกดดันและความเครียดมากมายที่ทราบกันดีว่าเป็นสาเหตุของ PTSD

การศึกษานี้ระบุว่า เงื่อนไขดังกล่าวเป็น “ความเปราะบางที่ซ้อนทับกันและความบอบช้ำสะสมในประชากรปาเลสไตน์” เนื่องจาก “หลายทศวรรษของการเผชิญกับความขัดแย้ง การจำกัดการเคลื่อนไหว และสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่” โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ที่อยู่ภายใต้การปิดล้อมโดยอิสราเอลตั้งแต่ปี 2006 การปิดล้อมซึ่งกำลังเข้าสู่ปีที่ 18 ได้ทำลายล้างชีวิตของชาวปาเลสไตน์กว่าสองล้านคน ส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่อิสราเอลจัดตั้งรัฐทับบนแผ่นดินของพวกเขาในปี 1948 ไม่ว่าจะโดยตรงหรือในฐานะลูกหลานของผู้อพยพระลอกแรก

ประชากรปาเลสไตน์ในฉนวนกาซามีแนวโน้มที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจมากกว่าชาวปาเลสไตน์ในเวสต์แบงก์ จากการสำรวจพบว่า 65 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่อยู่ในฉนวนกาซาเคยเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เทียบกับ 35 เปอร์เซ็นต์ของชาวเวสต์แบงก์ นักวิจัยสรุปได้ว่าการบาดเจ็บของชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาแสดงออกด้วยอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลมากกว่าอาการ PTSD