
ในการประชุมเสวนาซึ่งจัดโดย “สมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน” ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความขัดแย้งปาเลสไตน์-อิสราเอล ได้ทำให้เกิดเวทีสำหรับการอภิปรายที่แข็งแกร่งในประเด็นต่างๆ ต่อประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ซับซ้อนนี้
“นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย “ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี” ผู้นำศาสนาที่โดดเด่นของชาวมุสลิมชีอะห์ในประเทศไทย รวมไปถึงผู้นำมุสลิม นักการเมือง นักการศาสนา และนักวิชาการผู้มีเสียงของไทยกว่า 30 คนจากภูมิหลังที่หลากหลายได้ปรากฏตัวในงานนี้
“วิกฤตการณ์ปาเลสไตน์ในปัจจุบัน : สาเหตุ ปัญหา พัฒนาการ ผลกระทบต่อโลกอิสลามและไทย” ชื่องานเสวนาที่จัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ที่โรงแรมอัลมีรอซ กรุงเทพฯ มีชาวไทยที่ให้ความสำคัญกับวาระปัญหาของชาวปาเลสไตน์เกือบ 300 คนเข้าร่วมประชุม ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งรับชมการถ่ายทอดสดที่เผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียล
ประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงบนเวทีเสวนา ได้แก่การแสดงจุดยืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวในการสนับสนุนวาระและเป้าหมายของชาวปาเลสไตน์ ความพยายามช่วยเหลือเชลยชาวไทยที่อยู่ในการควบคุมของฮามาส เตือนให้ระวังอิสราเอลใช้ประเทศไทยเป็นพื้นที่โฆษณาชวนเชื่อ และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยให้ทบทวนนโยบายต่างประเทศและนโยบายส่งแรงงานไปอิสราเอล
ความคิดริเริ่มทางการทูตช่วยตัวประกันไทย
“นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา” ได้ขึ้นเวทีเสวนาของสมาคมฯ ร่วมกับ “ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี” ทั้งสองได้แบ่งปันข้อมูลเชิงลึกให้ผู้เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับการจัดตั้ง “ทีมเจรจาภาคประชาชน” ในความพยายามพูดคุยโดยตรงกับกลุ่มฮามาสให้มีการปล่อยตัวประกันชาวไทย และประสานกับเจ้าหน้าที่อิหร่านเพื่ออำนวยความสะดวก โดยเป็นความพยายามทางการทูตคู่ขนานควบคู่ไปกับการดำเนินการของรัฐบาลไทย
ทั้งนี้ หลังเหตุการณ์ 7 ตุลาคม ที่ฮามาสเปิดปฏิบัติการ “พายุอัล-อักซอ” โจมตีอิสราเอล ขบวนการต่อสู้ปาเลสไตน์ได้ควบคุมเชลยไว้จำนวนหนึ่งโดยมีชาวไทยรวมอยู่ด้วย
ประธานรัฐสภาไทยเริ่มการเสวนาโดยการกล่าวแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อชาวปาเลสไตน์และชี้ว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ “พี่น้องมุสลิมเราไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกนี้ หน้าที่ของเราคือต้องหยิบยื่นความช่วยเหลือโดยทันที เราไม่อาจไปรบในกาซา เราไม่อาจจะไปเห็นความเดือดร้อนของพี่น้องของเราที่นั่น แต่อย่างน้อยต้องมีความเห็นใจ” ประธานรัฐสภาไทยกล่าวและชี้ว่า “มีพวกเราอีกหลายคนที่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจ เรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องเราและไม่ได้สนใจ ซึ่งเท่ากับว่าเราไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะบ่าวที่ดีของพระเจ้า”
ในอีกทาง นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวถึงการตั้งทีมเจรจาภาคประชาชนเพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยที่ควบคุมตัวว่าเป็นอีกหน้าที่หนึ่งของตนในฐานะประธานรัฐสภาไทย
“นอกจากหน้าที่ในฐานะมุสลิมที่เห็นใจและต้องการจะช่วยเหลือพี่น้องเราในปาเลสไตน์แล้ว หน้าอีกประการในฐานะประธานรัฐสภานั้นคือเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ และต้องปฏิบัติหน้าที่ดูแลความทุกข์ยากของพี่น้องไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อคนงานไทยประมาณ 3 หมื่นกว่าคนที่มีปัญหาอยู่ในภาวะสงคราม ได้รับความเดือดร้อน เสียชีวิตไป 39 คน ถูกจับเป็นตัวประกันอีก 30 กว่าคน หน้าที่ของประธานสภาก็ต้องหาทางช่วยเหลือ”
