ย้อนกลับไปในเดือนกุมภา 2534 รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถูกรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งนำโดยนายทหารที่จบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 5 พวกเขาหยิบยกเหตุผลเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลชาติชาย เป็นข้ออ้างสำคัญในการก่อการ
หลังการรัฐประหาร รสช. ได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2521 และประกาศใช้ “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร” เป็นกฎหมายสูงสุดแทนเป็นการชั่วคราว เนื้อหาสาระของธรรมนูญฉบับนี้
มีบทบัญญัติอยู่เพียง 33 มาตรา แต่ให้อำนาจมหาศาลและกว้างขวางกับคณะรัฐประหาร ซึ่งรวมถึงอำนาจในการกำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดินของนายกฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง และอำนาจในการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ รวมถึงยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
.. คุ้นๆ ไหมครับ ประวัติศาสตร์มันเหมือนกำลังวนอยู่ลูปเดิม ต่างไปตรงที่ ผู้คนปัจจุบันสมยอมให้อำนาจกระบอกปืนกระทำชำเราตามใจชอบ ด้วยเห็นว่า ขอให้ไล่ปีศาจออกไปได้ จะต้องสถาปนาปีศาจตนใหม่ขึ้นมาก็ไม่สำคัญ จะทำลายบรรทัดฐานทุกประการทิ้งลงก็ถือว่าคุ้ม ซึ่งมันคือการ เผาบ้านไล่ปลวกชัดๆ
.. ส่วนในปี 2534 – 2535 ผู้คนตอนนั้นไม่สมยอมกับอำนาจเถื่อน ซึ่งแน่นอนว่า มูลเหตุปัจจัยของการเคลื่อนไหวสำหรับแต่ละคนก็อาจจะแตกต่างกัน แต่ปัจจัยร่วมประการหนึ่งคือ ทุกคนรับรู้ได้ถึงการที่เพิ่งข้ามผ่านประสบการณ์การเมืองที่พลังของระบบ ราชการกุมอำนาจมากในการชี้ทิศทางประเทศ และแม้มันจะมีข้อดีอยู่บ้าง แต่หลายเรื่องมันทำงานอย่างเส็งเคร็ง สกปรก และไร้ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ
รัฐประหารปี 2534 ในแง่หนึ่ง ก็จึงเป็นความเสี่ยงที่คนจำนวนมากหวั่นเกรงว่า พวกข้าราชการเช้าชามเย็นชาม เอื่อยเฉื่อย เล่นเส้น นำโดยทหาร จะพยายามหวนกลับมากุมบังเหียนประเทศให้ดำเนินไปข้างหน้าอย่าง ‘มึงจะถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง แต่พวกกูถึงสวรรค์’
ผู้คนขณะนั้นจำนวนมาก ประสงค์จะเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ผ่านการเลือกผู้แทนและผู้นำ แม้ชะตาอนาคตจะดีหรือแย่ พวกเขาก็ต้องการเป็นผู้ตัดสินใจและรับผลของมันเอง ซึ่งข้อนี้นับเป็นสาระสำคัญขั้นพื้นฐานข้อหนึ่งของสปิริตแบบประชาธิปไตย
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลา 9 เดือนเศษของการยกร่างรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2534 โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะต้องเผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และเรียกร้องอย่างกว้างขวาง จากกลุ่มคนที่ต้องการเห็นรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทบัญญัติที่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียกร้องให้บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากกระบวนการเลือกตั้ง” โดยในการเรียกร้องดังกล่าวมีประชาชนออกมาร่วมชุมนุมที่ท้องสนามหลวงนับหมื่นคน
ผลของข้อนี้ทำให้พลเอก สุจินดา คราประยูร หนึ่งในแกนนำ รสช. ต้องออกมาประกาศว่าตนจะไม่ขอรับตำแหน่งนายกฯ หลังการเลือกตั้ง (แต่กระนั้น รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2534 ก็มิได้มีข้อบัญญัติห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ได้มาจากกระบวนการเลือกตั้ง ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด :P)
ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2534 ก็มีการเลือกตั้งจัดขึ้นในเดือนมีนา 2535 ผลคือพรรคสามัคคีธรรมได้รับที่นั่งมากที่สุดจึงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ทว่านายณรงค์ วงศ์วรรณหัวหน้าพรรค กลับไม่สามารถขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ เนื่องจากถูกทางการสหรัฐฯ กล่าวหาว่าพัวพันกับพ่อค้ายาเสพติด ทำให้พรรคสามัคคีธรรมและพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ หันไปให้การสนับสนุนและเชิญพลเอกสุจินดา คราประยูร มาขึ้นเป็นนายกฯ และท่านก็ตัดสินใจยอมรับตำแหน่ง เป็นที่มาของวลีเด็ดดวงที่ว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ยังผลให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ก็เพราะก่อนหน้านั้นพลเอกสุจินดาเคยประกาศไว้แล้วว่าจะไม่รับตำแหน่ง นายกฯ
การตัดสินใจกลับคำของ พลเอกสุจินดา จึงถูกมองได้ว่าเป็นความพยายามของทหารในการสืบทอดอำนาจทางการเมือง จึงนำไปสู่การชุมนุมประท้วงของประชาชนอย่างกว้างขวางในระยะต่อมา อันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนจำนวนมากในยุคสมัยนั้น “ไม่ยอมรับบทบาทของทหารที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้อีกต่อไปเหมือน เก่าก่อนโบราณกาลคร่ำครึ ไร้อารยธรรม”
จากการสำรวจ ผู้เข้าร่วมชุมนุมในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ร้อยละ 60 ทำงานในภาคเอกชน โดยประมาณร้อยละ 86 ของผู้ชุมนุมมีรายได้เกินกว่า 5,000 บาท/เดือน ในจำนวนนี้ราวครึ่งหนึ่งมีรายได้มากกว่า 10,000 บาท/เดือน
… คำถามที่น่าสนใจคือ สำหรับพวกเขาเหล่านี้ที่ไม่ได้เสียชีวิตในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ วันนี้ (ปี 57) พวกเขาหายไปไหน? หรือพวกเขาส่วนใหญ่กระโดดตึกตายไปหมดแล้วในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 40?
ในแง่ขอบเขต การชุมนุมประท้วงไม่ได้เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น แต่มีรายงานว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 5 – 21 พฤษภา 2535 การชุมนุมประท้วงได้เกิดขึ้นในพื้นที่กว่า 30 จังหวัดนอกกรุงเทพฯ บางพื้นที่อาจมีผู้เข้าร่วมเพียงหลักร้อยคน แต่บางพื้นที่ก็มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 100,000 คน โดยในจังหวัดที่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ อาจารย์มหาวิทยาลัยและนักศึกษาอาจเป็นแกนนำหลัก ในขณะที่บางจังหวัดซึ่งไม่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ ตัวแทนกลุ่มวิชาชีพ เช่น ทนายความ นักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพรรคฝ่ายค้านก็เป็นแกนนำหลักในการชุมนุม
… นักการเมืองฝ่ายค้านสมัยนั้น หายหัวไปไหนในปี 57 ? หรือในปี 35 นักการเมืองพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้นก็เพียงตอแหลประชาชน ใช้คนเป็นเครื่องมือ โค่นล้มฝ่ายตรงข้ามเพื่อหวังขึ้นเสวยอำนาจอย่างในวิถีทางที่พวกเขาถนัด และทำมาตลอด?
… อาจารย์มหาวิทยาลัยในสมัยนั้น หายไปไหนในปี 57 ? หรือพวกเขาเสวยสุขกับกองอำนาจ วาสนา ผลประโยชน์ ผ่านการสานสัมพันธ์กับวงอำนาจ ได้นั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ได้เข้าไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ได้เข้าไปเสพย์สังวาสกับพวกนักปฏิรูปคนดี จนรสนิยมทางการเมืองเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังตีน?
พวกเขาบางคนอาจแก่หงำเหงือกจนหลงลืมว่าตนเคยเป็นใคร?
