ครม.รับทราบรายงานประจำปี 65 สสส. ครบ 6 เป้าประสงค์เป้าหมาย

ครม.รับทราบรายงานประจำปี 65 สสส. ชี้ภาพรวมผลการดำเนินงานดีขึ้นด้วยคะแนน 4.76 ครบ 6 เป้าประสงค์เป้าหมาย

วันที่ 29 ส.ค.2566 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม. มีมติรับทราบรายงานตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 ประจำปี 2565 ของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยผลการดำเนินงานในภาพรวมตามหลักการ Balanced scorecard ได้คะแนนถึง 4.76 จากคะแนนเต็ม 5 (เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีที่ได้ 4.61 คะแนน) และมีผลการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาลโดยได้คะแนนเฉลี่ย 9.67 จากคะแนนเต็ม 10 (เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2564 ที่ได้ 9.25 คะแนน) และได้ตะแนนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่ 93.25 คะแนน อยู่ในระดับ A (ได้คะแนนสูงกว่าผลประเมินภาพรวมระดับประเทศที่ผลคะแนนเฉลี่ย 81.25 คะแนน)

รายงานประจำปี 2565 ของกองทุนฯ ของผลการดำเนินงานตามเป้าประสงค์ 6 ประการ มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ลดปัจจัยเสี่ยงหลักทางสุขภาพ เช่น 1.พัฒนาองค์ความรู้ประเด็นการควบคุมและป้องกันผลกระทบจากยาสูบ รวมถึงพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายในประเด็นบุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม 2.สนับสนุนการปรับปรุง พ.ร.บ. การจราจรทางบก ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2565 โดยเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับและการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตที่ไม่รู้สึกตัวจากอุบัติเหตุทางถนน และ 3.พัฒนาลานกีฬาสาธารณะพื้นที่นำร่องใน จ. ตรัง และ จ. ราชบุรี

2. พัฒนากลไกที่จำเป็นเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอื่น ๆ เช่น 1.จัดตั้งศูนย์วิชาการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ ซึ่งเป็นภัยด้านสิ่งแวดล้อมที่คุกคามสุขภาพของประชาชน และ 2.สนับสนุนให้คนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนให้สามารถเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน โดยสามารถช่วยเหลือคนไทยให้สามารถเข้าถึงกระบวนการพิสูจน์สิทธิ 799 คน และผ่านการพิสูจน์สิทธิได้รับสถานะเป็นคนไทยอย่างถูกต้อง 452 คน

3. เพิ่มขีดความสามารถเชิงสถาบัน บทบาทชุมชน และองค์กร ในการพัฒนาสุขภาวะองค์รวม เช่น 1.พัฒนารูปแบบแนวทางการดูแลผู้ป่วยจิตเวชโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ภายใต้ “โครงการบูรณาการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน” ในพื้นที่เป้าหมาย คือ อ. แว้ง จ. นราธิวาส หรือ “แว้งโมเดล” ซึ่งมีผู้ป่วยได้รับการดูแล 758 ราย และ 2.สถานประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าร่วมโครงการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร 80 แห่ง ใน 39 จังหวัด ครอบคลุมพนักงาน 12,425 คนเพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการนำแนวคิดองค์กรสุขภาวะเป็นแนวทางพัฒนาศักยภาพองค์กร ควบคู่กับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตบุคลากรในองค์กร

4. สร้างค่านิยมและโอกาสการเรียนรู้ในการสร้างเสริมสุขภาวะให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เช่น 1.พัฒนาศักยภาพนักสื่อสารสุขภาวะทุกช่วงวัย 3,702 คน ที่มีทักษะเท่าทันสื่อ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการเป็นผู้นำ และเป็นพลเมืองตื่นรู้ และ 2.พัฒนาโครงการรณรงค์การสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม เช่น โครงการรณรงค์ให้เหล้าเท่ากับแช่ง ห่วงใยใครไม่ให้เหล้า โครงการรณรงค์ฝุ่น PM2.5 และโครงการณรงค์ลดการสูบบุหรี่ไฟฟ้า สามารถสร้างแนวโน้มให้ประชาชนอยากปรับเปลี่ยนหรือตั้งใจปรับพฤติกรรมร้อยละ 91

5. ขยายโอกาสและพัฒนาศักยภาพการสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาวะ เช่น สนับสนุนโครงการสร้างเสริมสุขภาวะระดับชุมชน 2,018 โครงการ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ โดยมีผู้ได้รับประโยชน์ 302,787 คน เช่น โครงการ “สายใยสัมพันธ์ ผู้ผลิต ผู้บริโภค” ร่วมผลิตอาหารปลอดภัยแก้ไขปัญหาสุขภาวะในชุมซน ที่เทศบาลเมืองกระบี่ อ. เมือง จ. กระบี่

6. เพิ่มสมรรถนะระบบบริการและระบบสนับสนุนในการสร้างเสริมสุขภาวะ เช่น 1.พัฒนาทีมหมอครอบครัว ของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี ให้มีรูปแบบบริการคลินิกโรคไม่ติดต่อที่สร้างความรอบรู้สุขภาพให้ผู้ป่วย และ 2.พัฒนาแอปพลิเคชัน “Fun D” ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและความรู้การดูแลสุขภาพและสุขภาพช่องปาก