นายวันนอร์กล่าวว่า สถานการณ์ในตอนนี้กับเมื่อตอนต้นเดือนตุลาคมอาจแตกต่างกันพอสมควร ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าคนถูกจับไปกี่คน จะช่วยเหลืออย่างไร รัฐบาลต้องเร่งตรงไหน แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร
“ตอนนั้นคนถูกจับเป็นตัวประกันไม่ค่อยมีใครพูดถึง ผมเชื่อว่าคนไทยที่ถูกจับอยู่ในภาวะเป็นทุกข์มากแน่นอน ไม่รู้ชะตากรรมว่าจะถูกปล่อยตัวเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นผมจึงเห็นใจคนกลุ่มนี้ว่า ถ้าเราสามารถจะช่วยเหลือได้ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับการปลดปล่อย แต่ให้ได้รู้ว่ามีคนกำลังจะยื่นมือช่วยเหลือเขา ให้กินอยู่อย่างปลอดภัย ทันทีนั้นผมจึงคิดถึงซัยยิดสุไลมานที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่าน และเราเชื่อว่าฮามาสกับอิหร่านนั้นก็มีความสัมพันธ์ที่ดี” จึงเป็นที่มีของมองหาความเป็นไปได้ที่จะช่วยเหลือแรงงานไทยผ่านช่องทางประเทศมุสลิมที่มีสายสัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อกลุ่มฮามาส
ด้าน ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี ผู้นำมุสลิมชีอะห์ไทยเน้นย้ำว่า คนไทยจำนวนมากยืนหยัดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับปาเลสไตน์ “มีคนไทยจํานวนมากที่ยืนเคียงข้างปาเลสไตน์” เขากล่าวย้ำบนเวทีเสวนา
ในส่วนการดีลเพื่อช่วยตัวประกันไทยผ่านทางประเทศอิหร่านนั้น ซัยยิดสุไลมานบอกว่า เพราะประเทศที่มีอิทธิพลต่อฮามาสมากที่สุดคืออิหร่าน “เหตุผลที่อิหร่านมีอิทธิพลกับฮามาสมากที่สุดเพราะอิหร่านคือผู้สนับสนุนหลักทุกด้าน กาตาร์อาจจะสนับสนุนทางทุนทรัพย์ แต่อิหร่านคิดว่าทุกด้านเลยทั้งทางด้านทุนทรัพย์ การเงิน อาวุธ ยุทธวิธี” เขากล่าวพร้อมย้ำว่า “เรามั่นใจว่าเรามีข้อมูลมากเพียงพอว่าอิหร่านมีอิทธิพลมากที่สุดต่อต่อฮามาส’
ส่วนซัยยิดมุมิน ศักดิ์กิตติชาห์ หนึ่งในคณะทำงานที่ประธานสภาไทยจัดตั้งขึ้นเพื่อไปคุยกับฮามาส ในการวิเคราะห์ความสำเร็จของภารกิจ เขาระบุว่า คีย์สำคัญ 3 ประการคือรหัสที่มีอิทธิพลต่อผู้แทนฮามาสและนำไปสู่ความสำเร็จของภารกิจนี้ ได้แก่ ความเป็นมุสลิมของทีมเจรจาภาคประชาชนเป็นสิ่งที่ได้รับความสำคัญมากจากฮามาส ความเป็นเอกภาพและการร่วมมือระหว่างซุนนีและชีอะห์มีบทบาทสำคัญในการทำให้ภารกิจเป็นไปอย่างเต็มที่ และความเป็นเอกภาพของมุสลิมที่มีห่วงใยและทุ่มเทในการปลดปล่อยตัวประกันชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ มีผลในการทำให้ภารกิจเป็นไปอย่างสมบูรณ์
เวทีระหว่างประเทศและการกดดันอิสราเอลให้ยอมรับมติยูเอ็น
บทบาทของรัฐสภาไทยในเวทีระหว่างประเทศเป็นจุดสนใจ ประธานรัฐสภาไทยกล่าวถึงการใช้แรงกดดันทางการทูตต่ออิสราเอล โดยเรียกร้องให้ปฏิบัติตามมติของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับปัญหาปาเลสไตน์ เขาเน้นย้ำความสำคัญของการมีส่วนร่วมในระดับโลกเพื่อจัดการกับความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ
“รัฐสภาไทยเป็นเครือข่ายสมาชิกในองค์กรรัฐสภาหลายองค์กร อาทิ รัฐสภาโลก (IPU) ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกันที่สวิตเซอร์แลนด์ในเดือนมีนาคมนี้ โดยคาดว่าประเทศมุสลิมหลายประเทศที่เข้าร่วมจะนำปัญหาปาเลสไตน์ขึ้นมาหารือ ซึ่งตนได้มอบหมายให้ผู้แทนรัฐสภาไทยยืนหยัดตามมติของสหประชาชาติ คือต้องให้ความเป็นธรรมกับชาวปาเลสไตน์ ต้องหยุดยิงและต้องไม่มีการทรมาน เพราะมติของสหประชาชาติมีความชัดเจนในเรื่องของการปกครองในเรื่องมนุษยธรรม แต่ปัจจุบันคือ อิสราเอลกับประเทศมหาอำนาจบางประเทศไม่ปฏิบัติตามมติของสหประชาชาติ ซึ่งรัฐสภาโลกต้องเดินหน้าพูดคุยต่อไป”
นอกจากนี้ ยังมีเวทีของรัฐสภาเอเชีย ซึ่งจะประชุมร่วมกัน ที่อาเซอร์ไบจาน วันที่ 20 – 24 ก.พ.นี้ โดยนายวันนอร์จะเดินทางไปประชุมด้วยตนเอง เพื่อติดตามมติสหประชาชาติและมติของสังคมโลก
