บีบีซีแฉ “ราชสำนักซาอุฯ” บริจาค 681 ล้านเหรียญเพื่อช่วย “นายกฯ มาเลเซีย” ชนะเลือกตั้ง-หวั่นอิสลามิสต์เรืองอำนาจ

นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก แห่งมาเลเซีย

เอเจนซีส์ – สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษเผยแพร่รายงานเอ็กซ์คลูซีฟเกี่ยวกับกรณีเงินสด 681 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถูกโอนเข้าบัญชีส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค แห่งมาเลเซีย โดยแหล่งข่าวใกล้ชิดราชสำนักซาอุดีอาระเบียระบุว่า เงินก้อนนี้เป็น “เงินบริจาค” ที่ราชวงศ์ซาอุฯ มอบให้เพื่อสนับสนุนให้ นาจิบ ชนะเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2013

เมื่อวานนี้ (26 ม.ค.) อัยการสูงสุดมาเลเซียได้ประกาศให้นายกรัฐมนตรี นาจิบ พ้นข้อหาทุจริต โดยยืนยันว่า เงินสดเกือบ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ไปโผล่ในบัญชีส่วนตัวของผู้นำเสือเหลืองนั้น เป็นเงินบริจาคจากราชวงศ์ซาอุฯ

ผู้นำเสือเหลืองเริ่มเผชิญแรงกดดันอย่างหนักตั้งแต่ปีที่แล้ว หลังมีกระแสข่าวว่าเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกดึงออกไปจากกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว วันมาเลเซีย ดีเวลลอปเมนต์ เบอร์ฮัด (1MDB) อย่างเป็นปริศนา ทว่า นาจิบซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการที่ปรึกษากองทุน ยืนยันว่าไม่มีการทุจริตใดๆ เกิดขึ้น

แหล่งข่าวในซาอุฯ เผยกับบีบีซีว่า ริยาดมอบเงินบริจาคหนุนนายกฯ มาเลเซียให้เป็นฝ่ายชนะเลือกตั้ง เนื่องจากเกรงการแผ่อิทธิพลของกลุ่มอิสลามิสต์ ภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood)

เวลานั้น พรรคแพน มาเลเซีย อิสลามิก (PAS) เป็น 1 ใน 3 พรรคฝ่ายค้านซึ่งรวมกันเป็นกลุ่มพันธมิตร “ปากาตัน รักยัต” ซึ่งคณะผู้ก่อตั้งพรรค PAS นั้นเชิดชูค่านิยมของภราดรภาพมุสลิม แม้จะไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าองค์กรอิสลามิสต์กลุ่มนี้มีผู้สนับสนุนจำนวน มากในแดนเสือเหลืองก็ตาม

สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์แห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเสด็จฯ สวรรคตเมื่อเดือน ม.ค. ปี 2015
สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์แห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเสด็จฯ สวรรคตเมื่อเดือน ม.ค. ปี 2015

แม้กลุ่ม บาริซาน เนชันแนล (บีเอ็น) ซึ่งมีพรรคอัมโนของนาจิบ เป็นแกนนำจะชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2013 แต่ก็ทำคะแนนได้ตกต่ำที่สุดในรอบกว่า 50 ปีที่ครองอำนาจ ซ้ำยังแพ้ป๊อปปูลาร์โหวตให้แก่ ปากาตัน รักยัต อีกด้วย แต่สาเหตุที่ ปากาตัน รักยัต ไม่สามารถครองที่นั่งส่วนใหญ่ในสภาได้ก็เนื่องจากกลวิธีแบ่งเขตเลือกตั้งที่ เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มบีเอ็น (gerrymandering)

รายงานระบุว่า รัฐบาลซาอุฯ ได้โอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวของ นาจิบ เป็นงวดๆ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มี.ค. จนถึงต้นเดือน เม.ย. ปี 2013 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 5 พ.ค.

แหล่งข่าวใกล้ชิดซึ่งไม่ขอ เปิดเผยชื่อบอกกับบีบีซีว่า เงินทุนก้อนนี้ถูกเบิกจ่ายโดยได้รับพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระราชาธิบดี อับดุลเลาะห์ (สวรรคตเมื่อต้นปี 2015) โดยดึงมาจากเงินพระคลังข้างที่ และเงินทุนของรัฐบาลซาอุฯ

เจ้าชาย ตุรกี บิน อับดุลเลาะห์ พระราชโอรสองค์หนึ่งของสมเด็จพระราชาธิบดี ทรงมีเครือข่ายธุรกิจอย่างกว้างขวางในมาเลเซีย

