อัฟกานิสถานในระยะเปลี่ยนผ่าน: ถอดบทสัมภาษณ์ (อดีต) ประธานาธิบดีฮามิด กาไซ

อัฟกานิสถาน ในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงรอประกาศผลเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ในระยะเปลี่ยนผ่านถ่ายโอนทางอำนาจตามแนวทางประชาธิปไตยครั้งแรกใน ประวัติศาสตร์ของประเทศ ประธานาธิบดีฮามิด กาไซ
 ผู้เพิ่งลงจากอำนาจได้ให้สัมภาษณ์ เมื่อช่วงเดือนมีนาคม (ก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรก 1 เดือน) เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองของอัฟกานิสถานหลายๆ เรื่องไว้อย่างน่าสนใจ


ผมเห็นว่าบทสัมภาษณ์นี้มีนัยสำคัญหลายประการที่ช่วยให้เราเข้าใจการเมืองของ อัฟกานิสถานได้ดีขึ้น และอาจเป็นตัวแบบกรณีศึกษาสำหรับสังคมไทยใช้พิจารณาได้อย่างมีประโยชน์ได้ใน บางแง่มุม จึงได้แปลและเรียบเรียงอย่างไม่เคร่งครัดตามตัวอักษรมาเผยแพร่ในที่นี้

——————–

ถาม:  หลังจากที่ครองอำนาจมา 13 ปี ตอนนี้ท่านกำลังกำกับการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจอย่างเป็นประชาธิปไตยครั้งแรกใน อัฟกานิสถาน. ช่วงหลังเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 เป็นต้นมา กล่าวได้ว่า 
มีสองประเด็นหลักที่สังคมระหว่างประเทศเกี่ยวกังวลสนใจเกี่ยวกับประเด็น อัฟกานิสถาน หนึ่งคือ การแพร่กระจายของลัทธิสุดโต่ง กับสอง คือ การสร้างสันติภาพกับกลุ่มตอลีบาน ซึ่งพบว่าไม่มีการพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาสองเรื่องนี้อย่างชัดเจนในระหว่าง 10 ปีหลังมานี้. ท่านมองว่า ตอลีบาน เป็นตัวแสดงที่อิสระหรือไม่? และท่านเห็นว่าตำแหน่งสถานะของกลุ่มตอลีบานในอัฟกานิสถานทุกวันนี้เป็น อย่างไร?

ตอบ: ก่อนที่ผมจะไปสู่ประเด็นหลักในคำถามนี้ ผมขออธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่คุณเรียกว่า “ลัทธิสุดโต่ง” เสียก่อน. ลัทธิสุดโต่งและภัยจากแนวคิดนี้ได้กลายมาเป็นประเด็นสำคัญของโลกมุสลิม. จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมเชื่อว่า ลัทธิสุดโต่งมิใช่ผลผลิตจากศาสนาอิสลามหรือสภาพแวดล้อมแบบอิสลามเลย และก็ไม่ใช่ผลผลิตทางนโยบายของบรรดาประเทศมุสลิมด้วย. ประสบการณ์ของผมจากเหตุการณ์ญิฮาดในอัฟกานิสถานมันบอกว่า เป็นชาติตะวันตกต่างหากที่ใช้คำว่า “ลัทธิสุดโต่ง” เป็นเครื่องมือ และเป็นโลกมุสลิมกับชาวมุสลิมที่ได้รับผลกระทบเสียหาย.

ส่วน ในเรื่องกลุ่มตอลีบานนั้น ผมเคยกล่าวไว้ว่าเราสามารถพูดคุยเจรจากับสมาชิกส่วนที่เป็นชาวอัฟกันและไม่ เป็นเครื่องมือของนโยบายคนอื่น. หากมองในเชิงปัจเจกบุคคล มิใช่ในฐานะสมาชิกของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง พวกเขาเหล่านี้มีความพร้อมที่จะเจรจามาโดยตลอด และเราได้เปิดการพูดคุยกับพวกเขามาอยู่แล้ว.  อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในเชิงของกลุ่ม ตอลีบาน อยู่ภายใต้อิทธิพลของอำนาจที่ครอบคลุมเหนือกว่าขอบเขตประเทศอัฟกานิสถาน และนี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมทางการของเราจึงไม่สามารถจัดการพูดคุยเจรจาที่มีประสิทธิภาพได้ หากไร้ซึ่งความร่วมมือจากอำนาจภายนอก กล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงก็คือ ปากีสถาน และสหรัฐอเมริกา.