“เราสนับสนุนมติของสหประชาชาติและปาเลสไตน์อยู่แล้ว มติของสหประชาชาติซึ่งเป็นมติของชาวโลกสนับสนุนข้อเรียกร้องของชาติปาเลสไตน์ แต่ที่ยังไม่สามารถจะแก้ปัญหานี้ได้ เพราะมีการปฏิเสธจากประเทศอิสราเอลและบางมหาอำนาจไม่ให้ยอมรับ ซึ่งทำให้เป็นปัญหายืดเยื้อ และเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลืออย่างไม่ยอมแพ้” ประธานรัฐสภา กล่าว และเรียกร้องคนไทยที่ยังไม่เข้าใจ ช่วยกันรับฟังติดตามสถานการณ์อย่างเป็นธรรม เพื่อสร้างจิตสำนึกในการช่วยเหลือ
ความท้าทายและคำวิจารณ์รัฐบาลไทย
แม้ว่าการเสวนาครั้งนี้จะเป็นเวทีสำหรับการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ แต่ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ที่มุ่งเป้าไปที่จุดยืนของรัฐบาลไทยด้วย
ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี กล่าวถึงแนวทางทางการทูตของรัฐบาลไทยในช่วงแรกที่เกิดเหตุการณ์ 7 ตุลา ว่าไม่เอื้อต่อในการเจรจากับกลุ่มฮามาสเพื่อให้ปล่อยตัวประกันชาวไทย แต่ด้วยจุดยืนของภาคพลเมืองไทยโดยเฉพาะชาวมุสลิมได้สนับสนุนความพยายามในการเจรจาให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้
คำกล่าวของผู้นำมุสลิมชีอะห์อ้างถึงเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค. หลังฮามาสบุกอิสราเอล ในวันเดียวกันนั้นนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย ที่โพสต์บนโซเชียลมีเดียว่า “ผมขอประณามการโจมตีอิสราเอล ซึ่งเป็นการโจมตีที่ไร้มนุษยธรรมที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อรัฐบาลและประชาชนในอิสราเอล เหตุการณ์นี้ไม่ควรเกิดขึ้น”
ไทยเป็นประเทศที่มุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย ประมาณ 90% ของประชากร 70 ล้านคนในประเทศไทยเป็นชาวพุทธและอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขกับชาวมุสลิม
คำเตือนต่อกิจกรรมโฆษณาชวนเชื่อของอิสราเอลในดินแดนไทย
งานสัมมนานี้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับความพยายามของอิสราเอลในการแสวงหาประโยชน์จากประเทศไทยเพื่อวัตถุประสงค์ในการโฆษณาชวนเชื่อ นักวิชาการผู้เข้าร่วมเสวนาเตือนรัฐบาลไทยไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศโดยไม่รู้ตัว โดยอ้างถึงกรณีที่ดูเหมือนว่าประเทศไทยถูกใช้เป็นฉากหลังสำหรับกิจกรรมโฆษณาชวนเชื่อของอิสราเอล
นักวิชาการยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้เชลยศึกของไทยในการโฆษณาชวนเชื่อของอิสราเอล ทำให้เกิดการเรียกร้องทางการไทยให้มีแนวทางที่เป็นกลางมากขึ้นและทบทวนนโยบายที่มีอยู่อย่างละเอียดถี่ถ้วน
โดยซัยยิดสุไลมานได้ตำหนิทางการไทยในเหตุการณ์วัน 30 พ.ย.2566 ที่ตัวประกันชาวไทย 17 คนซึ่งได้รับการปล่อยตัวเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยโดยสวมใส่เสื้อสกรีนรูปธงชาติไทยคู่กับธงชาติอิสราเอล พร้อมห้อยสร้อยป้ายเหล็กที่สลักคำว่า “Bring them home now” ในภาษาอังกฤษและภาษาฮิบรู มีความหมายเป็นภาษาไทยว่า “พาพวกเขากลับบ้านเดี๋ยวนี้”
สอดคล้องกับ “ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์” อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่เตือนทางการไทยให้ระวังตกเป็นเครื่องมืออิสราเอลโดยไม่รู้ตัว “ประเทศไทยระวังให้ดี จะถูกใช้เป็นเมืองหลวงของอิสราเอลในการสนับสนุนประเทศอิสราเอลในเวทีโลก”
“ผมไม่ได้มองว่าการที่เขาให้คนไทยใส่เสื้อธงชาติอิสราเอลคู่กับธงชาติไทยพร้อมจี้ห้อยคอนั้น จะหวังผลอะไรในประเทศไทย” แต่อิสราเอล “ต้องการภาพเพื่อไปแสดงข้างนอกว่า ในสถานการณ์แบบนี้ประเทศไทยยืนอยู่ข้างเรานะ ประเทศอื่นก็ควรที่จะตามประเทศไทยด้วย”
อาจารย์มาโนชญ์ยังกล่าวถึงความพยายามของอิสราเอลในการใช้พื้นประเทศไทยจัดกิจกรรมโฆษณาชวนเชื่อ โดยเขาอ้างถึงเหตุการณ์วันที่ 12 มกราคม 2567 เมื่อเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ใช้พื้นประเทศไทยจัดกิจกรรมโฆษณาชวนเชื่อรณรงค์ให้ปล่อยตัวประกันที่ยังคงถูกฮามาสจับกุม โดยใช้รถตุ๊กตุ๊กจำนวน 100 คัน ติดภาพใบหน้าของตัวประกัน สัญจรไปตามถนนสายหลักในกรุงเทพฯ พร้อมข้อความเรียกร้องให้ปล่อยตัวทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
“รถตุ๊กตุ๊กเกิดอะไรขึ้นกับตัวประกัน? มีประโยชน์อะไร? แล้วเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย?” อาจารย์มาโนชญ์ตั้งคำถามชวนคิดพร้อมเฉลยว่า “ไม่มี!! แต่ภาพนี้มันออกไปข้างนอกประเทศ เพราะฉะนั้นประเทศไทยจึงระมัดระวังตรงนี้ให้ดี”
ขณะที่ ผศ.ดร.อาทิตย์ ทองอินทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เสริมในประเด็นนี้ว่า “ในส่วนของเสื้อสองธงแล้วก็มีจี้ด้วย นอกจากหวังผลเป้าหมายที่เป็นต่อการเมืองระหว่างประเทศแล้วยังมุ่งที่จะตอบโจทย์การเมืองภายในประเทศของอิสราเอลด้วย”
“ช่วงนั้นรัฐบาลเนทันยาฮูก็เผชิญกับการชุมนุมด้วยสโลแกน Bring them home now จากประชาชนชาวอิสราเอลด้วยกันเองที่เริ่มกดดันมากขึ้นว่าให้ช่วยตัวประกันก่อน เรื่องจะถล่มฮามาสเป็นเรื่องรองเพราะฉะนั้นก็ตอบโจทย์ตรงนั้นด้วย” ผศ.ดร.อาทิตย์ อธิบาย
ไทยต้องทบทวนนโยบายต่างประเทศ
ในขณะที่ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นในความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล เสียงภายในประเทศไทยก็เกิดความกังวลเกี่ยวกับจุดยืนนโยบายต่างประเทศ บนเวทีเสวนานักวิชาการได้เสนอแนะให้ไทยชั่งน้ำหนักในเรื่องนี้ โดยเรียกร้องให้มีแนวทางที่เหมาะสมและประเมินบทบาทของประเทศไทยอีกครั้งในความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่
ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ ตระหนักถึงนโยบายของไทยที่อาจไม่ได้มีความเป็นกลางโดยสิ้นเชิง โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรับรู้เกี่ยวกับประเทศไทยในระดับสากล เขาแนะนำว่าภาพลักษณ์ของความเป็นกลางสามารถเป็นประโยชน์ได้ แต่ความเป็นกลางที่แท้จริงควรสะท้อนให้เห็นในการกระทำ
“ ที่ผ่านมาผมเข้าใจว่าประเทศไทยดําเนินนโยบายแบบนี้ รัฐบาลก่อนหน้านี้เราไม่ได้เป็นกลางหรอก แต่ว่าข้อดีคือมันทําให้คนอื่นมองว่าเราเป็นกลาง ถ้าเราไม่ได้เป็นกลางแต่ทําให้คนอื่นมองว่าเราเป็นกลางอันนี้ดี แต่ถ้าเราบอกว่าเราเป็นกลางแต่คนอื่นไม่ได้มองว่าเราเป็นกลางอันนี้มีปัญหา“
ดร.รุสตั้ม หวันสู อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวบนเวทีเสวนาว่า การเผชิญหน้าระหว่างปาเลสไตน์-อิสราเอลมีรากฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน การทำความเข้าใจความขัดแย้งที่มีหลายแง่มุมนี้จึงต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
“ถ้าหากว่าเรามองเหตุการณ์ครั้งนี้ สงครามครั้งนี้ ว่ามันเริ่มต้นวันที่ 7 ตุลา เท่ากับว่าเราเลือกที่จะดูภาพยนตร์ตอนเดียว โดยไม่ได้สนใจว่าก่อนหน้านั้นเรื่องราวเป็นมายังไง” ดร.รุสตั้ม อธิบายพร้อมบอกว่า “แต่ความน่าเสียใจก็คือว่ามีหลายคนเลือกที่จะทําเช่นนั้น โดยไม่ย้อนกลับไปยังต้นเหตุของปัญหาที่ผ่านมา”
เช็คฮุเซน บินสะเล็ม อุปนายกสมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน ตั้งข้อสังเกตถึงนโยบายต่างประเทศของไทยที่ดูเหมือนจะมีการยึดโยงกับผลประโยชน์ของตะวันตกอย่างมากเกินไปในระหว่างที่หลายประเทศรองรับรัฐเอกราชปาเลสไตน์ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอิสราเอล รวมถึงการแลกเปลี่ยนแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่
เช็คฮุเซน บินสะเล็ม ได้แนะนำว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยและปาเลสไตน์ควรถูกปรับปรุงใหม่ แม้ว่านั่นจะเป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจากความสัมพันธ์ที่สถาปนาขึ้นกับอิสราเอล “บางครั้งรัฐบาลไทยยังคงรู้สึกเย็นชาต่อปาเลสไตน์ ในขณะที่มีการสร้างความสัมพันธ์ที่ละเอียดอ่อนกับอิสราเอล ทั้งการส่งแรงงาน การเดินทางของข้าราชการชั้นสูง และการสร้างความสัมพันธ์ที่ยากที่จะถอนตัวออกได้”
เขาเสนอว่าในความสัมพันธ์ระหว่างไทยและปาเลสไตน์ อย่างน้อยๆ ก็ควรจะมีการปรับปรุงให้มีความสมดุล ส่วนจะทำให้เท่ากันกับอิสราเอลนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ยากมาก
