นักวิชาการ ม.รังสิต ค้านแนวคิดยกเลิกบัตรทอง 30 บาท

 รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ไม่เห็นด้วยการที่รัฐบาลมีดำริอาจยกเลิกบัตรทองโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเพราะจะส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อยและไม่อยู่ในระบบประกันสุขภาพหรือระบบสวัสดิการใดๆ

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยการที่รัฐบาลมีดำริอาจยกเลิกบัตรทองโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเพราะจะส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อยและไม่อยู่ในระบบประกันสุขภาพหรือระบบสวัสดิการใดๆ เนื่องจากนโยบายดังกล่าวได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและส่งผลดีต่อประชาชนโดยเฉพาะผู้มีฐานะยากจน ครอบคลุมแรงงานอิสระ แรงงานนอกระบบทีมีอยู่หลายล้านคน อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับความจำเป็นในการปฏิรูประบบประกันสุขภาพเพื่อความยั่งยืนทางการเงินของระบบสวัสดิการสุขภาพในอนาคต

ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า “สำหรับปัญหาความไม่ยั่งยืนทางการเงินระบบสวัสดิการสุขภาพสามารถแก้ไขด้วยการพัฒนาระบบการร่วมจ่ายสำหรับประชาชนที่มีศักยภาพในการจ่ายร่วมได้ นอกจากนี้หากรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันได้ในทุกระดับจะสามารถประหยัดเงินงบประมาณได้ปีละ ไม่ต่ำกว่า 150,000-200,000 ล้านบาทซึ่งเป็นจำนวนมากเพียงพอที่จะสนับสนุนระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้มีความยั่งยืน”

“ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีสัมฤทธิ์ผลที่น่าประทับใจในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น อัตราการใช้บริการ ผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอัตราความชุกของการเข้าไม่ถึงบริการ สุขภาพที่จำเป็น (unmet need) ของประชาชนไทยอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ลดภาระ รายจ่ายด้านการรักษาพยาบาลของครัวเรือนโดยเฉพาะในกลุ่มคนจน ทำให้ลดช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำของภาระรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลของครัวเรือนระหว่างกลุ่มคนยากจน และกลุ่มคนรวย นอกจากนั้นระบบนี้ยังทำให้การอุดหนุนงบประมาณภาครัฐไปสู่กลุ่ม คนจนเพิ่มขึ้น และอุบัติการณ์ของครัวเรือนที่ยากจนอันเนื่องมาจากการจ่ายค่ารักษา พยาบาลลดลงจากร้อยละ 2.7% ในปี พ.ศ. 2543 (ก่อนระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคและพัฒนามาเป็นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า) มาเป็นร้อยละ 1 ในปี พ.ศ. 2557 นับเป็นสถิติตัวเลขที่ดีกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ”

“อย่างไรก็ตาม การไม่ปฏิรูประบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคย่อมทำให้ระบบสวัสดิการด้านสุขภาพของไทยประสบปัญหาทางการเงินภายใน 10 ปีนี้อย่างแน่นอน ประกอบกับโครงสร้างประชากรก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้นตามลำดับ ค่าใช้จ่ายทางด้านการรักษาพยาบาลจะเพิ่มสูงมากขึ้นทุกปี ” ดร. อนุสรณ์ กล่าว

ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ได้เสนอข้อเสนอทางนโยบายการปฏิรูประบบสวัสดิการสุขภาพเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางการเงิน ว่า

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอนาคต ยังมีเป้าประสงค์หลักเช่นเดิม คือ การสร้างความเป็นธรรมใน การเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นสำหรับคนไทยทุกคน แต่ต้องเปลี่ยนแปลงให้มีลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ 1) อิงระบบภาษีและไม่ต้องจ่ายเมื่อไปใช้บริการ 2) ครอบคลุมสิทธิประโยชน์อย่างรอบ ด้านและให้ความสำคัญกับระบบบริการปฐมภูมิและบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และ 3) ใช้ระบบงบประมาณและการจ่ายค่าบริการแบบปลายปิดเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย รวมถึงมีกลไกลสำหรับการคุ้มครองสิทธิแก่ประชาชน การให้ข้อมูล และการรับเรื่อง ร้องเรียน มีระบบการชดเชยกรณีได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล รวมถึง การกำหนดให้โรงพยาบาลต้องมีระบบพัฒนาคุณภาพบริการ (hospital accreditation) การใช้ระบบปลายปิดจะเป็นหลักประกันไม่ให้เกิดภาวะล้มละลายของระบบโรงพยาบาลของรัฐ ต้องมีระบบร่วมจ่ายสำหรับผู้ที่มีศักยภาพในการจ่าย

ต้องพัฒนาบทบาทการซื้อบริการและส่งเสริมให้มีการแข่งขันระหว่างหน่วย บริการในพื้นที่ และ แยกบทบาทระหว่างองค์กรซื้อและองค์กรให้บริการ

พัฒนาศักยภาพของระบบบริการสาธารณสุขระดับอำเภอ เพื่อให้สามารถให้ บริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนา ประสิทธิภาพของระบบการส่งต่อผู้ป่วย

พัฒนาศักยภาพในการใช้ข้อมูลเพื่อติดตามกำกับคุณภาพบริการของหน่วย บริการต่างๆ โดยควรมีตัวชี้วัดและมาตรวัดเปรียบเทียบ เพื่อประเมิน ผลกระทบของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อผลลัพธ์ด้านสุขภาพ การเข้าถึงเทคโนโลยี และบริการป้องกันโรคปฐมภูมิและทุติยภูมิในกลุ่มโรค เรื้อรังที่สำคัญ ลดความไม่เป็นธรรมระหว่างกองทุนต่างๆ