แหล่งข่าวคนเดิมบอกว่า วัตถุประสงค์ของเงินบริจาคก็เพื่อรับประกันว่านาจิบและกลุ่มบีเอ็นจะชนะ เลือกตั้ง โดยนำเงินไปว่าจ้างทีมสื่อสารทางยุทธศาสตร์ที่มีประสบการณ์ระดับนานาชาติ เน้นเข้าถึงฐานเสียงในรัฐซาราวัก และอุดหนุนโครงการสวัสดิการสังคมต่างๆ ผ่านการรณรงค์หาเสียงของรัฐบาล

สำหรับคำถามที่ว่า เหตุใดรัฐบาลซาอุฯ ถึงต้องใส่ใจผลการเลือกตั้งในประเทศที่ไม่ใช่อาหรับ และอยู่ห่างไกลออกไปกว่า 6,000 กิโลเมตร? แหล่งข่าวอธิบายว่า สาเหตุสำคัญก็เนื่องมาจากความหวั่นเกรงอิทธิพลของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ซึ่งทางการซาอุฯ ถือว่าเป็น “องค์กรก่อการร้าย”

ผู้นำซาอุฯ เคยผิดหวังกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอียิปต์มาแล้ว เมื่อ โมฮาเหม็ด มอร์ซี ซึ่งเป็นอดีตแกนนำภราดรภาพมุสลิม สามารถก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีได้สำเร็จเมื่อปี 2012

มอร์ซี ถูกกองทัพอียิปต์ก่อรัฐประหารในเดือน ก.ค. ปี 2013 แต่ก่อนหน้านั้นประมาณ 3 เดือน หรือก็คือช่วงก่อนที่การเลือกตั้งในมาเลเซียจะเปิดฉากขึ้น รัฐบาล ซาอุฯ มั่นใจว่าพรรคฝ่ายค้านมาเลเซียได้รับการสนับสนุนจากภราดรภาพมุสลิม และ “กาตาร์” ซึ่งหนุนหลังทั้งภราดรภาพมุสลิมและกลุ่มอิสลามิสต์อื่นๆ ในตะวันออกกลาง

เมื่อบีบีซีตั้งคำถามว่า ราชวงศ์ซาอุฯ ยอมควักเงินบริจาคส่วนตัวจำนวนมหาศาลเช่นนี้ไม่ดูแปลกไปหน่อยหรือ? แหล่งข่าววงในผู้นี้ก็ตอบว่า “ไม่เลย” พร้อมเสริมว่า จอร์แดน โมร็อกโก อียิปต์ และซูดาน ล้วนเคยได้รับเงินบริจาคเป็นหลักร้อยล้านดอลลาร์จากราชสำนักซาอุฯ มาแล้วทั้งสิ้น

“การให้เงินบริจาคแก่มาเลเซียไม่ใช่เรื่องแปลก… นี่คือสิ่งที่รัฐบาลซาอุฯ ทำกับหลายๆ ประเทศอยู่แล้ว”

ทันทีที่ มอร์ซี ถูกโค่น ทางการซาอุฯ ก็หยิบยื่นความช่วยเหลือแก่รัฐบาลทหารของ พล.อ. อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี เป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ทั้งในรูปของเงินให้เปล่าและเงินกู้

รัฐบาลจอร์แดนเคยได้รับเงินทุนเพื่อการพัฒนาจากซาอุฯ กว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ และริยาดยังเคยฝากเงินสดอีกกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์เข้าธนาคารกลางของซูดาน ทั้งยังลงนามข้อตกลงสนับสนุนเงินทุนก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำไนล์ ส่วนโมร็อกโกก็ได้ทั้งน้ำมัน เงินอุดหนุน เม็ดเงินลงทุน และการจ้างงานจากซาอุฯ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังรู้สึกกังขากับการทำธุรกรรมที่เป็นไปอย่างลึกลับซับซ้อน และข้อเท็จจริงที่ว่านายกฯ มาเลเซียได้ “คืนเงิน” กลับไปให้ซาอุฯ เพียงร้อยละ 91 ของทั้งหมดในอีก 4 เดือนให้หลัง ก็ก่อให้เกิดคำถามว่า เงิน 61 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่หายไปนั้น ถูกเอาไปใช้ทำอะไร

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบองค์กรในอังกฤษคนหนึ่งซึ่งเคยผ่านประสบการณ์ใน กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง บอกกับบีบีซีว่า เงินทุน 681 ล้านดอลลาร์ถูกโอนผ่านสาขาในสิงคโปร์ของธนาคารสัญชาติสวิส ซึ่งเจ้าผู้ครองนครอาบูดาบีเป็นเจ้าของ

“เรื่องนี้มีลับลมคมในอย่างมาก… และคงจะไม่มีวันกระจ่างได้ จนกว่ารัฐบาลซาอุฯ และมาเลเซียจะยอมเปิดเผยข้อมูลการทำธุรกรรมทั้งหมด”

 

ขอบคุณ/ที่มา ผู้จัดการออนไลน์