ผศ.ดร.อาทิตย์ ทองอินทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แนะนำว่า นโยบายต่างประเทศของไทยต่อประเด็นฮามาส-อิสราเอล สะท้อนถึงการขาดความกล้าหาญและการให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของตนเอง เขาเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการจัดการกับความไม่รู้และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานการณ์ โดยสนับสนุนให้กลับไปสู่แนวทางที่กล้าหาญมากขึ้นในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ
“เกี่ยวกับท่าทีการต่างประเทศของไทย เดิมทีผมมองว่านโยบายต่างประเทศของไทยต่อประเด็นฮามาส-อิสราเอล และก็อาจจะรวมถึงปาเลสไตน์ในภาพรวมระยะยาวมานี้อาจจะเป็นเพราะเรามีความขี้ขลาด เพราะเห็นแก่ตัว คือเรากลัวเสียผลประโยชน์ แต่ที่ไหนได้เหตุการณ์นี้มันทําให้สะท้อนว่าปัญหาจริงๆ คือความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ แต่ความไม่รู้วิธีการ ไม่รู้พื้นที่ ไม่รู้สถานการณ์ ไม่รู้ว่าจะติดต่อใคร ความไม่รู้นี้ทําให้เราขี้ขลาดแม้กระทั่งจะปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของตัวเอง เราลองนึกภาพว่าตัวประกันคนไทยถูกจับไปจํานวนมาก แต่คนที่พูดในเวทีสหประชาชาติไม่มีไทย เราไม่ปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของตัวเองเลย อันนี้เป็นโจทย์ที่ผมคิดว่าประเทศไทยควรต้องทบทวนตัวเองอย่างหนัก”
ดร.อาทิตย์เสนอให้มีการกำหนดนโยบายต่างประเทศใหม่ที่เรียกว่า “การแทรกแซงเชิงสร้างสรรค์” หรือ Constructive intervention โดยเน้นถึงความสำคัญของมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันผลกระทบด้านลบต่อประเทศไทยจากสิ่งแวดล้อมโดยรอบ
“ในสมัยอดีตเรามีความกล้าหาญ กล้าหาญไม่ใช่บ้าบิ่น ความกล้าหาญที่จะปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติมากกว่านี้ ไทยนําเพื่อนๆในอาเซียน อย่างเช่น กรณีเข้าไปในวิกฤตการณ์เขมร 4 ฝ่ายเรานําอาเซียน แล้วก็ทําให้สถานการณ์คลี่คลายได้ แม้ในวันนั้นจะมีคําถามเกิดขึ้นอย่างมากว่าอย่าทําแบบนี้เลย แต่เราก็ทํา ท่าทีแบบนี้มันหายไปไหน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาในช่วงตั้งแต่ 7 ตุลา ผมประดิษฐ์คําใหม่ว่าประเทศไทยควรจะกําหนดนโยบายต่างประเทศใหม่ที่เรียกว่า “การแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์” Constructive intervention น่าจะต้องเป็นนโยบายใหม่ เพราะว่าถ้าเราไม่เข้าไปแทรกแซงสภาพแวดล้อมก็จะส่งผลกระทบต่อเราโดยที่เราอยู่ในสถานะตั้งรับตลอดเวลา” ดร.อาทิตย์กล่าว
เรียกร้องให้มีความเป็นกลางและทบทวนนโยบายส่งแรงงานไทยไปอิสราเอล
ในเวทีเสวนา ดร.รุสตั้ม หวันสู อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เน้นย้ำถึงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของแรงงานไทยที่ถูกส่งไปอิสราเอลภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอลในการจัดหาแรงงาน (TIC)
“ครั้งนี้จะเห็นว่าแรงงานคนไทยเป็นตัวประกันที่ถูกจับกุมตัวมากที่สุดในบรรดาต่างตัวประกันต่างชาติทั้งหมด ซึ่งไม่ได้หมายความว่าฮามาสจะมุ่งจับตัวประกันคนไทย เพียงแต่ว่าในบรรดาตัวประกันที่กวาดต้อนมาได้นั้นดันมีคนไทยมากที่สุด แสดงว่ามีคนไทยมากที่สุดในบริเวณนั้น คําถามคือทําไม?”
“ประเทศอิสราเอลต้องการแรงงานในภาคการเกษตร แรงงานไร้ฝีมือหรือว่าแรงงานในภาคบริการซึ่งเป็นงานที่คนอิสราเอลไม่ทํา ก็ได้มาตกลงกับทางรัฐบาลไทยว่าให้ส่งแรงงานไปปีละ 5,000 คน ตั้งแต่ปี 2012 จนกระทั่งถึงวันที่ 7 ตุลา ตัวเลขในวันนั้นมีแรงงานไทยอยู่ในอิสราเอล 25,962 คน ส่วนใหญ่แล้วทํางานภาคการเกษตร 21,992 คน โดยกระจัดกระจายอยู่ในภาคต่างๆ ของอิสราเอล”
นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า พื้นที่ซึ่งคนไทยไปทำงานเยอะที่สุดนั้นก็คือในเขตตอนใต้ของอิสราเอล โดยอิสราเอลนั้นแบ่งออกเป็น 6 เขต ในตอนใต้ของอิสราเอลนั้นมีแรงงานไทยมี 12,665 คน เขตภาคกลาง 5849 คน เขตภาคเหนือ 3865 คน เมืองไฮฟา 1,397 คน เมืองเทลอาวีฟ 7,110 คน เขตเวสแบงก์ 395 คน เยรูซาเล็ม 395 คน
อาจารย์รุสตั้มชี้ให้เห็นว่า แรงงานไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เช่นภาคใต้ติดกับฉนวนกาซา เวสต์แบงก์ ในทางเหนือที่ติดกับเลบานอนกำลังเผชิญกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
“ในเมื่อมันเป็นสัญญาระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลไทยจําเป็นจะต้องละเอียดรอบคอบในเรื่องของการส่งแรงงานเข้าไป แรงงานไทยไปทํางานที่ไหนก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลไทย รัฐบาลไทยจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้”
“พื้นที่เสี่ยงอันตราย มีที่ไหนบ้าง ภาคใต้ซึ่งติดกับกาซ่า ซึ่งเป็นเขตที่คนไทย12,000 คนอยู่ด้วย นั่นคือพื้นที่ที่หนึ่ง พื้นที่ที่สองที่เสี่ยงต่ออันตรายก็คือในทางเหนือที่ติดกับเลบานอนก็มีอยู่ไม่น้อยนะ แล้วก็พื้นที่ที่3 ในเวสต์แบงค์มีอยู่ 395 คนหมายความว่าอย่างไร
นักวิชาการเน้นย้ำว่า ไม่ควรมีแรงงานไทยในเวสต์แบงก์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าถูกอิสราเอลยึดครองอย่างผิดกฎหมาย
“เพราะเวสท์แบงก์นั้นเป็นของปาเลสไตน์ซึ่งถูกครอบครองอย่างผิดกฎหมายระหว่างประเทศ” ดังนั้น “การที่รัฐบาลไทยยังคงให้แรงงานไทยทํางานในเวสต์แบงก์ เท่ากับรัฐบาลไทยกําลังสนับสนุนการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศของอิสราเอล”
ดร. รุสตั้ม ไม่ได้สนับสนุนการถอนคนงานไทยออกจากอิสราเอล แต่เรียกร้องให้มีการทบทวนและแก้ไขนโยบาย เขาเน้นย้ำว่ารัฐบาลไทยมีสิทธิที่จะกำหนดว่าแรงงานไทยไม่ควรอาศัยอยู่ในพื้นที่ใดภายใต้เงื่อนไขระหว่างประเทศ
“ผมไม่ได้หมายความว่าจะให้ถอนแรงงานกลับ พี่น้องแรงงานได้มีงานทําเป็นสิ่งที่ดี แต่พื้นที่ไหนที่แรงงานไทยไม่ควรจะอยู่ มันเป็นหน้าที่รับผิดชอบของรัฐบาลไทยในการที่จะรักษาชีวิตคนไทย รัฐบาลไทยมีสิทธิ์อย่างเต็มที่เลยที่จะบอกว่าในเงื่อนไขระหว่างประเทศเขตไหนที่คนไทยจะไม่ควรอยู่”
อีกทางหนึ่ง ในการประชุมครั้งนี้ ผศ.ดร.อาทิตย์ ทองอินทร์ ได้เสนอให้รัฐบาลยกเลิกความสัมพันธ์ด้านแรงงานกับประเทศอิสราเอล และพิจารณาเป็นการคว่ำบาตรทางแรงงาน
“ผมเสนอว่าให้ยกเลิกความสัมพันธ์ด้านกรอบข้อตกลงด้านแรงงานไปก่อน ถือว่าเป็นการคว่ำบาตรทางแรงงาน เพราะในช่วงที่คนไทยถูกจับเป็นตัวประกัน แต่สิ่งที่อิสราเอลสื่อสารออกมาคือปราบฮามาสก่อนช่วยตัวประกันทีหลัง”
อีกทั้งการสื่อสารของทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ก็เน้นไปที่เรื่องการจัดการกับฮามาสก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาสนใจเรื่องผลประโยชน์ของเราน้อยกว่าผลประโยชน์ของเขา อาจารย์อาทิตย์ระบุ
“เพราะฉะนั้นแปลว่าเขาสนใจเรื่องผลประโยชน์ของเราน้อยกว่าผลประโยชน์ของเขา แล้วเพราะเหตุใดเราถึงต้องสนใจผลประโยชน์ของเขามากกว่าผลประโยชน์ของเรา”
อาจารย์อาทิตย์ ทองอินทร์ ได้เสนอแนวทางว่าไทยควรมีทางเลือกในการแสวงโอกาสทางเศรษฐกิจ “อันนี้ไม่ใช่เรื่องผิดแต่เป็นเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติ เพราะมันยังมีอีกหลายพื้นที่ที่เราควรที่จะแสวงโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับแรงงานของเราได้ เช่นไปปลดล็อกเรื่องผีน้อยที่เกาหลีใต้เป็นต้น”
อ.อาทิตย์กล่าวเสนแนะว่า ถ้าหากแรงงานหรือคนไทยตัดสินใจจะไปทํางานที่อิสราเอลซึ่งมีการเตือนแล้วว่าอันตราย ก็ขอให้ถือว่าเป็นการออกไปโดยที่ไม่ได้ผ่านกรอบความตกลงของรัฐกับรัฐ
ด้าน อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา กล่าวถึงการพูดคุยกับตัวแทนฮามาส ประจำอิหร่าน ที่บอกเตือนมาว่า “ให้ช่วยบอกรัฐบาลไทยว่าคนงานไทยที่จะไปทํางานที่อิสราเอล อย่าไปในพื้นที่ที่มีปัญหา คือพื้นที่ที่อิสราเอลยึดจากชาวปาเลสไตน์ ไล่เขาไปตาย แล้วก็ยึดมาทำเกษตร แล้วเอาคนไทยมาเฝ้า ดินแดนที่ปล้นเขามาแล้วเอาคนไทยไปเฝ้า ถ้าพูดง่ายๆ ตามกฎหมาย คนไปเฝ้านั้นก็คือรับของโจร”
“เพราะฉะนั้นที่เขาจับคนไทยเป็นตัวประกันจึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคุณไปเฝ้าพื้นที่ซึ่งอิสราเอลยึดของเขามา”