ถาม: บางครั้งข้อเรียกร้องของกลุ่มตอลีบานก็ไม่สอดคล้องกับการกระทำของพวกเขา. ยกตัวอย่างเช่น พวกเขาบอกว่าพร้อมที่จะเจรจาพูดคุย แต่ขณะเดียวกัน ก็ยืนยันว่าจะไม่ยอมรับทั้งรัฐธรรมนูญและกระบวนการเลือกตั้ง. ท่านคิดว่า กลุ่มตอลีบานจะสามารถเข้าร่วมในการเมืองกระแสหลักของประเทศได้หรือเปล่ากับ ท่าทีของพวกเขาเช่นนั้น?

ตอบ: ได้. หากเราปลดเปลื้องกลุ่มตอลีบานจากความอึดอัดคับข้องและนำพวกเขาเข้าสู่โต๊ะ เจรจา จากนั้นการพูดคุยเพื่อสันติภาพและการเข้าร่วมอย่างจริงจังก็จะเข้ามาแทนที่. อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เราจะไปถึงขั้นนั้น และก่อนที่ตอลีบานจะเข้าร่วมในเวทีการเมืองของประเทศในฐานะกลุ่มการเมือง กลุ่มหนึ่ง พวกเขาควรจะได้รับอิสระทางการเมือง ผ่านการเจรจาที่มีสหรัฐอเมริกาและปากีสถานให้การสนับสนุน

ถาม: อุดมการณ์ของตอลีบานยังคงเป็นที่นิยมอยู่ในอัฟกานิสถานทุกวันนี้หรือไม่? ยกตัวอย่างเช่น ตอลีบานสามารถดึงดูดผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ไหมหากพวกเขาส่งตัวแทนลงแข่งขัน เลือกตั้ง

ตอบ: ในเชิงรายบุคคลแล้ว ใช่ อุดมการณ์ของตอลีบานยังคงเป็นที่นิยมอยู่สำหรับปัจเจกบุคคลบางราย. เราสามารถวาดโครงสร้างของรัฐสภาได้ว่าใครบ้างที่เคยเข้าร่วมกับกลุ่มตอลีบาน มาก่อน และดำเนินการเข้ามาสู่รัฐสภา. ดังนั้น ปัจเจกบุคคลจากกลุ่มนี้จึงอาจได้รับคะแนนโหวต; แต่ถ้าพวกเขาถูกมองในฐานะตัวแทนของกลุ่มตอลีบาน สังคมอัฟกันก็จะรู้สึกมีปัญหา ซึ่งตอลีบานเองก็ระมัดระวังความเป็นจริงข้อนี้เช่นกัน

ถาม: ใน ค.ศ.2001 ตอลีบานเป็นกลุ่มที่ท่านต้องต่อสู้ด้วย แต่ใน ค.ศ.2014 กลุ่มนี้ได้เปลี่ยนมาเป็นกลุ่มที่ท่านต้องพูดคุยเจรจา. ทำไมสหรัฐฯ จึงเริ่มต้นการเจรจากับตอลีบานโดยปราศจากการเข้าร่วมของรัฐบาลกลาง อัฟกานิสถาน? อะไรคือแผนการของวอชิงตันต่อตอลีบานในปี 2014 และในอนาคต?

ตอบ: สหรัฐฯ เข้ามาในอัฟกานิสถานในนามของการต่อสู้กับตอลีบาน อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่เคยโจมตีศูนย์กลางการฝึกซ้อมและแหล่งกบดานของกลุ่มตอลีบานเลย. แต่สิ่งที่สหรัฐฯ ทำก็คือ การโจมตีและทิ้งระเบิดใส่บ้านเรือนของพลเมืองชาวอัฟกัน. ประเด็นนี้นำมาซึ่งความตึงเครียดอย่างมากระหว่างเรากับวอชิงตัน. ใน ค.ศ.2013 สหรัฐฯ บอกกับเราว่า พวกเขาไม่ตระหนักว่าตอลีบานเป็นศัตรูอีกต่อไป และจะไม่ต่อสู้กับตอลีบานอีกแล้วหลัง ค.ศ.2014. หากพิจารณาจากสามข้อนี้ ผมคงต้องถามว่า สงครามที่เกิดขึ้นมันเป็นการเจตนาต่อสู้กับตอลีบานตั้งแต่แรกเริ่ม หรือมันเป็นการกระทำที่หวังผลอะไรบางอย่างตามมาอันเปิดเผยมิได้กันแน่. ผมไม่มีคำตอบสำหรับคำถามว่า อะไรคือเป้าหมายของสหรัฐอเมริกา. ความจริงแท้แน่นอนก็คือวันนี้ วอชิงตันไม่ได้เห็นตอลีบานเป็นศัตรู.

ถาม: ท่านคิดว่า วันใดวันหนึ่ง สหรัฐฯ จะให้การแบ่งปันอำนาจกับกลุ่มตอลีบานหรือไม่?

ตอบ: สหรัฐฯ ได้พยายามอยู่ แต่เราจะต่อต้านเท่าที่จะทำได้. สิ่งที่เราต้องการคืออัฟกานิสถานที่เป็นเอกภาพอันหนึ่งอันเดียว ที่ซึ่งถูกปกครองโดยรัฐธรรมนูญและเจตนารมณ์ของพลเมือง. บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดที่ถือครองเสียงโหวตของอัฟกัน บุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นก็มีสิทธิในการปกครองประเทศ. แต่เราต่อต้านการแบ่งสันปันส่วนอำนาจในการต่อรองที่ถูกดำเนินการจากภายนอก อัฟกานิสถานและมีเจตนาสนองตอบเป้าหมายของอำนาจต่างชาติทั้งอย่างลับๆ และอย่างเปิดเผย

ถาม: ทำไมท่านจึงต่อต้านการลงนามในข้อตกลงด้านความมั่นคงระหว่างอัฟกานิสถานกับสหรัฐฯ?

ตอบ: ข้อโต้แย้งของผมค่อนข้างชัดเจน. เราจะให้ฐานที่ตั้งทางทหารสำหรับสหรัฐฯ ในการสร้างสันติภาพให้กับประเทศและประชาชนอัฟกานิสถาน. ผมไม่สามารถโน้มน้าวตัวเองให้ยอมรับการดำรงอยู่ของกองกำลังสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานต่อออกไปอีก 10 ปี โดยที่ประชาชนอัฟกันไม่ได้รับความมั่นคงใดใด. หากสหรัฐฯ ประสงค์จะคงการทหารไว้ในอัฟกานิสถาน ประเทศของเราก็ควรจะได้ประโยชน์จากมัน. ประโยชน์ที่ว่านี้ไม่ใช่อะไรอื่น หากแต่เป็นสันติภาพและความมั่นคง. ดังนั้น เราจะให้ฐานที่ตั้งแก่กองทัพสหรัฐฯ เฉพาะในกรณีที่สามารถรับประกันได้ว่าสันติภาพจะบังเกิด.

ถาม: อัฟกานิสถานสามารถมีความมั่นคงโดยปราศจากการคงอยู่ของกองกำลังสหรัฐฯ ได้หรือไม่?

ตอบ: แน่นอนที่สุด อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ผู้คนของเราได้เสียสละเพื่อปกป้องผืนแผ่นดิน. กระทั่งปัจจุบัน เยาวชนหลายพันคนได้สละชีพของพวกเขาไปกับการปกป้องดินแดน. ดังนั้น ผมจึงตอบคำถามนี้ว่า ใช่ เราสามารถปกป้องประเทศของเราเองได้. แน่นอนว่า มันจะง่ายขึ้นถ้าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคร่วมมือกับเราอย่างสอดประสาน. หากในปากีสถานมีรัฐบาลที่ร่วมมือกับเราบนพื้นฐานของมิตรภาพ ภราดรภาพ และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ในท้ายที่สุดแล้วเราก็จะไม่ต้องต่อสู้กับอุปสรรคเหมือนที่เป็นอยู่. หากเราบรรลุข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านในการให้หลักประกันความมั่นคงและผล ประโยชน์ของพวกเราทุกประเทศ เราก็จะไม่จำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างชาติ. ในทางกลับกัน สถานการณ์ที่เป็นอยู่บังคับให้เราต้องอาศัยความช่วยเหลือจากต่างชาติ ถึงแม้ว่าในท้ายที่สุดแล้ว อัฟกานิสถานจะแบกรับความรับผิดชอบในการปกป้องผืนแผ่นดินตนเองก็ตาม.

ถาม: เงินช่วยเหลือจากต่างชาติช่วยการคลังของอัฟกานิสถานอย่างไร? รายได้ของอัฟกานิสถานอยู่ในระดับเหนือกว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใน ค.ศ.2013, ขณะที่ท่านจำเป็นต้องใช้เงินราวๆ สี่พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ในการใช้จ่ายงบประมาณภายในประเทศ. มันมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ที่จะคาดหวังให้สหรัฐฯ และสมาชิกนาโต้ชาติอื่นๆ ลดการคงกองกำลังทหารในอัฟกานิสถานลง แต่ยังคงรักษาระดับความช่วยเหลือทางการเงินไว้เหมือนเดิม หรือให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มมากขึ้น?

ตอบ: เรารู้สึกตื้นตันใจสำหรับความช่วยเหลือระหว่างประเทศที่เราได้รับ ไม่ว่าจะมาจากประเทศตะวันตก หรือประเทศในภูมิภาค อย่างเช่น อิหร่าน เพื่อนบ้านของเรา. ความช่วยเหลือเหล่านี้ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของชาวอัฟกัน. อย่างไรก็ดี ก็มีบางความช่วยเหลือจากชาติตะวันตกที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนอัฟกานิสถาน. ผมขอกล่าวย้ำว่า ผมรู้สึกขอบคุณประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะชาติตะวันตก สำหรับความช่วยเหลือ และปรารถนาจะให้พวกเขายังคงดำเนินนโยบายเช่นนี้ต่อออกไป. ความช่วยเหลือใดใดก็ตามที่เข้ามาสู่อัฟกานิสถานและถูกใช้ในทางที่ถูกต้อง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อพวกเรา. แต่กระนั้น ในท้ายที่สุด พวกเราชาวอัฟกันก็ควรจะดำเนินชีวิตของเราเองบนฐานศักยภาพที่เรามีและประสบ ความสำเร็จด้วยตัวเราเอง. สุดท้ายแล้ว ชาวอัฟกันควรที่จะใช้จ่ายเงินจากกระเป๋าเงินของตนเอง.

ถาม: คำวิพากษ์วิจารณ์ต่อท่านจำนวนมาก กล่าวหาว่า ฮามิด กาไซ เป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับสหรัฐฯ และเพิ่งจะคัดค้านนโยบายของวอชิงตันแค่เมื่อสอง – สามปีที่ผ่านมานี้เอง. ท่านเห็นด้วยกับคำวิจารณ์ดังกล่าวหรือไม่?

ตอบ: ความรู้สึกคัดค้านของพวกเราต่อสหรัฐฯ ไม่ได้เพิ่งมีแค่ในช่วงสอง – สามปีที่ผ่านมานี้หรอก. ความไม่เห็นด้วยกับแนวทางของวอชิงตันได้เริ่มตั้งเค้าตั้งแต่ปี 2004 – 2005 เพียงแต่มันเก็บซ่อนไว้ด้านหลังประตู ไม่ได้ปรากฏออกมาในทางสาธารณะ อย่างที่เพิ่งเห็นชัดในสื่อต่างๆ ตั้งแต่ปี 2007. หลังจากการจู่โจมทางอากาศใน ค.ศ.2008 ที่เป็นการสังหารพลเรือนจำนวนมาก รวมทั้งผู้หญิงและเด็ก พวกเราก็ได้สะท้อนเสียงในการต่อต้านสหรัฐฯ ออกมา. สาเหตุข้อใหญ่ที่สุดของความแตกต่างอันนี้ ก็คือ การตายของพลเรือน. ส่วนสาเหตุประการที่สอง ก็คือ คุณภาพของความช่วยเหลือของวอชิงตันที่มีต่ออัฟกานิสถาน และการที่พวกเขากระทำเหมือนกับจะจัดตั้งรัฐบาลคู่ขนานกับเรา. ตัวอย่างที่ดี คือ การที่พวกเขาจัดตั้งหน่วยความมั่นคงในรูปแบบบริษัทเอกชนขึ้นมา. แนวทางทางการเมืองของวอชิงตันที่ผ่านมาจึงมีลักษณะเผชิญหน้ากับเรามากกว่า ร่วมมือ และนี่ก็ทำให้ท่าทีของเราแตกต่างออกไป. ความไร้ประโยชน์ของแนวทางนี้กดดันให้เราต้องสร้างความแตกต่างต่อสาธารณะ. ความอดทนของเรา (ต่อวอชิงตัน) เริ่มหมดลง

ถาม: ท่านได้กล่าวถึงบทบาทอันสำคัญของปากีสถานในการควบคุมตอลีบาน. ปากีสถานจะร่วมมือกับรัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถานในประเด็นนี้หรือไม่? อัฟกานิสถานสามารถมีความมั่นคงและสันติภาพได้หรือเปล่าโดยปราศจากความช่วย เหลือจากปากีสถาน?

ตอบ: หากปากีสถานไม่ช่วยเรา โดยธรรมชาติแล้วสถานการณ์ของอัฟกานิสถานก็ย่อมจะไม่ดีขึ้น. แต่ประเด็น
ก็คือ กระทั่งปากีสถานเอง ตอนนี้ก็ประสบปัญหาและยุ่งยากใจกับลัทธิสุดโต่งเช่นกันในทุกวันนี้. ผู้คนในปากีสถานเป็นดุจเพื่อนที่รักยิ่งของเรา; พวกเขาปฏิบัติต่อเราอย่างโอบอ้อมอารีย์ในระหว่างช่วงเวลาแห่งวิกฤติและเราก็ รู้สึกตื้นตันในเรื่องนั้น. อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของปากีสถาน ได้ให้การสนับสนุนกลุ่มลัทธิสุดโต่งทั้งทางตรงและทางอ้อมมาตลอดสามทศวรรษ และโชคร้ายที่ความเสียหายจากลัทธิสุดโต่งและการก่อการร้ายก็ได้ย้อนกลับมา ทำร้ายพวกเขาเสียเอง. พลเมืองปากีสถานที่เสียชีวิตในแต่ละวันมีจำนวนที่มากอย่างมีนัยสำคัญอัน เนื่องจากปฏิบัติการของพวกกลุ่มลัทธิสุดโต่ง.

เรา ได้รับสัญญาณว่า มีการถกเถียงอย่างเคร่งเครียดที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในรัฐบาลของ ปากีสถาน เพื่อให้สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของลัทธิสุดโต่ง. ในการสำรวจความมั่นคงภายในของหน่วยข่าวกรองปากีสถาน ได้ระบุว่าการขาดซึ่งความมั่นคงในประเทศ บวกกับการเพิ่มขึ้นของลัทธิก่อการร้ายและลัทธิสุดโต่ง มีสาเหตุมาจากนโยบายที่ผิดพลาดของปากีสถานต่ออินเดียและอัฟกานิสถาน ตลอดจนอิหร่าน.

