นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และการค้าแห่งอิหร่าน สองฝ่ายตั้งเป้าหมายมูลค่าการค้าสองทางเป็น 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในอีกห้าปีข้างหน้า
เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันที่ 22-24 มกราคม 2559 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และการค้าแห่งอิหร่าน เพื่อเป็นประธานร่วมในพิธีเปิดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม วิชาการ เกษตรกรรม และวิทยาศาสตร์ไทย – อิหร่าน (Joint Commission – JC) ครั้งที่ 9
โดยในโอกาสเดียวกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายฮัสซัน โรฮานี ประธานาธิบดี และหารือทวิภาคีกับนายโมฮัมหมัด จาหวัด ซารีฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และกับนายโมฮัมหมัด เรซา เนมัทซาเด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมฯ
การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ไทย – อิหร่าน เป็นกลไกการปรึกษาหารือระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือทวิภาคีที่หลากหลายมิติ โดยในการประชุมฯ ครั้งนี้ ได้มีการติดตามความคืบหน้า ของการดำเนินงานตามผลการประชุมฯ ครั้งที่ 8 ซึ่งมีขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 และเพื่อร่วมกันหาทางผลักดันความร่วมมือใน 5 มิติสำคัญตามกรอบการประชุมกลุ่มย่อยของคณะกรรมาธิการร่วมฯ ได้แก่ 1) ด้านอุตสาหกรรม การค้า การเงิน และภาษี 2) ด้านการเกษตร 3) ด้านวิทยาศาสตร์ การท่องเที่ยว และสื่อมวลชน 4) ด้านพลังงาน และเหมืองแร่ และ 5) ด้านการคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน
โดยคณะผู้แทนไทย ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม ตลอดจนบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
การประชุมคณะกรรมาธิการฯ ดำเนินไปในบรรยากาศที่ดีและเป็นมิตร สะท้อนเจตจำนงและความตั้งใจของทั้งสองฝ่ายที่จะส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือระหว่างกันให้มีความเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อาทิ ในประเด็นเรื่องการรื้อฟื้นช่องทางการทำธุรกรรมทางธนาคาร การตั้งเป้าหมายมูลค่าการค้าสองทางเป็น 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในอีกห้าปีข้างหน้า (จากปัจจุบัน ประมาณ 357 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) การส่งเสริมความร่วมมือด้านเกษตรและพลังงาน ตลอดจนเจตจำนงในการเร่งรัดการเจรจาความตกลงที่คั่งค้างระหว่างกัน ในโอกาสแรก เพื่อเป็นกรอบการส่งเสริมความร่วมมือของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ เตรียมการระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะกรรมาธิการร่วมฯ ได้ร่วมกันจัดทำร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ (Agreed Minutes) เพื่อให้ที่ประชุมรัฐมนตรีของคณะกรรมาธิการร่วมฯ ลงนามในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 ในโอกาสการเยือนอิหร่านของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในวันที่
1 – 3 กุมภาพันธ์ 2559
ในการหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดี และกับรัฐมนตรีของฝ่ายอิหร่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำเสนอประเด็นหลักว่า ไทยกับอิหร่านควรร่วมมือเพื่อส่งเสริมเติมเต็มซึ่งกันและกันในประเด็นที่อีกฝ่ายมีศักยภาพมากกว่า กล่าวคือ อิหร่านสามารถช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานของไทย ขณะที่ไทยสามารถช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและวัตถุติบอุตสาหกรรมของอิหร่าน โดยเฉพาะข้าว
และยางพารา นอกจากนี้ ได้แลกเปลี่ยนทัศนะในประเด็นต่าง ๆ เช่น ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า และวัฒนธรรม ตลอดจนประเด็นในภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศ
ซึ่งประเด็นท้าทายสำคัญของการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย – อิหร่านในชั้นต่อไป คือ การแปลงผลการหารือต่างๆ ในครั้งนี้ให้มีความเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงในทุกภาคส่วน