นโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” กับอนาคตมุสลิมในจีน ตอนที่ 1

เส้นทางสายไหมทางบกและทะเล

เดือนกรกฎาคม ปี 2013 ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนได้กล่าวปราศรัย ณ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของประเทศคาซัสถานว่า “ เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ ของกลุ่มประเทศต่างๆ  และเพื่อการพัฒนาอย่างไร้รอบเขต พวกเราสามารถสร้างความร่วมมือแบบใหม่ บนพื้นฐานเส้นทางสายไหมโบราณ” ขณะเดียวกันเดือนธันวาคมในปีเดียวกัน ท่านประธานาธิบดีได้กล่าวปราศรัยที่อินโดนีเซียว่า “ประเทศจีนมีความประสงค์ที่จะร่วมมือทางทะเลกับกลุ่มประเทศอาเซียน จะเป็นการใช้กองทุนที่รัฐบาลจีนและกลุ่มประเทศอาเซียนจัดตั้ง พัฒนาความสัมพันธ์ทางด้านทะเล เพื่อร่วมมือกันสรรสร้างเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21   ” และในเดือนพฤษภาคม 2014 ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้กล่าวในที่ประชุมเวทีหารือด้านความมั่นคงในเอเชีย(CICA)ว่า“จีนจะสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ภายใต้การพัฒนาเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 จะรีบผลักดันให้มีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างชัดเจนขึ้น ”

การดำเนินงานตามเจตนารมณ์ของประธานาธิบดีจีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว นโยบาย“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”( One Belt One Road)จึงเป็นที่ประจักษ์ของสังคมโลก นโยบายดังกล่าวจึงเป็นนโยบายที่เชื่อมต่อสามทวีปคือเอเชีย ยุโรปและแอฟริกา ด้านหนึ่งคือเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกที่ดูมีชีวิตชีวา ด้านหนึ่งคือเศรษฐกิจยุโรปที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่อยู่ส่วนกลางของทั้งสองนั้น เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาค่อนข้างมาก ทางผ่านของเส้นทางสายไหมนั้นเชื่อมต่อระหว่างจีนกับเอเซียกลาง เอเซียตะวันตกจนกระทั่งถึงอ่าวเปอร์เซีย ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และจีนถึงเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้และมหาสมุทรอินเดีย เส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 จึงเป็นเส้นทางสายไหมที่เชื่อมต่อระหว่างจีนและทะเลจีนใต้ถึงมหาสมุทรอินเดียถึงยุโรป จากทะเลในจีนผ่านทะเลจีนใต้ จนกระทั้งถึงภูมิภาคของแปซิฟิกใต้

“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”ทางบกได้อาศัยเส้นทางนานาชาติ โดยใช้เมืองสำคัญๆ ทางด้านเศรษฐกิจเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ เพื่อสรรสร้างสะพานมิตรภาพเอเชียและยุโรป  จีน-มองโกล-รัสเซีย  จีนและกลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ในคาบสมุทรอินโดจีน

กล่าวแบบง่ายๆ คือ นโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”เป็นนโยบายที่พลิกฟื้นเส้นทางสายไหมโบราณ ในรูปแบบของการเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจนั่นเอง

เราควรทำความเข้าใจเส้นทางสายไหมในอดีต เพื่อจะได้รู้ที่ไปที่มาของนโยบายของ“ มังกรหลากสี”ตัวนี้ อย่างที่ทราบกันว่าเส้นทางสายไหมของจีนนั้น ประกอบด้วยเส้นทางสายไหมทางบกและเส้นทางสายไหมทางทะเล

เส้นทางสายไหมทางบกคือเส้นทางเศรษฐกิจที่เชื่อมระหว่างประเทศจีนและยุโรป เริ่มในช่วงศตวรรษที่1-2 เส้นทางมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลาจนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 16 เป็นเส้นทางที่กระชับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจการเมือง วัฒนธรรม ของโลกตะวันตกและโลกตะวันออก โดยเริ่มจากฮ่องเต้สมัยราชวงค์ฮั่นของจีนที่ชื่อว่าฮั่นหวู่ตี้ได้ส่งขุนนางที่ชื่อว่าจางเชียนมุ่งไปแสวงหาความร่วมมือทางด้านตะวันตก  โดยเริ่มจากเมืองซีอานสมัยราชวงค์ฮั่นตะวันตก จนกระทั่งถึงถ้ำตุนหวง มณฑลกานซูจนกระทั่งถึงกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ราวปี 1870 นักภูมิศาสตร์ชาวเยอรมันที่ชื่อ Ferdinand Freiherr von Richthofen ได้ตั้งชื่อเส้นทางดังกล่าวว่า“เส้นทางสายไหม”

เส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road ) เป็นเส้นทางที่เชื่อมการค้าและวัฒนธรรมของจีนและต่างประเทศ เส้นทางดังกล่าวมีศูนย์กลางอยู่ที่ทะเลใต้ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่าเส้นทางสายไหมทะเลจีนใต้ เส้นทางดังกล่าวกำเนิดในช่วงราชวงค์ฉินฮั่น ช่วงสามก๊กถึงราชวงค์สุยเป็นช่วงพัฒนา สมัยราชวงค์ถังซ่งเป็นช่วงเฟื่องฟู

ช่วงเดือนมิถุนายน ปีค.ศ. 2014 ประเทศจีน คาซัสถาน เคอร์จิสถานทั้งสามประเทศได้ร่วมยื่นขอเส้นทางสายไหมทางบก ( ส่วนตะวันออก ) เป็นมรดกทางด้านวัฒนธรรมของโลก กลายเป็นเจ้าแรกที่ยื่นขอมรดกโลกพร้อมกันสามประเทศ

