ธุรกิจดาวรุ่งและดาวร่วงในปี 59…สุขภาพ-ท่องเที่ยว ยังแรงดีไม่มีตก!!


เข้าสู่ปี2559 ภาพรวมของธุรกิจ ที่มีอัตราการขยายตัวสูง หรือธุรกิจ   ดาวรุ่ง ส่วนธุรกิจที่อยู่ในช่วงขาลง หรือธุรกิจดาวร่วง จนเป็นดาวดับ เป็นประเภทธุรกิจใดบ้างนั้น แต่ธุรกิจใดๆ จะประสบสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จ 
ก็ล้วนขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านภาวะเศรษฐกิจจากภายในประเทศและภายนอกประเทศทั้งสิ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นต่อภาพรวมเศรษฐกิจปี2559

เศรษฐกิจไทยในปี 2559 มีแนวโน้ม ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ในรายงานครั้งก่อนเล็กน้อย โดยแม้เศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว มีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าที่เคยประเมินไว้  แต่คาดว่าจะไม่สามารถชดเชยผลของอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอลงต่อการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนได้ทั้งหมด ในภาพรวม คณะกรรมการฯ จึงปรับลดประมาณการปี2559 จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ ร้อยละ 3.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.5

เศรษฐกิจไทยจึงมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากส่งออกที่คาดว่าจะชะลอลงมาก เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาด  อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายของภาครัฐ และการบริโภคภาคเอกชนยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากปี2558 ซึ่งจะสามารถช่วยชดเชยภาคการส่งออกที่ลดลงได้บางส่วน

ส่วนภาพรวมธุรกิจต่างๆ ในประเทศ ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ควรจะศึกษาข้อมูลข่าวสารที่ออกมาจากสื่อต่างๆ ว่าจะเป็นไปในทิศทางไหนบ้าง เพื่อที่ผู้ประกอบการเอง จะได้เตรียมความพร้อม หรือเตรียมตัวรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากปัจจุบันการทำธุรกิจค่อนข้างยากขึ้น จากปัญหาเศรษฐกิจโลก

ทริสเรทติ้ง ให้ความเห็นถึงอุตสาหกรรมกลุ่ม ที่มีแนวโน้มดีขึ้น มี 4 กลุ่ม ซึ่งได้แก่ โรงพยาบาลและบริการด้านสุขภาพ มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปัจจัยบวก และสัดส่วนประชาชนสูงวัยเพิ่มขึ้น รวมถึงความนิยมของต่างชาติเข้ามาใช้บริการมากขึ้น

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ก็เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโตที่ดีขึ้น เพราะกลุ่มลูกค้าต่างประเทศที่เข้าท่องเที่ยวในประเทศไทยเพื่อใช้บริการทั้งสองธุรกิจ นี้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจัยที่สนับสนุนการทำธุรกิจในปี 2559 มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง การขับเคลื่อนโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ และยังได้รับผลดีจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นจาก สถานการณ์การเมือง  ที่มีเสถียรภาพ และการพัฒนาโครงข่าย 4 จี

ขอบคุณภาพกราฟิกจาก www.posttoday.com
ขอบคุณภาพกราฟิกจาก www.posttoday.com

ทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  จัดอันดับธุรกิจด่าวรุ่งประจำปีลำดับที่ 1 คือด้านสุขภาพ ลำดับที่ 4 คือ การท่องเที่ยว

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลสำรวจธุรกิจดาวรุ่ง/ดาวร่วงว่า ในปี2559 นักธุรกิจและผู้บริโภคได้ประเมินว่า ธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบด้วยธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ, โรงแรมราคาประหยัด โฮมสเตย์, สายการบินต้นทุนต่ำ, ร้านขายอุปกรณ์กีฬาออนไลน์, การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์, การสอนภาษาอังกฤษ, จักรยานและอุปกรณ์, การดูแลสุขภาพ, แอพพลิเคชั่นบนมือถือ  และการขนส่งระยะสั้นๆ อย่างบีทีเอสและเอ็มอาร์ที

ส่วนธุรกิจที่มีแนวโน้มเป็นดาวร่วง คือ รถทัวร์/รถไฟ, ร้านกาแฟสด, ร้านบุฟเฟต์, ร้านอินเทอร์เน็ท ,ร้านเสื้อผ้าแฟชั่นราคาถูก, ร้านโชว์ห่วย, อาหารทะเลแปรรูป, 
สายการบินทั่วไป, ร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ และร้านโทรศัพท์มือถือมือสอง

การพยากรณ์ภาพรวมของธุรกิจของหลายสำนัก มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ธุรกิจสุขภาพ และธุรกิจการท่องเที่ยวมาแรงเป็นลำดับหนึ่ง ซึ่งประเทศไทย ถือว่ามีศักยภาพได้รับความนิยมจากลูกค้าต่างประเทศในด้านสุขภาพและการท่องเที่ยว แต่เป็นเพราะปัจจัยภายนอกประเทศที่ยังไม่ค่อยดีนัก เป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก เราจึงไม่สามารถคาดหวังได้ว่า ธุรกิจสุขภาพและธุรกิจท่องเที่ยวจะช่วยทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศดีขึ้นจากธุรกิจมาแรงทั้งสองธุรกิจนี้

แต่ปัจจัยภายในประเทศ เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ง่ายกว่าปัจจัยภายนอกประเทศ  ที่ยังไม่ค่อยดีนัก และเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก แต่ปัจจัยภายในประเทศควบคุมโดยรัฐบาลซึ่งเป็นผู้บริหารประเทศซึ่งทำได้ง่ายกว่า และเป็นที่ชัดเจนว่า รัฐบาลจะใช้การลงทุนในประเทศเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ

ดังนั้น เป็นไปได้ว่า ถ้าผู้ประกอบการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมทั้งการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศในด้านต่างๆ ผู้ประกอบการธุรกิจนั้นก็จะได้รับผลประโยชน์ไปด้วยเช่นกัน ดั่งคำพูดที่ว่า
             “วิกฤติของอีกคน แต่อาจจะเป็นโอกาสของอีกคนก็ได้”

 


ข้อมูลอ้างอิง
- หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
- ธนาคารแห่งประเทศไทย
- ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย
รูปภาพ