ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ วิเคราะห์สาเหตุที่รัฐบาลซาอุฯ ตัดสินใจประหารชีวิต เชค นิมร์ นักการศาสนามุสลิมชีอะห์ เพื่อยั่วยุให้อิหร่านตอบโต้ เป็นข้ออ้างในการทำสงคราม ชี้ซาอุฯ กำลังโกรธเหมือนสัตว์ที่บาดเจ็บ
“ชีรีน ที. ฮันเตอร์” ศาสตราจารย์นักวิจัยแห่งสถาบัน Foreign’s Service ของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ได้วิเคราะห์สาเหตุที่รัฐบาลซาอุดิอาระเบียตัดสินใจประหารชีวิตเชค นิมร์ นักการศาสนามุสลิมชีอะห์ ไว้ในบทวิเคราะห์ของเธอในชื่อ “เหตุผลที่แท้จริงที่ซะอุดิอาระเบียประหารชีวิตเชคนิมร์” ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ http://lobelog.com เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา
ในบทวิเคราะห์ดังกล่าว เธอระบุว่า “มองตามตรรกะแล้ว การประหารชีวิตครั้งนี้ ไม่สร้างประโยชน์ใดต่อซาอุดิอาระเบียทั้งในระยะสั้นหรือระยะยาว เว้นแต่การประหารนี้สามารถเข้าใจได้ว่า เป็นกลยุทธ์ในการยั่วยุอิหร่านให้แสดงปฏิกิริยาทางทหารโจมตีซาอุฯ เพื่อตอบโต้การกระทำดังกล่าว”
เธอชี้ว่า “เห็นได้ชัดว่า ซาอุดีอาระเบียไม่อาจมั่นใจว่าจะชนะในการทำสงครามสู้กับอิหร่าน อย่างน้อยไม่ใช่เรื่องง่ายและแน่นอนทำไม่ได้โดยลำพัง แต่ซาอุดีอาระเบียอาจจะนับจำนวนของประเทศอาหรับและไม่ใช่อาหรับมาเข้าร่วมความเสี่ยงนี้ อาหรับบางประเทศเช่นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อาจจะยินดีที่จะทำเช่นนั้น ขณะที่บางประเทศอื่น ๆ เช่น กาตาร์ และคูเวต จะถูกข่มขู่หรือติดสินบนให้เข้ามามีส่วนร่วม ประธานาธิบดีตุรกี ตอยยิบ เออร์โดกัน น่าจะถูกล่อลวงอย่างหนักให้กระโดดมาร่วมขบวน เออร์โดกันมองอิหร่านเสมือนเป็นทายาทของจักรวรรดิซาฟาวิดที่เป็นอุปสรรคที่แท้จริงต่อความฝันของเขาในการสร้างจักรวรรดิออตโตมันขึ้นมาใหม่ เชคนิมร์ถูกประหารชีวิตไม่นานหลังจากเออร์โดกันประชุมร่วมกับกษัตริย์ซัลมาน นั่นเป็นนัยยะสำคัญในเรื่องนี้ แม้กระทั่งปากีสถานก็อาจให้คำมั่นที่จะปกป้องราชอาณาจักรจากภัยคุกคามภายนอก”
“อย่างไรก็ตาม ความพยายามของซาอุดีอาระเบียที่จะกระตุ้นอิหร่านสู่ปฏิกิริยารุนแรง และทำให้เริ่มสงครามได้นั้น ความหวังที่แท้จริงอยู่ที่ว่าปฏิกิริยารุนแรงของอิหร่านจะสร้างความโกลาหลในวงการเมืองของวอชิงตัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาคองเกรส ซึ่งจะทำให้สหรัฐอเมริกาถูกบังคับให้เข้าแทรกแซงในความขัดแย้งด้วยการโจมตีอิหร่าน” ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ วิเคราะห์
ชีรีน ที. ฮันเตอร์ ระบุว่า “นี่ไม่ใช่การคาดเดาเฉยๆ ซาอุดีอาระเบียได้พยายามที่จะยั่วยุอิหร่านหลายครั้ง แรกเลยคือการแทรกแซงทางทหารของซาอุดีอาระเบียในบาห์เรน แล้วมีความพยายามที่จะโค่นล้มระบอบการปกครองของอัสซาด จากนั้นตามมาด้วยการวางระเบิดสถานทูตอิหร่านในกรุงเบรุตปี 2013 ซึ่งคร่าชีวิตชาวเลบานอนจำนวนหนึ่งรวมทั้งทูตวัฒนธรรมของอิหร่าน และเมื่อเร็ว ๆ นี้ในระหว่างพิธีฮัจย์เจ้าหน้าที่ซาอุได้ลวนลามคุกคาม 2 เยาวชนอิหร่าน และในพิธีอัจย์ครั้งนั้นก็ทำให้ผู้แสวงบุญชาวอิหร่านจำนวนมากเสียชีวิตเช่นกัน รัฐบาลซาอุฯ สร้างความยากลำบากอย่างมากต่อเจ้าหน้าที่อิหร่านที่พยายามค้นหา ระบุตัวตน และนำร่างของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อกลับไปยังอิหร่าน และแน่นอนซาอุดีอาระเบียได้เปิดสงครามเต็มรูปแบบในเยเมนด้วยเหตุผลที่ตนอ้างว่าเป็นกบฏที่อิหร่านให้การสนับสนุน”
“การยั่วยุอีกเรื่องเพิ่งเกิดในเดือนที่ผ่านมา เมื่อเจ้าหน้าที่ไนจีเรียจับกุมผู้นำชีอะห์ในประเทศ เชค อิบราฮิม ซัคซากี และกองทัพไนจีเรียได้ฆ่าชีอะห์ตายเกือบพัน ด้วยเหตุผลที่สร้างปลอมขึ้นมา ต่อมาหลัง เชค ซัคซากี ถูกจับกุม มีรายงานว่า กษัตริย์ซัลมานแห่งซาอุฯ ได้แสดงความยินดีกับประธานาธิบดีของไนจีเรียต่อการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพกับผู้ก่อการร้าย (คำนิยามของกษัตริย์เกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายเห็นได้ชัดว่าขยายครอบคลุมไปสู่การปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาอย่างสันติ) ในขณะเดียวกัน มีการละเมิดชีอะห์ในประเทศอื่นๆ อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาเซอร์ไบจาน มีการฆ่าตามอำเภอใจอย่างต่อเนื่องโดยซาอุดี้ – กลุ่มอิทธิพลในปากีสถานและอัฟกานิสถานในเดือนพฤศจิกายน ที่ตัดหัวสาวชาวฮาซารา (Hazara) อายุเก้าปีในอัฟกานิสถาน”
ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ได้วิเคราะห์บทบาทของอิหร่านต่อการยั่วยุว่า “ดูเสมือนว่าอิหร่านไม่ได้ตกอยู่ในอำนาจการยั่วยุของซาอุดิอาระเบีย ยกตัวอย่าง อิหร่านไม่ได้ตอบโต้การแทรกแซงทางทหารของซาอุฯ ด้วยการส่งทหารเข้าไปในบาห์เรนเพื่อปกป้องชีอะห์ ไม่ได้แทรกแซงโดยตรงในเยเมน และการสู้รบในซีเรียก็ยังคงจำกัดกรอบ ไม่ได้แสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่งต่อการวางระเบิดสถานทูตในกรุงเบรุตหรือการทำทารุณต่อคนชาติของตนและต่อผู้แสวงบุญในช่วงพิธีฮัจย์ อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงเสมอที่อารมณ์ของประชาชนจะพุ่งสูงขึ้น และชาวอิหร่านผู้ยึดมั่นในหลักการจะสิ้นสุดความอดทน ซึ่งจะกดดันให้รัฐบาลมีปฏิกิริยาที่ร้อนแรงมากขึ้น”
“ภายใต้สถานการณ์เหล่านี้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรประมาทต่อความเสี่ยงของความขัดแย้งที่อาจจะจบลงด้วยความยุ่งเหยิงของสหรัฐอเมริกาในอีกสงครามแห่งตะวันออกกลาง แม้ว่าตนจะไม่ได้ต้องการ” ชีรีน ที. ฮันเตอร์ ระบุ
ชีรีน ที. ฮันเตอร์ วิเคราะห์บทบาทของซาอุฯ ว่า “อาการโกรธของซาอุดีอาระเบียในขณะนี้ เหมือนมากกับสัตว์ที่ได้รับบาดเจ็บ หลายแผนการของตนสำหรับการมีอำนาจในภูมิภาคเป๋ไปเป๋มา และต้องแบกรับภาระทางการเงินขนาดใหญ่ สิ่งที่สำคัญที่สุดพวกเขายังคงเดือดดาลต่อข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับ P5+1 และไม่เต็มใจที่จะเห็นว่าความไม่มีเหตุผลจากการทะเยอทะยานของพวกเขาส่งผลเช่นไร และเชื่อว่าพวกเขาสามารถจ่ายสินบนหรือข่มขู่ทุกผู้คนให้มาทำตามคำสั่งของพวกเขา ซาอุดิอาระเบียกล่าวโทษอิหร่านที่มาขัดขวางความทะเยอทะยานของตน”
ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ สรุปทิ้งท้ายว่า “ตะวันตกมีส่วนช่วยอย่างมากในการปรนเปรออาการหลงผิดของซาอุดีอาระเบียโดยละเลยการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่น่ากลัวต่อชีอะห์ในประเทศนี้และที่อื่นๆ และโดยการวาดภาพอิหร่านให้เป็นปีศาจมากเกินไป”
“ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่อ่อนไหวนี้ มันมีความสำคัญที่มหาอำนาจตะวันตกจะต้องไม่ยอมให้ซาอุดิอาระเบียเล่นเกมที่อ่านง่ายนี้ ความโกลาหลจากการแบ่งแยกทางนิกาย (sectarian) ในตะวันออกกลางจะไม่เพียงแต่เป็นอันตรายต่ออิหร่านเท่านั้น มันจะแพร่กระจายไปยังคอเคซัสและเอเชียใต้ หากอิหร่านตกภายใต้การโจมตี ชีอะห์ทั้งหมดจะรู้สึกถึงความเสี่ยงของการตกเป็นเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทั้งหมด สุดท้าย สงครามตะวันออกกลางครั้งใหม่ต่ออิหร่าน เกือบจะแน่นอนเลยว่าจะโยงใยไปยังจีนและรัสเซีย ที่อาจจะนำมาซึ่งความเสี่ยงของความขัดแย้งแห่งมหาอำนาจ รัสเซียและจีนไม่น่าจะอยู่เฉยเหมือนที่พวกเขาเป็นในปี 2001 และ 2003”
“ภายใต้สถานการณ์เหล่านี้ มหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาอำนาจตะวันตกจะต้องยับยั้งซาอุดิอาระเบีย และต้องป้องกันพันธมิตรในตะวันออกกลางและเอเชียใต้ของตนจากการถูกลากเข้าไปในความอาฆาตของซาอุดีอาระเบียที่มีต่ออิหร่าน สิ่งที่สำคัญที่สุด พวกเขาก็จะต้องถามตัวเองว่า ซาอุดีอาระเบียคุ้มค่าพอหรือกับอาการปวดหัวที่จะเกิดขึ้น” ชีรีน ที. ฮันเตอร์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ระบุ
อ่านข้อเขียนต้นฉบับ http://lobelog.com/the-real-reason-why-saudi-arabia-executed-sheikh-nimr/