ถาม: อะไรคือโอกาสและความท้าทายในความสัมพันธ์ระหว่างอัฟกานิสถานกับอิหร่านใน ระหว่างที่ท่านอยู่ในอำนาจ? ทั้งสองประเทศได้ใช่ศักยภาพอย่างเต็มที่ในการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีต่อ กันหรือไม่?

ตอบ: ในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างอัฟกานิสถานกับอิหร่านตามที่ได้บันทึก ไว้ ไม่มียุคสมัยไหนที่จะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างเราเข้มแข็งและมีพลวัตมากเท่า ช่วง 12 ปีที่ผ่านมา. ความสัมพันธ์ของเรากับเตหะรานเป็นไปอย่างยอดเยี่ยมและอิหร่านก็มีความเข้าใจ ที่ถูกต้องต่อสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน ซึ่งนี่นำไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ลึกซึ้งและกว้างขวางมากขึ้น. อิหร่านมองความสัมพันธ์กับประเทศของเราแยกออกจากความสัมพันธ์ระหว่างเรากับ วอชิงตัน ถึงแม้ว่าอิหร่านจะเผชิญหน้าอยู่กับวอชิงตันก็ตาม. ตลอดช่วงขวบปีเหล่านี้ อิหร่านมีความสัมพันธ์อันดีและเปิดเผยกับเรามาโดยตลอด. และเราเองก็พยายามทำในแบบเดียวกันเช่นกัน. นับตั้งแต่จุดเริ่มต้น เราบอกสหรัฐฯ โดยตรงว่า อิหร่านคือเพื่อนบ้านของเราที่มีจุดร่วมกันในเรื่องของภาษา วัฒนธรรม และศาสนา. โดยข้อเท็จจริงแล้ว เรากับอิหร่านก็เหมือนกับอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน และสหรัฐฯ ก็ไม่สามารถและไม่ควรเรียกร้องให้เราลดระดับความสัมพันธ์กับอิหร่าน.

ถาม: ท่านจะลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับอิหร่านก่อนหน้าที่ท่านจะหมดวาระลงหรือ ไม่? และมันจะมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ระหว่างข้อตกลงความร่วมมือกับอิหร่าน กับ ข้อตกลงด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ?

ตอบ: แน่นอนว่ามันสัมพันธ์กัน; และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเตหะรานจึงเรียกร้องให้ลงนามในข้อตกลงกับพวกเขา เพื่อให้ข้อตกลงทางความมั่นคงที่เรามีกับวอชิงตันจะไม่กลายไปเป็นภัยคุกคาม. อิหร่านกำลังทำสิ่งที่ถูกต้องและทุกประเทศก็มีสิทธิที่จะลดระดับผลกระทบเชิง ลบจากข้อตกลงที่ลงนามโดยเพื่อนบ้านของตน. แน่นอนว่าผลกระทบไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับอิหร่าน แต่เพราะปัญหากับสหรัฐฯ อิหร่านมีสิทธิที่จะทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่า การดำรงอยู่ของกองกำลังสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานจะไม่เพิ่มปัญหาให้กับพวกเขา.

นั่น คือเหตุผลของการประชุมระหว่างผมกับประธานาธิบดีโรว์ฮานีของอิหร่านในระหว่าง ที่ผมไปเยือนเตหะรานรอบล่าสุด. ผมได้ประกาศความสนับสนุนของผมในการลงนามข้อตกลงความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ กับอิหร่าน.ล่าสุด กระบวนการยกร่างข้อตกลงอันนี้ก็ได้เริ่มต้นขึ้นและการเจรจาก็กำลังดำเนินไป ระหว่างผู้แทนของเราทั้งคู่

ถาม: การเลือกตั้งประธานาธิบดีอยู่บนเส้นทางของการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจอย่างเป็น ประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก. ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดี ใน ค.ศ.2009 มีข้อกล่าวหาว่ามีการแทรกแซงจากอำนาจต่างชาติ. ท่านจะหยุดยั้งการแทรกแซงจากต่างชาติในการเลือกตั้งหนนี้อย่างไร?

ตอบ: ในการเลือกตั้งปี 2009 เราเป็นประจักษ์พยานของการแทรกแซงจากสหรัฐฯ และมหาอำนาจตะวันตกางชาติอย่างชัดเจน. ด้วยประสบการณ์ครั้งก่อน เราจะทำอย่างดีที่สุดที่จะหยุดยั้งการแทรกแซง. เราหวังว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปอย่างโปร่งใสและได้รับการเห็นชอบจากประชาชน อัฟกัน

ถาม: ท่านอยู่ในตำแหน่งผู้นำอัฟกานิสถานในช่วงชวบปีที่ยากลำบากที่สุด อะไรบ้างที่ยังคงเป็นความท้าทายสำหรับประธานาธิบดีคนใหม่?

ตอบ: ประธานาธิบดีคนต่อไปจะเผชิญสอง-สามปัญหามากกว่าที่ผมเคยเผชิญมาใน 10 ปีหลังมานี้. ย้อนกลับไป 12 ปีที่แล้ว เราได้เริ่มต้นจากความยากลำบากอย่างมาก ตอนนั้นเราไม่มีรัฐ เราไม่มีรัฐธรรมนูญ. เราไม่มีทรัพยากรทางการเงิน และแหล่งทุนสำรองทางการเงินใดใด. แต่ในวันนี้ เราอยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่านั้นมาก. เงินในคลังของเราเพิ่มจาก 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2002 มาเป็น 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2014. รายได้ต่อหัวประจำปีก็เพิ่มขึ้นจาก 150 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาเป็น 700 ดอลลาร์สหรัฐฯ. ระบบการศึกษาสำหรับเด็กอัฟกันก็พัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเรากำลังมีประชากรที่ได้รับการศึกษาในจำนวนมากขึ้น. ประธานาธิบดีคนต่อไปของเราจะต้องส่งเสริมให้แนวโน้มเช่นนี้เดินหน้าต่อไป แต่เขาก็จะต้องเผชิญกับปัญหาสอง-สามข้อ. ความท้าทายของเรายังไม่หมดไป แต่กระนั้นเราก็หวังว่าประเด็นปัญหาอย่าง ลัทธิก่อการร้าย ลัทธิสุดโต่ง การไร้ความมั่นคง และความสัมพันธ์กับปากีสถาน จะได้รับการแก้ไขบรรเทา.

ถาม: ข้อวิพากษ์วิจารณ์หลักต่อโครงสร้างการเมืองปัจจุบันของอัฟกานิสถานก็คือ เรื่องของการคอรัปชั่นทางการเงินที่มีอยู่มาก. อะไรบ้างที่ท่านทำเพื่อจัดการกับประเด็นดังกล่าวในตลอดช่วงเวลา 12 ปีที่ปกครองประเทศ.

ตอบ: คอรัปชั่นทางการเงินเป็นปัญหาใหญ่ของอัฟกานิสถานมาโดยตลอด. คอรัปชั่นมาจากสองแหล่งด้วยกัน คือ หนึ่ง คอรัปชั่นในวงข้าราชการซึ่งปรากฏในทุกๆ ประเทศ และเป็นต้นเหตุของความกังวลสนใจ แต่แม้ว่ามันจำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไข แต่คอรัปชั่นในวงข้าราชการก็ไม่ใช่ปัญหาหลัก. กับสอง สาเหตุใหญ่กว่าของคอรัปชั่นเกิดขึ้นจากความช่วยเหลือของต่างชาติ. คณะกรรมาธิการว่าด้วยข้อตกลงสัญญาและระเบียบขั้นตอนการส่งต่อความช่วยเหลือ มายังอัฟกานิสถานนั้น กำลังมีคำถามเพิ่มมากขึ้น. เงินในนามของอัฟกานิสถานถูกใช้จ่ายไปยังที่อื่นๆ และนั่นทำให้เกิดคอรัปชั่น. ดังนั้น ผมจึงคิดว่า คอรัปชั่นจากภายนอกเป็นสาเหตุที่ใหญ่ยิ่งกว่า หากเปรียบเทียบกับคอรัปชั่นภายในประเทศ.