… นักศึกษาสมัยนั้น โตขึ้นมาเป็นคนประเภทไหนในปี 57 ? ณ วันนี้พวกเขาน่าจะอยู่ในช่วงวัยทำงานที่อุดมด้วยพลังขับเคลื่อนสังคม และน่าจะเป็นพลังสำคัญของประชาธิปไตยในยุคสมัยปัจจุบันไม่ใช่หรือ? อะไรเกิดขึ้นกับพวกเขาระหว่างทางของปี 35 มาถึงปี 57 ? หรือสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องในปี 35 ก็เป็นเพียงการอิน
เทรนด์เกาะกระแสให้เท่ห์ๆ ไปเท่านั้นเอง? หรือพวกเขาก็แค่ออกมาตามคำร้องขอของรุ่นพี่ตามระบบ SOTUS
ซึ่งเป็นระบบจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาแบบเผด็จการอำนาจนิยม? หรือวันนั้นเขาไม่มีอำนาจ จึงเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อเขา (ผู้ผ่านระบบการศึกษาชั้นสูงมาแล้ว) ก้าวขึ้นมามีอาชีพมั่นคง หรือก้าวเข้าสู่วงอำนาจแล้ว ประชาธิปไตยที่ให้สิทธิต่อคนลำดับต่ำกว่าพวกเขาก็ จึงไม่เป็นที่ต้องการของพวกเขาซึ่งมิปรารถนาจะเห็นใครได้ดีกว่าตนเองอีกต่อ ไป ก็เท่านั้น?
บุคคลหนึ่งที่จะหลงลืมไม่กล่าวถึงคงไม่ได้ ก็คือ “ศิลปินก้นโด่ง” ที่ชื่อ แอ๊ด คาราบาว ในช่วงพฤษภา 35 เขาได้ขึ้นร้องเพลงบนเวทีชุมนุม และได้เกาะกระแสการเมืองช่วงนั้นส่งเสริมการขายผลงานตนเอง บทเพลงอันโด่งดังของเขาคงเป็นอะไรไม่ได้นอกเสียจากเพลงที่ชื่อ “นาย ก.” อันมีเนื้อหาทำนองว่า
“นายก. นายต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มาด้วยกำลัง และไม่ได้มาด้วยเงินทอง
นายก. นายควรเดินตามครรลอง ให้ประชาชนทั้งผอง ได้เป็นคนเลือกนายก.”
หรืออีกเพลงที่ดังไม่น้อยไปกว่ากันเลย ที่ชื่อ “ประชาธิปไตย” อันมีเนื้อหาประมาณว่า
“รูรั่วเราต้องอุดรูรั่วไหล ใครอยากเห็นเมืองไทยพัฒนาขึ้น
อย่างผู้นำต้องมาจากการเลือกตั้ง ใครอยากเป็นบ้างยกมือขึ้น
ให้ประชาชนมีสิทธิออกเสียง ผู้มากุมบังเหียนชีวิตประชาชน
จะปกครองระบอบประชาธิปไตย จะเล่นแบบไทยๆ หรือว่าแบบสากล ก็เลือกเอา”
.. จากปี 35 ณ วันนี้ ศิลปินก้นโด่งคนนั้นที่ชื่อแอ๊ด คาราบาว แก่ตัวลงมาร้องเพลงอะไรในปี 57?
…
คำถามเหล่านี้ผมมีต่อสายลมก็เท่านั้น หาได้ปรารถนาคำตอบแต่อย่างใด ย้อนกลับไปเล่าต่อว่า
การชุมนุมประท้วงครั้งนั้นดำเนินมาสู่จุดของการถูกฝ่ายรัฐบาลใช้ความรุนแรง เข่นฆ่า สังหาร ปราบปรามในช่วงระหว่างวันที่ 17 – 20 พฤษภา 2535 ตัวอย่างตามภาพด้านล่าง
นี่คือกองเลือดกองชีวิตที่แลกไว้กับการได้นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง
นี่คือกองเลือดกองชีวิตที่ทิ้งเอาไว้เพื่อยืนยันพลังของประชาชน
ร่างไร้ชีวิตหลายร่าง ต้องเสียไปในเหตุการณ์ครั้งนี้ คงเหลือไว้เพียงจิตวิญญาณของพวกเขาที่หลอมรวมกันเรียกว่า “สปิริตประชาธิปไตยแห่งเสรีชน”
สปิริต ดังกล่าวคือสาระสำคัญประการหนึ่งของการต่อสู้ที่แลกด้วยเลือดเนื้อให้ได้มา เมื่อเดือนพฤษภา ปี 35 มิใช่หรือ? แต่ในเดือนพฤษภา ปี 57 ที่เพิ่งผ่านไป สปิริตดังกล่าวก็.
…………….……….
หมายเหตุ
(1) ผู้เขียนลำดับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยอ้างอิงจากงานของศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ เรื่อง “การเมืองในกระบวนการกระจายอำนาจ: ศึกษาผ่านบทบาทของนักวิชาการ ข้าราชการ นักการเมือง และประชาชน”
(2) ภาพประกอบจาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=38110
ผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช