ผลการเลือกตั้งทั่วไปของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2529 มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 347 คน ปรากฎว่า พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส. 100 คน พรรคชาติไทย ได้ส.ส. 64 คน พรรคกิจสังคม ได้ส.ส. 51 คน พรรคสยามประชาธิปไตย ได้ส.ส. 38 คน พรรคประชากรไทย ได้ส.ส. 24 คน พรรครวมไทย ได้ส.ส. 17 คน พรรคราษฎร ได้ส.ส. 19 คน พรรคกิจประชาคม ได้ส.ส. 15 คน พรรคก้าวหน้า ได้ส.ส. 9 คน พรรคชาติประชาชน ได้ส.ส. 3 คน พรรคมวลชน ได้ส.ส. 3 คน พรรคเล็กๆได้ส.ส. พรรคละ 1 คน
แต่เนื่องจากการเมืองไทยยังอยู่ภายใต้บารมีและอิทธิพลของทหาร ผู้นำกองทัพได้รวบรวมพรรคการเมืองได้ 5 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และ พรรคราษฎร รวมมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุน 256 คน เกินกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนอชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3โดยมี นายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร
สำหรับผลการเลือกตั้งในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฎผลดังนี้
จังหวัดปัตตานี
1. นายเด่น โต๊ะมีนา พรรคประชาธิปัตย์
2. นายปรีชา บุญมี พรรคประชาธิปัตย์
3. นายทวีศักดิ์ อับดุลบุตร พรรคสยามประชาธิปไตย
จังหวัดนราธิวาส
1. นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ พรรคประชาธิปัตย์
2. นายพิบูลย์ พงศ์ธเนศ พรรคประชาธิปัตย์
3. นายเสนีย์ มะดากะกุล พรรคกิจประชาคม
จังหวัดยะลา
1. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา พรรคประชาธิปัตย์
2. นายอดุลย์ ภูมิณรงค์ พรรคสยามประชาธิปไตย
จังหวัดสตูล
นายจิรายุส เนาวเกตุ พรรคก้าวหน้า
เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้าร่วมรัฐบาลแล้ว เบื้องต้นถือได้ว่าผู้สมัครบางคนในกลุ่มเอกภาพตัดสินใจไม่พลาดที่ลงสมัครในพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเป้าหมายของกลุ่มเอกภาพต้องการเข้าไปอยู่ในซีกอำนาจรัฐ เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ในส่วนที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือมุสลิมในประเทศไทยยังขาดแคลนอยู่ เช่น สิทธิในเรื่องศาสนา การเมืองการปกครอง การศึกษา และ เศรษฐกิจ ดังนั้นการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีภายในพรรคก็ต้องเป็นไปตามที่ได้ตกลงกันไว้
คราวประชุมเพื่อคัดเลือกตำแหน่งรัฐมนตรีในพรรคประชาธิปัตย์ ในที่ประชุมได้ถกของตำแหน่งที่จะให้กับกลุ่มเอกภาพ โดยมีสมาชิกในที่ประชุมบางคนติติงว่าการให้ค่ำมั่นสัญญาจะให้รัฐมนตรีแก่กลุ่มเอกภาพนั้นเป็นการตกลงโดยพลการของคุณวีระ มุสิกพงศ์ ไม่ใช่มติของพรรค จึงเกิดการถกเถียงขึ้นมา
ในที่สุด นายวีระ ได้ชี้แจงด้วยเหตุผลว่า ในฐานะเป็นเลขาธิการพรรคแม้ไม่ได้หารือกับคณะกรรมการบริหารพรรคมาก่อน ก็น่าจะได้รับเกียรติจากคณะกรรมการบริการพรรคบ้าง และ ส.ส. มุสลิมในพรรคมี 4 คน และ ส.ส. ที่ไม่ใช่มุสลิมของพรรคในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่สังกัดในกลุ่มเอกภาพมี 2 คน รวมกันแล้วได้ 6 คน สมควรจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างน้อย 1 ตำแหน่งตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติในพรรคมาแต่เก่าก่อน
ในที่สุดในที่ประชุมส่วนใหญ่ได้คล้อยตามข้อเสนอของนายวีระ จึงเสนอให้ นายเด่น โต๊ะมีนา เป็นรัฐมนตรีด้วยคนหนึ่งในคณะรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ และมีสมาชิกในที่ประชุมท่านหนึ่งได้เสนอชื่อ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส. จังหวัดสุราษฎร์ธานีให้มีชื่อไว้เป็นเกียรติประวัติในการเสนอชื่อครั้งนี้ด้วย
แต่เมื่อเสนอชื่อไปยังนายกรัฐมนตรี (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) แล้ว ผลปรากฎว่า เมื่อมีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเปรมหนึ่งวันที่ 5 สิงหาคม 2529 ไม่ปรากฎชื่อ นายเด่น โต๊ะมีนา เป็นรัฐมนตรีแม้แต่เงา แต่ดันไปโผล่ที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส. จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ นายพิจิตร รัตตกุล ส.ส. กรุงเทพมหานคร ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ นายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคประชาฮิปัตย์ ซึ่งบุคคลทั้งสองนี้เป็นบุคคลนอกสายตาแต่กลายเป็นม้ามืดอย่างน่าอัศจรรย์
เมื่อผลออกมาเช่นนี้แล้ว นายวีระ มุสิกพงศ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคมีความรู้สึกไม่พอใจอย่างแรงและได้ถาม นายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรค ซึ่งนายพิชัย ก็ทำหน้าแบบงงๆอยู่เหมือนกัน แต่ ส.ส. ที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ทางใต้บางคนบอกนายวีระว่า ชื่อของนายเด่นถูกเสนอชื่อให้นายกรัฐมนตรีตามมติพรรคแล้ว แต่ท่านนายกฯ ไม่สบายใจในตัวนายเด่น เพราะนายเด่นเป็นทายาทของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ผู้ที่ถูกดำเนินคดีข้อหากบฎแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกรงว่าจะเป็นอุปสรรคในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่บางครั้งจะต้องประชุมปัญหาลับด้านความมมั่นคง
แต่นายวีระยังไม่ปักใจเชื่อเท่าใดนัก ในฐานะลูกป๋าเปรมคนโปรด จึงได้ไปถามป๋าเปรมเป็นการส่วนตัว ความจึงแตกออกมา ป๋าเปรมตอบนายวีระว่า รายชื่อนายเด่นไม่ได้ถูกเสนอมาจากพรรคตั้งแต่ต้นแล้ว ป๋าไม่รู้เรื่องเลย
รอยบาดแผลเล็กๆ ที่เริ่มปรากฎในหัวใจของนายวีระและกลุ่มเอกภาพเริ่มแสดงอาการปวดขึ้นมาแบบเงียบๆ นายวีระรู้สึกเสียเกียรติและศักดิ์ศรีที่ถูกหลอกให้ตายใจในครั้งนี้ กลุ่มเอกภาพเองมีความรู้สึกอับอายประชาชนในพื้นที่เลือกตั้งเป็นอย่างมาก เพราะการปราศรัยบนเวทีต่อหน้าผู้มาฟังนับจำนวนหมื่นทุกครั้งที่ทางกลุ่มจัดปราศรัยนั้น นายวีระและผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ได้ปราศรัยตอกย้ำถึงคำมั่นสัญญาทุกครั้งว่า “หากกลุ่มเอกภาพใน 4 จังหวัดภาคใต้ได้ส.ส. 5 คน จะได้ตำแหน่งรัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง” อันเป็นที่คาดหวังสูงของประชาชนในพื้นที่และจัดได้ว่าเป็นถ้อยคำยอดฮิตและหมัดเด็ดที่กลุ่มเอกภาพได้รับคะแนนนิยมทวีสูงขึ้นเป็นลำดับจนถึงวันที่ประชาชนหย่อนบัตรในวันเลือกตั้งจนได้ ส.ส.ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในสังกัดถึง 5 คน
เมื่อสถานการณ์กลับตาลปัตรเป็นเช่นนี้ คลื่นใต้น้ำในพรรคประชาธิปัตย์เริ่มก่อหวอดกระเพื่อมอย่างเงียบๆ แต่มีแรงและน้ำหนักเพียงพอที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลป๋าเปรมไม่ใช่น้อย เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำหลักในรัฐบาลชุดนี้ ประจวบกับนายวีระเองอยู่ในสภาวะที่ชาละวันเตี้ยลง ถูกนายชัย ชิดชอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ ได้นำเทปการปราศรัยหาเสียงที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่นายวีระเปรียบเทียบตนเองอันเป็นลักษณะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปแจ้งความดำเนินคดีนายวีระต่อเจ้าพนักงานสอบสวนทำสำนวนคดีส่งให้อัยการฟ้องร้องต่อศาลและศาลจังหวัดบุรีรัมย์ พิพากษาลงโทษจำคุกนายวีระโดยไม่รอลงอาญา จึงต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายไสว พัฒโน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้ามารับตำแหน่งแทนในโควต้าของพรรคประชาธิปัตย์
ในส่วนสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้นประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน คอยทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนในเรื่องต่างๆ ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนสะท้อนปัญหาไปยังรัฐบาลแล้วก็ตาม แต่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่เป็นไปตามกรอบของกฎหมายยังปรากฎให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ดังเช่น กรณีสังหารยิง นายมะยีนุง มะเด็ง หรือ อุสตัสไซนุง จือแร หน้าบ้านตลาดรือเสาะ อ. รือเสาะ จ. นราธิวาส
นายมะยีนุง เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนนะห์ฏอตุลซูบาน โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ตั้งอยู่ในหมู่บ้านบือดอ ต. รือเสาะออก อ. รือเสาะ จ. นราธิวาส ในช่วงเวลาการชุมนุประท้วงใหญ่ของประชาชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หน้ามัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีกรณีเรียกร้องความเป็นธรรมแก่เหยื่อ 5 ศพ ที่สะพานกอตอ กลางเดือน ธันวาคม 2518 จนถึง ปลายเดือนมกราคม 2519 นั้น นายมะยีนุงมีบทบาทสำคัญบนเวทีปราศรัย เพราะเป็นนักพูดฝีปากกล้าเป็นที่นิยมชมชอบของประชาชนที่มาชุมนุม แน่นอนการแสดงบทบาทในที่โล่งแจ้งย่อมตกเป็นเป้าสายตาของบรรดาสายข่าวของเจ้าหน้าที่ทุกหน่วย
ภายหลังการชุมนุมประท้วงหน้ามัสยิดกลางปัตตานียุติลง นายมะยีนุงได้กลับที่บ้านเกิด แต่อยู่เพียงไม่กี่วันได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปด้อมๆ มองๆ ถามชาวบ้านในหมู่บ้านเกี่ยวกับตัวเขาบ่อยๆ จนเขารู้สึกหวาดกลัวเกรงไม่ได้รับความปลอดภัย จึงได้ออกจากหมู่บ้านไปอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านทางใต้อยู่หลายปี จนกระทั่งก่อนจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2529 ภายใต้โครงการฮารัปปันบารู (ความหวังใหม่) ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ ผู้บัญชาการทหารบก เขาได้กลับมาร่วมในโครงการ อยู่ได้ไม่นานนัก เมื่อเวลากลางคืนของวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2530 เขาถูกยิงหน้าบ้านขณะกำลังไขกุญแจประตูบ้านด้วยกระสุนปืนปริศนาหลายนัดจนวิญญานอหลุดอกจากร่างแน่นิ่งอยู่หน้าประตูบ้าน
อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยของจังหวัดนราธิวาส, ปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ และปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์