ถาม: มีเสถียรภาพทางการเมืองเพียงพอหรือไม่สำหรับประธานาธิบดีคนต่อไป ในการที่จะวางแผนการสำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการยกระดับความมั่นคง?

ตอบ: เรามีเสถียรภาพทางการเมืองอย่างชัดเจน.

ถาม: ท่านสนับสนุนผู้สมัครแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดีท่านใดหรือไม่?

ตอบ: ผมไม่ได้สนับสนุนใคร และจะไม่ทำเช่นนั้น.

ถาม: จากสถานการณ์ซึ่งท่านได้ผ่านมา ท่านประเมินผลงานทางนโยบายต่างประเทศอย่างไร นับตั้งแต่ที่เริ่มต้นขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายต่อประเทศในภูมิภาค?

ตอบ: ผมค่อนข้างประสบความสำเร็จในนโยบายต่างประเทศและได้จัดการที่จะสร้างความ สมดุลขึ้นในเรื่องนี้. เรามีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับสหรัฐฯ และในขณะเดียวกับที่มีความสัมพันธ์อันดีมากกับอิหร่าน จีน และรัสเซียเช่นกัน. เราไม่อนุญาตให้อัฟกานิสถานเปลี่ยนไปสู่การเป็นสนามปะทะ ต่อสู้ แข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจต่างชาติ. ดังนั้น ผมจึงคิดว่า นโยบายต่างประเทศของเราดำเนินมาในทิศทางที่ดีที่สุด. ภายใน 12 ปีที่ผ่านมานี้ ผมได้ไปเยือนอิหร่าน 10 – 15 ครั้ง. เจ้าหน้าที่รัฐอิหร่านก็ได้เดินทางเยือนประเทศเราด้วยเช่นกัน นั่นรวมถึงอดีตประธานาธิบดีอย่างท่านคาตามี ท่านอะห์มะดีเนจาด และท่านโรว์ฮานี.

ถาม: ท่านจะยังคงเล่นบทบาทอยู่ในการเมืองอัฟกันต่อไปหรือไม่ หลังพ้นตำแหน่งแล้ว?

ตอบ: ในฐานะพลเมืองทั่วไป ผมจะมีส่วนร่วมและแบ่งปันความกังวลสนใจประเด็นต่างๆ. หากประธานาธิบดีคนต่อไปขอคำปรึกษา ผมก็จะช่วยเหลือเขาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ผมมี. ผมพร้อมที่จะรับใช้อัฟกานิสถานและรัฐบาลชุดต่อไป.

ถาม: ท่านจะหวนกลับมาสู่ฉากหน้าของการเมืองหรือไม่ หากวันหนึ่งท่านรู้สึกว่าอัฟกานิสถานต้องการคนที่ชื่อฮามิด กาไซ?

ตอบ: ไม่. ตามรัฐธรรมนูญแล้ว การเป็นประธานาธิบดีวาระที่สามเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ และผมก็คิดว่ามันไม่จำเป็น. ผมได้รับใช้อัฟกานิสถานอย่างดีที่สุดที่ผมสามารถจะทำได้แล้วตลอดช่วง 12 ปีที่ผ่านมา และผมคิดว่า มันจะดีกว่าหากคนรุ่นใหม่ๆ ที่มีพลังอยู่มากจะก้าวมาอยู่ในฉากหน้า. ผมสามารถที่จะรับใช้อัฟกานิสถานในฉากหลังได้.

———————
ที่มา: http://president.gov.af/en/documents