ความเฟื่องฟูในสมัยราชวงค์สุยและราชวงค์ถัง เป็นการขยายความสัมพันธ์ของส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเล มีสินค้าบางอย่างที่ไม่เคยพบเห็นในจีนก็มีโอกาศได้พบเจอเช่น หินโมราที่ออกมาในรูปแบบของเครื่องประดับ และยังมีการรับคัมภีร์ตำราที่เกี่ยวข้องกับทางด้านศาสนา รวมทั้งสิ่งที่แปลกๆ ที่ไม่เคยพบในจีน การไปมาหาสู่กันลักษณะดังกล่าว ทำให้การค้าบริเวณภาคกลางของจีนมีความสัมพันธ์กับตะวันตกแน่นแฟ้นมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลของราชวงค์ถังได้ดำเนินการสร้างคลองขุดระหว่างภาคกลางและภาคใต้ของจีน  ทำให้สินค้าต่างๆ ของทางใต้เป็นที่รู้จักและต้องการของชาวตะวันตกมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นผ้าไหม เครื่องปั้นดินเผา ใบชาเป็นต้น ล้วนแต่เป็นสินค้าที่ส่งจากเมืองทางใต้ถึงลั่วหยางหรือไม่ก็เมืองซีอาน  ในช่วงราชวงค์ถัง นอกจากความสัมพันธ์ของจีนกับตะวันตกแล้ว ยังส่งผลให้ตะวันตกมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศญี่ปุ่นด้วย การสร้างความสัมพันธ์ของจีนและตะวันตกนั้น มิใช่ความสัมพันธ์ในระดับสูงเท่านั้น นานวันเข้าแม้แต่ประชาชนของทั้งสองฝ่ายก็มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้น

ความเฟื่องฟูของเส้นทางสายไหมนั้นมิใช่ความเฟื่องฟูเพียงแค่ทางบกหรือทางน้ำเพียงเท่านั้น แต่เป็นความครึกครื้นทั้งสองเส้นทาง ดินแดนตะวันออกกลาง จักรวรรดิโรมันตะวันออกก็มีความสัมพันธ์กับเมืองฉางอันของประเทศจีน ด้านเส้นทางสายไหมทางทะเลก็เช่นกันมีเรือเชื่อมระหว่างจีนกับเวียดนาม กัมพูชา เกาะชวา พม่า อินเดียถึงตะวันออกกลางและเมืองฉวนโจว(มณฑลฮกเกี้ยน) กว่างโจว(มณพลกวางตุ้ง) และท่าเรือในเซี่ยงไฮ้ จึงกลายเป็นท่าเรือที่สำคัญ ตามการบันทึกในตำราประวัติศาสตร์ว่า ในแต่ละวันจะมีเรือจากนครแบกแดดเข้ามาเทียบฝั่ง

จวบจนสมัยราชวงค์หยวน การค้าของจีนกับตะวันตกก็ยังคงคึกคัก ชาวตะวันส่วนมากจะนำสินค้าจำพวกเงิน ทอง อัญมณี เครื่องเทศ สัตว์แปลกต่างๆ เป็นต้นมาจำหน่ายที่จีน ส่วนสินค้าออกของจีนที่จะส่งออกนั้น ประกอบด้วย ผ้าต่วน ผ้าไหม ใบชา เครื่องปั้นดินเผา  ยารักษาโรคเป็นต้น แม้ว่าเส้นทางจะยาวไกล ด้วยลักษณะทางด้านภูมิศาสตร์แตกต่างกันและระหว่างทางจะพบกับอุปสรรค์ต่างๆ เช่นการปล้นสะดม คาราวานชุดหนึ่งจะต้องมีจำนวนไม่ต่ำกว่าสิบคน กระนั้นก็ตามการจากบันทึกของมาร์โค โปโล นักเดินทางชาวอิตาเลียน ซึ่งถือว่าเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เดินทางข้ามทวีปเอเชียและเขียนบันทึกการเดินทางถึงสิ่งที่ได้พบได้ยินเอาไว้ในหนังสือที่ชื่อ The Travels of Marco Polo ว่า “เมืองหลวงของราชวงค์หยวนนั้นมีพ่อค้ามากมาย  มีโรงเตี้ยมรูปแบบต่างๆ  ลูกค้าที่พักประกอบด้วยหลากหลายชนชาติ ” และยังระบุว่า “ ของที่มีค่าต่างๆในโลกนี้ สามารถหาซื้อได้ที่เมืองดังกล่าว ปริมาณที่ขายในเมืองนี้ มีมากกว่าเมืองอื่นๆ อีกด้วย”

จักเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ทางด้านเส้นทางสายไหมทางบกหรือทางทะเล สิ่งที่เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของชาวโลกคือความสัมพันธ์ที่จีนมีต่อประเทศต่างๆ  ตามภูมิภาคต่างๆ ในเอเซีย ยุโรปและแอฟริกา เป็นข้อเท็จจริงที่ปฎิเสธไม่ได้ แม้ว่าในช่วงยุคใกล้มีปัจจัยที่ทำให้ความสัมพันธ์ทางเส้นทางสายไหมขาดช่วงไป แต่การพลิกฟื้นในรูปแบบ“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ” น่าจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นอีกครั้ง

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
http://baike.baidu.comhttp://baike.baidu.com/link?url=TzkBkt–QHIQQwdVBZ0_TwbG-j5uM2nt0305HeTkFlzVJXuQ995K5qmjWmZkZX_Z9mm4r61gdyLvXXUn2L_M9_
http://www.manager.co.th/China/viewnews.aspx?NewsID=9510000002432&Page=ALL