ปรับให้แต่ละกองทุนมีลักษณะใกล้เคียงกันหรือไม่ต่างกัน เช่น ชุดสิทธิประโยชน์ ระบบข้อมูลสารสนเทศ และวิธีการจ่ายค่าบริการ ควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการให้บริการเพิ่มขึ้น ขณะ เดียวกันต้องมีระบบการกำกับมาตรฐานเดียวกันทั้งสำหรับสถานพยาบาล ภาครัฐและเอกชน การปล่อยให้มีสองระบบและมีมาตรฐานในการกำกับที่ แตกต่างกัน อาจไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนานโยบายและระบบสาธารณสุขใน ระยะยาว เป็นต้น

ดร. อนุสรณ์ ได้วิเคราะห์ถึง มาตรการลดภาษี (นำเงินใช้จ่ายซื้อสินค้ามาหักลดหย่อนภาษีได้ 20,000 บาท) ช่วงวันที่ 25-30 ธ.ค.เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงเทศกาลปีใหม่ว่า น่าจะส่งผลบวกต่อการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในช่วงดังกล่าวแต่จะไม่ได้มีผลทำให้เศรษฐกิจปีหน้าเติบโตเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด และจะทำให้การบริโภคสินค้าบางชนิดในช่วงไตรมาสแรกลดลง มาตรการนี้มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมน้อยมาก แต่อาจทำให้ประชาชนรู้สึกว่า รัฐบาลไม่ได้อยู่นิ่งเฉย พยายามแก้ปัญหา ซึ่งตอนนี้เศรษฐกิจก็ไม่ได้มีปัญหาวิกฤติอะไร มีเพียง มาตรการนี้มีแนวคิดคล้ายกับมาตรการลดภาษีสำหรับรถคันแรก ตัวอย่างกรณีลดภาษีรถคันแรกก็มีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่า ปีถัดจากการยกเลิกมาตรการลดภาษี ยอดขายและยอดการผลิตรถยนต์หดตัวติดลบค่อนข้างมากเนื่องจากรถยนต์เป็นสินค้าคงทน  ส่วนกรณีลดหย่อนภาษีกระตุ้น Shopping จะทำให้ยอดขายและเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่ แต่พอคนซื้อสินค้าจำนวนมากกว่าปรกติเพื่อให้ได้สิทธิลดหย่อนภาษีแม้นจะเป็นสินค้าจำเป็นและเป็นสินค้าไม่คงทนก็ตาม อุปสงค์ในการบริโภคในช่วงไตรมาสแรกก็จะลดลง แต่หากซื้อเป็นสินค้าคงทน อาจทำให้ยอดขายสินค้าคงทนปรับตัวลดลงได้ในช่วง 6 เดือนถึงหนึ่งปีข้างหน้า สิ่งที่จะมีผลการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมากกว่า คือ ความมั่นคงในงาน ความเชื่อมั่นต่อรายได้ในอนาคต การเพิ่มค่าจ้าง ราคาพืชผลเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ระดับหนี้ครัวเรือนที่ลดลง อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ รวมทั้งเสถียรภาพทางการเมือง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มาตรการลดหย่อนภาษีดังกล่าวแม้นจะมีผลระยะสั้นและชั่วคราว แต่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีรายได้ระดับปานกลางมากที่สุด และมาตรการนี้จะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า หากผู้ซื้อสินค้าและบริการไปซื้อสินค้าและบริการที่ผลิตในประเทศจากกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก

ดร. อนุสรณ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ยังแสดงความเห็นว่าด้วยหลักการที่ดีของนโยบายภาษีว่า ต้องยึดหลักประสิทธิภาพ ยึดหลักความยุติธรรม เป็นการจัดเก็บตามความสามารถในการเสียภาษี โดยยึดหลักที่ว่า ผู้ใดได้รับบริการจากรัฐมากกว่าสมควรต้องจ่ายภาษีให้แก่รัฐสูงกว่าผู้ที่ได้รับบริการจากรัฐน้อยกว่า หลักความสะดวก ภาษีอากรที่จัดเก็บจะต้องสะดวก ไม่ยุ่งยากทั้งด้านผู้จัดเก็บและผู้เสียภาษี ค่าใช้จ่ายในการบริหารการจัดเก็บภาษีไม่สูงเกินไป ไม่เกิดช่องโหว่ทั้งด้านกฎหมายและการจัดเก็บจนทำให้เกิดการเลี่ยงภาษีขึ้น หลักความแน่นอน ภาษีอากรที่จัดเก็บจะต้องมีการระบุรายละเอียดด้านต่างๆ ในการจัดเก็บไว้ชัดเจนและประกาศให้ประชาชนทราบอย่างเปิดเผย รัฐบาลสามารถประมาณการรายได้จากภาษีอากรที่จะจัดเก็บได้ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานราชการที่จัดเก็บ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการประมาณการรายรับของรัฐบาลต่อไป การใช้มาตรการภาษีเป็นการชั่วคราวบ่อยๆไม่ใช่เรื่องที่ดีนักในการบริหารภาษี หลักการนโยบายภาษีที่ดีต้องยึดหลักประหยัด รัฐจะต้องไม่เสียค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสูงเกินไป การจัดเก็บไม่ซ้ำซ้อน ไม่ทำให้ผู้เสียภาษีหมดแรงจูงใจในการทำงาน นอกจากควรยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันอีกด้วย