ผ่านพ้นแต่ละเดือนไม่ง่ายเลย สำหรับ รัฐนาวา “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่มีความหนักแน่นเกี่ยวกับ “โรดแม็ป” ที่เป็นไปตามปมเงื่อนเวลา ซึ่งได้ลั่นวาจาไว้ แต่เมื่อประมวลผลจากเหตุการณ์ที่ผ่านๆ มา ก็อาจสัมผัสได้ว่า มีสัญญาณของความร้อนแรง ที่มาพร้อมๆ กับ “ลมหนาวแบบพิเศษ” ที่กำลังกลายเป็นชนวนสร้างความหวั่นวิตกอยู่ไม่ใช่น้อย สำหรับสถานการณ์การเมืองที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่ปีที่ 2 หลังการรัฐประหาร โดยคสช.
โดยเริ่มต้นจาก แรงกระเพื่อนกรณีแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ เมื่อมติที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ร่วมกันดันหนุน พระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ขึ้นเป็น พระสังฆราชองค์ต่อไป ท่ามกลางกระแสคัดค้าน ที่มาพร้อมๆ กับการรื้อขุดเอาสารพัดข้อสังเกต พร้อมระดมเข้าไปตรวจสอบ
เมื่อ “เผือกร้อน” รายชื่อของ ว่าที่สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ถึงมือ “สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เตรียมเสนอให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาก่อนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
จุดชนวน หนุน – ต้าน และปลุกความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่าง ธรรมยุติ และ มหานิกาย บนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของว่าที่พระสังฆราชองค์ใหม่ กับ วัดพระธรรมกาย ที่ปลุกเร้าให้ขาประจำอย่าง “พุทธอิสระ” และ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ที่ถึงจะช้ำ จะเล่นบทซ้ำๆ ไม่ยอมเปลี่ยนคน แต่ก็ยังสร้างสีสันออกมาสร้างแนวต้านแรงๆ หักดิบหักด่านกับอีกฟากจากฝ่ายหนุน ที่มีกำลังธรรมจักร+จานบิน ด้วยจำนวนพระสงฆ์และ ลูกศิษย์ที่พร้อมจะเข้ากรุงหนุน “สมเด็จช่วง” อีกนับแสน กลายเป็นปมเขย่าความปรองดอง ลามถึงเป็นปมร้อนเขย่าการเมือง
และเป็นปมนี้เองที่ทำให้รัฐบาลหนักใจเอาการ เพราะมีต่ออนาคตในหลายมิติ !!
จากปมกรณี แต่งตั้ง พระสังฆราช องค์ที่ 20 ก็ยังวนอยู่กับ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย” ที่กลายเป็นอีกปมร้อนสวนทางกับชื่อประธานร่างที่ชื่อ “มีชัย” เมื่อหลากหลายมาตราไปเตะใจนักการเมืองทั้งสองพรรคใหญ่ ขั้วอำนาจเก่าในอดีต ร่ำๆ กันไปถึงขู่ “คว่ำร่าง” บีบให้รัฐบาล “เหาะเหินเกินลงกา” เพราะหากเป็นเช่นนั่นหมายความถึง “โรดแม็ป” ที่วางไว้ อาจไม่เป็นดังคาดหมาย
และบีบให้ต้องเลือกแนวทางของการ “ปัดฝุ่น” เอารธน.เก่าๆ มาปรับแก้และใช้สำหรับการเลือกตั้ง เพื่อให้โรดแม็ป “ลงตัว”
แม้หลายฝ่ายจะวิพากษ์วิจารณ์ ถึง “การต่ออายุรัฐบาลออกไป” ซึ่งดูจะมองการเมืองแบบง่ายเกินไป เพราะนั่นก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ปรารถนานัก เพราะเห็นอยู่ว่า การลากยาวเกินโรดแม็ป จะกลายเป็นปมปัญหาที่แก้ยากในทุกๆ เรื่อง และลำบากมากยิ่งขึ้นกับการหา “บันได” ทางลงที่ “สง่างาม”
ปมนี้ที่เชื่อว่า “รัฐบาล” น่าจะชั่งน้ำหนักไว้แล้ว ในมุมของ “โรดแม็ป” และ “อยู่ยาว” ผลออกมาต่างกันอย่างไร?
ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่อาจไม่เหนือความคาดหมาย เมื่ออาจจะมีการนัดคว่ำร่างรธน.ฉบับนี้ โดยพลพรรคอำนาจเก่า และ มีแนวร่วมจากคนกันเอง ในซีกของพรรคการเมืองเก่าแก่ ที่ยังแทงกั๊กสงวนท่าที แต่หากปล่อยให้เกิดกรณีนี้ ที่จะส่งผลให้ “ร่างรธน.ฉบับมีชัย” มีอันเป็นไปเหมือนกับ “ร่างรธน.ฉบับบวรศักดิ์” ภาพของผลกระทบ ต่อเสถียรภาพของรัฐบาล น่าจะมีความร้ายแรงกว่า เพราะ “โรดแม็ป” และความน่าเชื่อถือของรัฐบาล จะตกไปอยู่ในสถานการณ์ “สุดซอย” จนอาจต้อง “เหาะเหินเกินลงกา” เผชิญกับสารพัดปัญหาที่หนักหน่วงกว่าเดิมหลายเท่า
นี่ ยังไม่รวมถึงภาพ “ป่วน” ที่เผลอเป็นไม่ได้ ทั้ง “กรณีจ่านิว” กรณี “ขั้วอำนาจเก่า” ที่รอช่องจ้องกระแซะเครดิตรัฐบาล ที่แม้ไม่ใช่ปัจจัยหลักกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐบาล
แต่ ต้องยอมรับว่า “มีผลในเชิงจิตวิทยาในระดับหนึ่ง” ยิ่งเมื่อผู้มีอำนาจในรัฐบาลทั้งฝ่ายทหาร และฝ่ายการเมือง หลวมตัวลงไปเล่นไปคลุกคลีด้วย ยิ่งช่วยยิ่งหนุนให้กลุ่มนี้ยิ่งดังทะลุเป็นพลุแตก!!
รวมถึงเรื่องของเศรษฐกิจ ที่เป็น “ปัจจัยสำคัญ” กับความพยามจะไม่อยากให้ “รัฐนาวาประยุทธ์เหาะเหินเกินลงกา” เพราะสัญญาณและทิศทางของเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะชะงักงันต่อเนื่อง ต่อให้มือดีๆ อย่าง “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีจะลงมานั่งบัญชาการคุมเกมในกระดานอย่างเอาจริงเอาจังแค่ไหน แต่ขวากหนามข้างหน้าก็ใช่ว่า จะฝ่าอุปสรรคต่างๆ นานา ไปได้ง่ายๆ ทั้งปัจจัยภายในและภายนอก พร้อมจะรุมเร้า ให้เศรษฐกิจไทยสั่นคลอนได้เสมอ ประเภทที่ละสายตาไม่ได้
ว่ากันด้วยปัจจัยหลักๆ ภายใน กับตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ จีดีพี ที่แขวนรอตัวเลขต่างๆ มาสนับสนุน ทั้งตัวเลขการส่งออก ตัวเลขด้านการท่องเที่ยว ตัวเลขดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่ไตรมาส 4 ของปี 2558 ออกมาไม่น่าประทับใจ จนต้องเร่งผลักดันให้ตัวเลขขยับเป็นข่าวดีมาตั้งแต่ต้นปี 2559 ที่ตั้งเป้ากันเอาไว้คร่าวๆ ที่จีดีพี 4 %
แต่เมื่อมองจากสภาพปัจจัยภายในของประเทศแล้วจีดีพี 4 % ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นได้ เมื่อ 4 ขาหลักที่เป็นองค์ประกอบ ยังดูเหมือนจะเดินกันแบบง่อยเปลี้ย แรงกระตุ้นตามที่ “รองนายกฯ สมคิด” ประกาศไว้ เอาชัดๆ ได้แค่เพียงขาเดียว คือเรื่องของการกระตุ้นการบริโภคภายใน ทั้งการอัดฉีดสินเชื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ ให้เดินหน้าขับเคลื่อนปล่อยเม็ดเงินลงไปในระบบ
และกับ “โครงการประชารัฐ” พระเอกของ “ดร.สมคิด” ที่จะลงไปกระตุ้นฐานการสร้างเงินสร้างงานและสร้างฐานการบริโภคจากชุมชน ฐานราก ซึ่งก็ยังไม่เห็นว่าจะเด่นชัดเจนเป็นรูปธรรมซักเท่าไหร่ และมีการตั้งข้อสังเกตถึงกลไกข้าราชการก็ทำท่าจะ “ เกียร์ว่าง” ทำงานไม่สมราคา ที่รัฐบาลอุตส่าห์ขึ้นเงินเดือนให้
นอกจากนี้แรงขับเคลื่อนจากปัจจัยภายในของภาคการเกษตร ที่เคยเป็น “ฮีโร่” ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยให้รอดพ้นจากเงื้อมมือ “ต้มยำกุ้ง” ในอดีต ก็เผชิญกับความหฤโหด ทั้งราคาผลผลิตที่ตำต่ำ และ ปัญหาภัยธรรมชาติอย่างภัยแล้ง
ส่วนอีกขาของการลงทุนในภาครัฐ เรื่องของ “เมกะโปรเจ็กต์” รถไฟความเร็ว สูง ปานกลาง และความเร็วต่ำ ก็ยังไม่ลงตัวได้ฤกษ์ลงเสาเข็ม แม้จะดันแล้วดันเล่า แต่ทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ
“เม็ดเงิน” ที่จะนำเอาไปลงทุน ว่าจะเอามาจากไหน เมื่อทั้งในและนอกประเทศต่างเผชิญหน้ากับพิษเศรษฐกิจโลกพอๆ กัน กลายเป็นปัจจัยภายในที่ได้รับผลกระทบจากภายนอก
เท่ากับสองขาจีดีพี เดินไปแบบกระเพลกๆ ต้องลุ้นเอาว่าจะลากเศรษฐกิจไปถึงฝันได้หรือเปล่า? !!
สุดท้ายของภาค เศรษฐกิจคงอาจจะหวังยาก กับ ตัวเลขของการท่องเที่ยวและการส่งออก ที่ส่วนใหญ่ปัญหาจะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ที่จนถึงวันนี้ เรื่องของ AEC ยังไม่เดินหน้าไปไหน และมหาอำนาจอย่างอียู และ สหรัฐเองก็จ้องที่จะหาสารพัดมาตรการออกมาเล่นงานภาคส่งออกไทยให้ปั่นป่วนได้เสมอๆ
สารพัดปัญหาสารพัดปัจจัยผลกระทบ เมื่อลากมารวมเข้ากับปัญหาความมั่นคง กับการปักธงของ ISIS ในภูมิภาคอาเซียน ทีเพิ่งเขย่า กรุงจาการ์ตาร์ ของอินโดนีเซียไปหมาดๆ กลายเป็นหวาดผวาของ ประเทศสมาชิก AEC แม้จะยังไม่ชัดเจนว่า จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย แต่ก็เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยจากภายนอก ที่มีผลกระทบไม่ใช่น้อย แต่เมื่อรัฐบาลมั่นใจว่าดูแลได้ ก็ให้ข้ามๆ ปัญหานี้ไปก่อน
แต่ก็ยังนอนใจไม่ได้ เพราะเสียงระเบิดจากราชประสงค์ที่เพิ่งจางหายไป ยังสะเทือนไปในความทรงจำของคนทั้งประเทศ!!
ทั้งหมดนี้ คือสรุปปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อรัฐบาล และ “โรดแม็ป” ของรัฐบาล สถานการณ์ร้อนๆ ที่ลมนาวมิอาจกลบได้ ภาพข้างหน้ายังมี “ความเสี่ยง” ให้ต้องเผชิญกันต่อไป แม้สถานการณ์โดยรวม จะยังอยู่ในภาพ “คอนโทรลได้โดยรัฐบาล” แต่ก็ไม่หวานชื่นรื่นใจซะทีเดียว เอาว่า ทางข้างหน้าปี 2559 นี้ ยังเป็นทางวิบากก็แล้วกัน ไม่เพียงใส่เกียร์เดินหน้าเต็มกำลัง แต่ยังต้องกระชับเกียร์ขับเคลื่อนสี่ล้อกันให้ดีก็แล้วกัน เพราะยิ่งใกล้โรดแม็ปมากเท่าไหร่ อุปสรรคขวากหนามเท่าที่เห็นตรงหน้า มันดูเหมือนจะมีมากกว่าเดิม ….