เหนือการจับกุมตัวประกันไทย 23 คน ยังมีชะตากรรมที่ถูกละเลยของชาวปาเลสไตน์
ด้าน ดร.เลอพงษ์ ซาร์ยีด นายกสมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน ได้กล่าวถึงผลพวงหลังวันที่ 7 ตุลาคม ที่มีผลกระทบรุนแรงในพื้นที่ โดยเฉพาะการเสียชีวิตของประชาชนปาเลสไตน์ เขาได้โต้แย้งความสนใจของสังคมไทยที่มุ่งเน้นไปที่แรงงานไทยผู้ถูกจับกุม 23 ราย และผู้เสียชีวิต 39 รายเป็นหลัก ว่าได้บดบังวิกฤตที่ใหญ่กว่า นั่นก็คือความทุกข์ทรมานอันแสนสาหัสที่ชาวปาเลสไตน์ต้องเผชิญ และเน้นย้ำถึงการเปิดมุมมองที่กว้างขึ้น
“นับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมตั้งแต่ปฏิบัติการพายุอัลอักซอได้เกิดขึ้น ประเทศไทยเราโฟกัสเพียงแค่ 23 คนไทยที่เป็นตัวประกันกับ 39 คนที่เสียชีวิต แต่สังคมไทยเราโดยเฉพาะสื่อมวลชนและรัฐบาล หรือใครก็ตาม ไม่เคยพูดถึง 27,000 คนที่เสียชีวิต”
นายกสมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน เรียกร้องให้สังคมไทยพิจารณาภาพรวมของสถานการณ์ เขากล่าวถึงผลกระทบร้ายแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานของชาวปาเลสไตน์ โดยเน้นย้ำถึงการทำลายโรงพยาบาล โรงเรียน และศาสนาสถาน การห้ามรถพยาบาล เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และเวชภัณฑ์ต่างๆ
ดร.เลอพงษ์ เป็นหนึ่งคณะผู้เจรจาสามคนจากประเทศไทยที่ได้ไปประชุมพิเศษกับ “ดร.คาเลด กุดดูมี” ของกลุ่มฮามาส ในกรุงเตหะรานกว่า 2 ชั่วโมง เพื่อช่วยเหลือพลเมืองของตนที่ถูกกลุ่มนักรบปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาจับเป็นตัวประกัน
เขากล่าวถึงประชาชนชาวปาเลสไตน์จำนวนมากถึง 2 ล้านคนที่ถูกอิสราเอลปิดล้อมว่าไม่ต่างจากการถูกคุมขัง โดยเน้นว่าคนไทยควรให้ความสนใจและทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ที่พวกเขาเผชิญหน้า “ผมถามว่านอกเหนือจาก23 คนที่ถูกจับกุมไป เรารู้หรือเปล่าว่าประชาชนชาวปาเลสไตน์สองล้านคนก็ถูกจับกุมไปเป็นเวลาถึง 75 ปีแล้ว พวกเขาไม่สามารถจะเข้าถึงสิ่งที่พวกเขาควรจะได้ในฐานะความเป็นมนุษย์ พวกเขาถูกปิดล้อมด้วยกําแพงสูง อันนี้คือสิ่งที่สังคมไทยควรจะรู้”

ดร.เลอพงษ์ยังนำเสนอในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ตระหนักกับสถานการณ์ของประชาชนในปาเลสไตน์อย่างแท้จริง ซึ่งสังคมไทยควรทำความเข้าใจกรณีความเดือดร้อนในพื้นที่อื่น ๆ ของโลกที่ไม่ได้รับความสนใจมาก่อนหน้านี้
“ เราเพิ่งจะมารู้จักปาเลสไตน์ ฮามาส ฮิซบุลเลาะห์ ฮูซี เมื่อคนไทยของเราถูกจับกุมและเสียชีวิต แต่เคยทราบไหมว่าชาวปาเลสไตน์ก็ถูกจับกุมและเสียชีวิต ถูกบดขยี้ ถูกมองเหมือนไม่ใช่มนุษย์ เป็นความเชื่อของชาวยิวที่ถือว่าชนชาติใดก็ตามถ้าไม่ใช่ยิว ถือว่าคุณไม่ใช่มนุษย์ หรือเป็นเดรัจฉาน หรือเป็นชนชาติชั้นที่สอง ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตไปแล้ว 27,000 กว่าคน เกือบสองล้านคนตอนนี้เป็นผู้พลัดถิ่น บ้านเรือนของพวกเขาถูกยึดครอง”
ดร.เลอพงษ์ ยังเจาะลึกบริบททางประวัติศาสตร์ของดินแดนพิพาท เช่น คิปบุช ทางตอนใต้ของอิสราเอล ซึ่งมีพรมแดนติดกับฉนวนกาซา มติของสหประชาชาติยืนยันการเป็นเจ้าของที่ดินของชาวปาเลสไตน์ อย่างไรก็ตาม การละเมิดมติของอิสราเอลนำไปสู่การยึดครองที่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อชาวปาเลสไตน์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนไทยที่ถูกบังคับให้ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลทรัพย์สินที่ถูกยึดด้วย
“สองสถานที่ที่เป็นนิคมอุตสาหรรมภาคเกษตรของชาวยิว ภาคเกษตรหนึ่งเป็นของรัฐอีกภาคเกษตรหนึ่งเป็นของเอกชนรัฐวิสาหกิจ จะเรียกว่าโมซาฟกับคิบบุช นี่คือพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอลที่อยู่ติดฉนวนกาซาและเป็นแผ่นดินที่มีข้อพิพาทมาตั้งแต่อดีต และมติของสหประชาชาติหลังจากจบสงคราม 6 วัน ปี 1967 บอกว่าแผ่นดินนั้นเป็นของชาวปาเลสไตน์ แต่อิสราเอลละเมิดมติของสหประชาชาติและไปอยู่ตรงนั้นยึดครองตรงนั้นและเอาคนไทยไปเป็นบังเกอร์ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ทหารรับจ้างหรือใช่ แต่คุณไปเป็นบังเกอร์ตรงนั้น ไปเป็นผู้ดูแลบ้านที่เขายึดหรือขโมยปล้นสะดมมา ดังนั้นคนไทยจะต้องรู้เลยว่านอกเหนือจาก 23 คนที่ถูกจับกุมคุณจะต้องระลึกถึงพี่น้องปาเลสไตน์ในฐานะว่าคุณเป็นมนุษย์เหมือนกัน”
เมื่อกล่าวถึงบทบาทของรัฐบาลไทย ดร.เลอพงษ์ตั้งคำถามถึงความสามารถของพวกเขาในการรับมือกับวิกฤติการณ์ในโลกอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อขาดความเข้าใจและทัศนคติที่อาจมีอคติ เขาเน้นย้ำว่าแนวทางของรัฐบาลควรมีความเหมาะสมและรอบรู้มากขึ้น “ถ้าคุณยังมีมุมมองที่มืดต่อประเทศมุสลิมโดยเฉพาะปาเลสไตน์ คุณไม่สามารถที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาระหว่างไทยกับชาติอาหรับได้ ระหว่างไทยกับโลกอิสลามได้ ตรงนี้ที่จะเป็นปัญหา”
ดร.เลอพงษ์ได้แบ่งปันข้อมูลเชิงลึกที่สะท้อนมาจากฝ่ายฮามาส เขาเน้นย้ำถึงความสำคัญของแรงงานไทยที่ต้องตระหนักถึงพื้นที่พิพาทและความรับผิดชอบของรัฐบาลในการดูแลความปลอดภัย
“ตอนที่เราไปเจรจา เขา-ผู้แทนฮามาส-พูดกับเราว่า ผมไม่ได้มีปัญหากับแรงงานไทยแม้แต่คนเดียว คุณกลับไปบอกรัฐบาลของคุณว่าพื้นที่ตรงไหนก็ได้ในอิสราเอลที่ไม่ใช่เป็นพื้นที่พิพาทระหว่างเราและเขา คุณส่งคนงานไปทํางานเลย แต่พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ของเราที่ถูกยึดครองโดยอิสราเอล ตรงนั้นไม่มีความปลอดภัย”
“คุณไปบอกรัฐบาลคุณส่งคนงานไทยไปอยู่ที่ไฮฟา ไปอยู่ที่เยรูซาเล็ม ไปอยู่ที่เทลอาวีฟ ไปอยู่ตรงไหนก็ได้เราจะไม่ยุ่งเกี่ยว แต่ตรงนั้นมันเป็นพื้นที่ของเรา หลังจากที่เขายึดครองมาหมดแล้ว ตรงนี้ยูเอ็นก็บอกว่าเป็นของเรา แต่เขาละเมิด ดังนั้นตรงนี้เราถือว่าเขามาขโมยพื้นที่ของเรา เราจะต้องต่อสู้และยึดพื้นที่คืน”
“เขาไม่ได้บอกว่ามีปัญหากับคนไทยแรงงานไทย แต่ถ้าคุณมาอยู่ตรงนี้ คุณเป็นทหารของอิสราเอลเพื่อจะมาพิทักษ์พื้นที่ เพียงแค่ว่าวันนี้คุณไม่ได้จับปืนแต่คุณจับจอบ ดังนั้นการจับจอบคุณก็ถือว่าเป็นการละเมิดแผ่นดินของเราตรงนั้น นี่คือสิ่งนี้ที่เขาฝากมาถึงรัฐบาลไทยและพี่น้องประชาชนคนไทยให้รับทราบ”
ดร.เลอพงษ์เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนมุมมองของสังคมไทย โดยส่งเสริมให้มีแนวทางที่รอบรู้และมีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้นต่อประเด็นปัญหาระดับโลก เขาเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการทำความเข้าใจให้กว้างขึ้นนอกเหนือจากการบริโภคสื่อฝ่ายเดียว และกระตุ้นให้สังคมไทยเอาชนะอคติและรับรู้ถึงการต่อสู้ดิ้นรนที่ชาวปาเลสไตน์ต้องเผชิญในฐานะเพื่อนมนุษย์ ส่งเสริมมุมมองที่กว้างขึ้นและการเอาใจใส่ต่อชะตากรรมของพวกเขา
“คนไทยที่ไม่ได้รู้เรื่องก็จะมองว่าฮามาสเป็นผู้ก่อการร้าย ทําไมต้องฆ่าคนไทย ทําไมต้องจับตัวประกันคนไทย แต่ไม่เคยถามว่าทําไมอิสราเอลไปฆ่าเด็ก ทําไมอิสราเอลไปรังแกผู้หญิง ทําไมวันนี้ประเทศแอฟริกาใต้ไปยื่นศาลโลกให้พิจารณาคดี เบนจามิน เนทันยาฮู ในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทําไมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสังคมของสเปนถึงออกมาประณามิสราเอล ทําไมหลายประเทศในลาตินอเมริกาประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล ทําไมหลายประเทศตัดสัมพันธ์ทางด้านธุรกิจกับอิสราเอล”
“คนไทยจะต้องเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น อย่าอยู่ในลักษณะที่เราเสพสื่อด้านเดียว หรือเราไม่เคยสนใจอะไรเลยเกี่ยวกับโลกตะวันออกกลางโลกอิสลาม เมื่อคุณไม่เคยเสพข่าวแล้วคุณไม่เคยทราบความชั่วช้าของไซออนนิสต์ คุณก็จะมองว่ามุสลิมว่าเป็นผู้ก่อการร้ายตลอด”
การประชุมสัมมนาจบลงด้วยการกระตุ้นให้เกิดการสนทนาและความเข้าใจต่อไป ผู้เข้าร่วมเน้นย้ำถึงความสำคัญของความพยายามอย่างต่อเนื่องในการสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมความเห็นอกเห็นใจเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ในสังคมไทย