รอยเตอร์ – ทีมเจรจาวันนอร์ที่ได้พูดคุยโดยตรงกับกลุ่มฮามาส กล่าวว่า ความพยายามของกลุ่มของตนเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ประกันได้ว่าตัวประกันชาวไทยในฉนวนกาซาเป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับการปล่อยตัว เมื่อมีการหยุดยิงชั่วคราวระหว่างฮามาสกับอิสราเอล
“เราเป็นฝ่ายเดียวที่พูดคุยกับกลุ่มฮามาสตั้งแต่เริ่มสงครามเพื่อขอให้ปล่อยตัวชาวไทย” เลอพงษ์ ซาร์ยีด นายกสมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน กล่าวกับรอยเตอร์เมื่อวันจันทร์ (27 พ.ย.)
คนไทยอีก 3 คนที่กลุ่มติดอาวุธฮามาสควบคุมตัวได้รับการปล่อยตัวจากฉนวนกาซาแล้วเมื่อวันอาทิตย์ (26 พ.ย.) ทำให้จำนวนคนไทยที่ได้รับการปล่อยตัวรวมเป็น 17 รายนับตั้งแต่การสงบศึก 4 วันที่เริ่มเมื่อวันศุกร์
เลอพงษ์เป็นส่วนหนึ่งของคณะชาวไทยมุสลิมที่จัดตั้งขึ้นโดยประธานรัฐสภาของไทย วันมูหะมัดนอร์ มาทา ซึ่งเดินทางไปเตหะรานในเดือนตุลาคม และพูดคุยโดยตรงกับตัวแทนของกลุ่มฮามาส แม้จะไม่ใช่การเจรจาอย่างเป็นทางการ แต่การเจรจาคู่ขนานนี้ก็ไม่ได้ถูกคัดค้านจากรัฐบาลไทย
“ถ้าประเทศไทยพึ่งกระทรวงการต่างประเทศหรือขอความช่วยเหลือจากประเทศอื่นเพียงอย่างเดียว โอกาสที่จะได้รับการปล่อยตัวพร้อมกับกลุ่มแรกคงน้อยมาก” เลอพงษ์กล่าวพร้อมเสริมว่า ประเทศอื่นๆ ที่มีตัวประกัน เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และฝรั่งเศส มีอิทธิพลมากกว่า
รอยเตอร์ยังไม่สามารถติดต่อกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ในตอนนี้เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับอ้างเครดิตของเลอพงษ์ แต่ในการโพสต์บนทวิตเตอร์ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสำหรับการปล่อยตัวครั้งนี้
“ขอแสดงความยินดีกับทุกคนและขอขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อทุกฝ่าย สำหรับความพยายามทั้งหมดเพื่อให้เกิดการปล่อยตัว เรายังคงเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวคนไทยที่เหลือที่ยังคงเป็นตัวประกัน” โพสต์ของรัฐมนตรีต่างประเทศกล่าว
เลอพงษ์กล่าวว่า กลุ่มเจรจาไทย-อิหร่านได้แจ้งไปยังกลุ่มฮามาสระหว่างการประชุมสามชั่วโมงเมื่อเดือนที่แล้วว่า คนไทยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งและควรได้รับอิสรภาพ หลังจากนั้นกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ให้คำมั่นว่าคนไทยจะได้รับการปล่อยตัวก่อนโดยไม่มีเงื่อนไขเมื่อมีการหยุดยิง
การพักรบชั่วคราวครั้งแรกนี้ได้หยุดการสู้รบในรอบ 7 สัปดาห์นับตั้งแต่กลุ่มฮามาสสังหารผู้คนไป 1,200 ราย และจับตัวประกันประมาณ 240 คนกลับเข้าไปในฉนวนกาซา
ก่อนสงคราม แรงงานไทยประมาณ 30,000 คนทำงานในภาคเกษตรกรรมของอิสราเอล ซึ่งถือเป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งในประเทศนี้
“ทีมของเรามาถูกจุดแล้วตั้งแต่ต้น โดยไปที่อิหร่านและพูดคุยกับกลุ่มฮามาสโดยตรง” อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ นักการเมืองผู้มีประสบการณ์หนึ่งในคณะเจรจาชุดนี้กล่าว
อย่างไรก็ตาม มีแหล่งข่าวอื่นที่สรุปเกี่ยวกับการเจรจานี้ว่า ข้อตกลงปล่อยตัวประกันนี้ได้รับการไกล่เกลี่ยโดยกาตาร์และอียิปต์ ในเส้นทางการเจรจาที่เปิดขึ้นเมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยเยือนกาตาร์เมื่อวันที่ 31 ต.ค.
อิหร่านก็เช่นเดียวกันที่กล่าวว่า ตนเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการปล่อยตัวครั้งนี้ ในขณะที่กลุ่มฮามาสกล่าวว่าการปล่อยตัวดังกล่าวเกิดจากความพยายามของประธานาธิบดี ตอยยิป แอร์โดอัน ของตุรกี
เมื่อถูกถามเกี่ยวกับข้อกล่าวอ้างของอิหร่าน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทยกล่าวเมื่อวันเสาร์ว่า “เราได้จัดทำรายชื่อให้กับทุกคนตั้งแต่แรก” รวมถึงกาตาร์ อียิปต์ อิสราเอล และอิหร่าน” และเสริมว่า “ตัวแสดงที่แตกต่างกันย่อมมีอิทธิพลต่อกลุ่มฮามาสแตกต่างกัน”
ประชากรของประเทศไทยจำนวน 70 ล้านคนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ และส่วนใหญ่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขกับชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม แม้ว่าการก่อความไม่สงบเพื่อแบ่งแยกดินแดนที่ดำเนินมายาวนานในภาคใต้จะลุกลามไปสู่ความรุนแรงเป็นระยะๆ