เมื่อวันศุกร์ที่ 22 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “จากไอซิส สู่วิกฤตการณ์ อิหร่าน-ซาอุดิอาระเบีย กับ ระเบียบโลกใหม่” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีองค์ความรู้ และมีมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย รวมทั้งสิ้น 4 ท่าน ประกอบด้วย ท่านกษิต ภิรมย์, ดร.ศราวุฒิ อารีย์, พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์, อ.เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ และมีผม (อาทิตย์ ทองอินทร์) เป็นผู้ดำเนินรายการ สรุปภาพรวมของประเด็นที่ปรากฏในเวทีสัมมนาได้ ดังนี้ครับ:
ปัจจุบัน สภาวะไร้เสถียรภาพของโลกขมวดปมปัญหาอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ของความขัดแย้งอันยุ่งเหยิงพัลวัน ไอซิสที่โดยนัยต่อระเบียบโลกแล้ว คือ ขบวนการเคลื่อนไหวที่พยายามล้มล้างอย่างถอนรากต่อระเบียบโลกในยุคอาณานิคม คือ เส้นเขตแดนที่เขตแบ่งเป็นประเทศในทุกวันนี้โดยอดีตเจ้าอาณานิคมหลักในพื้นที่ คือ อังกฤษและฝรั่งเศส รวมทั้งล้มล้างอย่างถอนรากต่อระเบียบโลกปัจจุบัน คือ ระบอบการเมืองและเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ขณะที่ภาพดังกล่าวถูกเสริมความแตกแยกรุนแรงเข้าด้วยเกมการเมืองระหว่างมหาอำนาจทั้งระดับภูมิภาค ที่มีคู่ขัดแย้งหลักได้แก่ ซาอุดิอาระเบียกับอิหร่าน และระดับโลก คือ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซีย ทั้งนี้ รากสาเหตุสำคัญของความยุ่งเหยิงในภูมิภาคตะวันออกกลางทุกวันนี้ มีหลายระดับด้วยกัน ที่สำคัญคือ
(1) การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจนำทางความคิดระหว่างชุดอุดมการณ์ต่างๆ ทั้งชาตินิยมอาหรับซึ่งถือคติการเมืองแบบโลกียวิสัย (secularism) กับอิสลามการเมือง ลัทธิจักรวรรดินิยมใหม่กับลัทธิก่อการร้ายสากล และแม้ความขัดแย้งระหว่างสุหนี่กับชีอะฮฺจะเป็นหนึ่งในนั้น แต่พบว่าระยะหลังความแตกแยกอันนำไปสู่ความรุนแรงระหว่างสองสำนักคิดดังกล่าวได้ขยายใหญ่ขึ้นจากการที่ฝ่ายการเมืองใช้ปัญหานี้เป็นเครื่องมือต่อสู้ แย่งชิงอิทธิพลความเป็นผู้นำและขยายผลเพื่อใช้ประโยชน์ทางการเมือง
(2) ผลพวงจากอาหรับสปริงนำไปสู่สภาวะไร้ระเบียบและไร้เสถียรภาพภายในประเทศต่างๆ ซึ่งหลายประเทศยกระดับความโกลาหลไปจนเป็นสงครามกลางเมือง ตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เมื่อใดที่ประเทศ/อาณาจักรบริเวณนี้มีความอ่อนแอ หรือล้มเหลว (weak state & failed state) ก็จะถูกใช้เป็นสนามแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจโดยรอบเสมอ ซึ่งหลายครั้งปรากฏแบบแผนออกมาในรูปของสงครามตัวแทน (proxy war) และในปัจจุบัน สภาพของ ‘สุญญากาศทางอำนาจ’ ดังกล่าว ยังเปิดช่องต่อการแทรกเข้ามาเล่นบทบาทของเซลล์ก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ อีกด้วย ไม่ใช่เพียงเฉพาะไอซิส
(3) บทบาทของมหาอำนาจภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกา ซึ่งขมวดปัญหาอันตีบตันต่อการหาทางออกไว้ในหลายเรื่อง เช่น การสนับสนุนรัฐอิสราเอลที่จัดตั้งขึ้นมาอันเท่ากับเป็นการดึงตัวเองเข้ามายืนอยู่กลางความขัดแย้งโดยอัตโนมัติ การปรับดุลยภาพระหว่างความร่วมมือและการแข่งขันกันในภูมิภาคกับมหาอำนาจภายนอกรายอื่น ซึ่งตัวแสดงที่สำคัญในขณะนี้คือ รัสเซีย และการรักษาอิทธิพล/ผลประโยชน์เหนือแหล่งน้ำมันในภูมิภาคเอาไว้ โดยในปัจจุบันแม้สหรัฐฯ จะยังคงยึดเอาซาอุดิอาระเบียเป็นแหล่งส่งน้ำมันรายใหญ่ แต่สหรัฐฯ ก็พึ่งพาน้ำมันในตะวันออกกลางน้อยลง จึงมีแนวโน้มลดบทบาทในภูมิภาคนี้ลงและส่งผลให้ประเทศรอบอ่าวที่เป็นพันธมิตรมีท่าทีจะอ่อนแอลงและโดดเดี่ยวขึ้นในการจะต่อสู้กับไอซิส ตลอดจนกลุ่มก่อการร้ายอื่น
(4) ปัจจัยสาเหตุที่ผลักดันให้คนจำนวนไม่น้อยเข้าร่วมกับไอซิสนั้น นักรบที่มาจากแต่ละภูมิภาคก็มีเงื่อนไขจูงใจไม่เหมือนกัน กล่าวอย่างสังเขปคือ ในตะวันออกกลาง ปัจจัยสาเหตุอาจเป็นเรื่องของกระบวนการสร้างรัฐสมัยใหม่ที่ล้มเหลวและทำให้ระบอบการเมืองติดกับดักอยู่แค่ระบอบอันมีผู้นำแบบอำนาจนิยมที่กดขี่ประชาชนของตนเอง โดยไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้สำเร็จเหมือนโมเดลตะวันตกที่นำมาเป็นต้นแบบแต่แรกก่อตั้งประเทศ ส่วนในยุโรป พบว่า เยาวชนรุ่นใหม่ที่พ่อแม่อพยพมาจากอาหรับและแอฟริกาเหนือ พวกเขาจำนวนมากเกิดในยุโรปและมีสถานะเป็นพลเมืองของรัฐในยุโรปโดยสมบูรณ์ แต่ไม่ถูกบูรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชาติและสังคมใหญ่ และสำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักรบที่เดินทางจากภูมิลำเนาแถบนี้ไปร่วมกับไอซิสส่วนหนึ่งเชื่อในสัญญาณของวันกิยามะฮฺ (วันสิ้นโลก) และเห็นสัญญาณดังกล่าวจากสิ่งที่ไอซิสสื่อออกมา รวมทั้งถูกเสริมแรงด้วยกระแสแนวคิดต่อต้านเกลียดชังชีอะฮฺอย่างสุดโต่ง ดังนั้น จะเห็นว่า โจทย์ของแต่ละพื้นที่ในเรื่องนี้ก็มีปัจจัยสาเหตุและทางออกที่แตกต่างกันออกไป
ทั้งนี้ ในความกังวลความเชื่อมโยงระหว่างไอซิสกับกลุ่มแนวคิดสุดโต่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น พบว่า ไอซิสเองไม่ได้มองมุสลิมทั้งหมดว่าเท่าเทียมกัน พวกเขาให้การยอมรับมุสลิมอาหรับมากกว่าเอเชียส่วนที่เหลือ และสนับสนุนเบี้ยเงินรายเดือนให้กับชาวตะวันตกที่เปลี่ยนศาสนามารับอิสลามมากกว่ากลุ่มอื่น ขณะเดียวกันนักรบจากเอเชียส่วนที่ไม่ได้มาจากตะวันออกกลางก็มักได้รับหน้าที่ชั้นรองในกลุ่ม เช่น การเตรียมเสบียงอาหารหรืองานธุรการเสียมากกว่า สภาวการณ์เช่นนี้ผลักให้นักรบเหล่านั้นเดินทางกลับบ้านตนเองไปในจำนวนมาก “โดยไม่ได้นำอุดมการณ์แบบไอซิสติดกลับไปบ้านด้วย” ดังนั้น แบบแผนที่น่าวิตกสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงไม่ได้อยู่ที่ “นักรบต่างชาติที่กลับบ้าน” หากแต่เป็น (1) เซลล์ก่อการร้ายระดับท้องถิ่นที่ติดต่อสื่อสารกับไอซิสที่ซีเรีย-อิรักผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์ และเสนอแผนงาน/โครงการก่อวินาศกรรมไปขอรับการสนับสนุนทางการเงินและอาวุธจากไอซิสมากกว่า กับ (2) การประกาศสวามิภักดิ์ต่อไอซิสโดยกลุ่มอาบูไซยาฟ เพราะเป็นกลุ่มที่ครองอำนาจ/อิทธิพล และมีศักยภาพปฏิบัติการสูงที่สุดแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในปัจจุบัน
สำหรับแนวโน้มในอนาคต ปัญหาไอซิสและความยุ่งเหยิงในตะวันออกกลางจะยังคงยืดเยื้อออกไปอีกนานเนื่องจากปัญหามีลักษณะของความขัดแย้งและปะทะกันในหลากหลายประเด็นที่พันกันอยู่อย่างสลับซับซ้อน เช่น เรื่องชาติพันธุ์ สุหนี่-ชีอะฮฺ ข้อถกเถียงเกี่ยวกับเป้าหมายปลายทางของอาหรับสปริงในแต่ละประเทศซึ่งขัดแย้งกันอยู่สามชุดแนวคิดหลัก คือ ระบอบการเมืองแบบโลกียวิสัย ระบอบคอลีฟะฮฺแบบไอซิส และระบอบอิสลามการเมืองในระดับความเข้มข้นต่างๆ ส่วนประเด็นที่วิทยากรในเวทีสัมมนานี้เห็นว่าพอจะเป็นข้อเสนอแนะและทางออกต่อปัญหามีอยู่ทั้งสิ้น 3 ข้อด้วยกัน คือ
(1) ภูมิภาคตะวันออกกลางกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระเบียบใหม่ซึ่งจะต้องถูกขับเคลื่อนโดย “กลไกแก้ไขกันเองภายใน” เป็นหลัก โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างเสถียรภาพขึ้นในภูมิภาคบนฐานของการตระหนักว่าระบอบอำนาจนิยมแบบช่วงก่อนหน้าที่กดทับประชาชนนั้นไม่สามารถใช้การได้อีกต่อไปแล้ว ขณะที่ “ความขัดแย้งระหว่างสุหนี่กับชีอะฮฺจะต้องไม่ถูกนำไปขยายผลเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายใด”
(2) กลไกของหน่วยข่าวกรองประเทศต่างๆ จะต้องร่วมมือกันเพื่อจำกัดเสรีปฏิบัติของกลุ่มไอซิส ทั้งในเรื่องการตัดเส้นทางทางการเงิน การขจัดแหล่งที่มาของเงิน เครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติที่สนับสนุนปฏิบัติการของพวกเขา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐมหาอำนาจภายนอกจะต้องเลิกส่งอาวุธและสนับสนุนสงครามทั้งระหว่างและภายในประเทศต่างๆ ในภูมิภาค
(3) บทบาทของผู้นำระดับต่างๆ ผู้นำทางการเมืองและศาสนาทุกศาสนาต้องร่วมมือกันประกาศให้ชัดเจนยิ่งขึ้นถึงหลักการของศาสนาและค่านิยมทางการเมืองอันว่าด้วยสันติภาพและความอดทนอดกลั้น รวมทั้งส่งสัญญาณให้บ่อยครั้งขึ้นถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย ขณะเดียวกัน เลขาธิการสหประชาชาติควรแสดงบทบาทเป็นผู้นำในการจัดตั้งกลไกกลางระหว่างตัวแสดงต่างๆ ที่จะร่วมกันฟื้นคืนสันติภาพ จัดระเบียบ และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในตะวันออกลางและในโลก มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาควรแสดงบทบาทนำในกรอบดังกล่าวอย่างจริงจัง และอาจต้องเปิดพื้นที่ให้กับความเป็นไปได้ให้กับโลกอาหรับหากพวกเขาจะพิจารณาทบทวนเส้นเขตแดนกันใหม่ โดยใช้กลไกของสหประชาชาติเป็นตัวกลาง
——————————————
อาทิตย์ ทองอินทร์ สรุปและเรียบเรียง
ผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช